พิษณุโลก ใช้แผน บางระกำโมเดล เริ่มรับน้ำเข้าทุ่ง รองรับมวลน้ำตอนบนจาก สุโขทัย

27 ส.ค. 67

บางระกำโมเดล พรหมพิราม เริ่มรับน้ำเข้าทุ่ง รองรับน้ำตอนบนจาก จ.สุโขทัย เตรียมแผน 10 มาตรการ บริหารน้ำในแม่น้ำยม

โครงการชลประทานพิษณุโลก สำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน รายงานภาพถ่ายมุมสูง ทุ่งหนองมน ซึ่งเป็นหนึ่งในทุ่งหน่วงน้ำในโครงการบางระกำโมเดล ในเขต ต.พรหมพิราม อ.พรหมพิราม อยู่เหนือ ปตร.บ้านใหม่โพธิ์ทอง พื้นที่ที่ผันน้ำเข้าทุ่ง เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 100% พร้อมรับน้ำเข้าพื้นที่ลดผลกระทบ ระดับน้ำในคลองเมมที่จะเอ่อล้นตลิ่งได้อีกทางหนึ่ง

“โครงการบางระกำโมเดล” เป็นโครงการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงน้ำ พื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ในเขต อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย โดยเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีก่อนฤดูกาลปกติ เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน และเก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลาก ไม่เกิน 15 สิงหาคม ของทุกปี หลังจากนั้น จะงดทำการเพาะปลูกเพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำ เป็นทุ่งหน่วงน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลดผลกระทบอุทกภัย สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 15 ส.ค-30 พ.ย. และเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่ ตั้งแต่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป

457108242_938803584950867_601

นอกจากนี้ จังหวัดพิษณุโลก มีการบูรณาการร่วมกันในระดับจังหวัด ทั้งหน่วยงานปกครองระดับจังหวัด หน่วยงานชลประทาน (สำนักงานชลประทานที่ 3, โครงการชลประทานพิษณุโลก, โครงการส่งน้ำฯ ยมน่าน, โครงการส่งน้ำพลายชุมพล และ โครงการส่งน้ำนเรศวร), หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้นำท้องถิ่น และ ภาคประชาชน

ทั้งนี้ มีการเตรียมการ ตาม 10 มาตรการเตรียมรับมือฤดูฝน 2567 ของ สทนช. และบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมสายหลัก และ แม่น้ำยมสายเก่า ซึ่งปริมาณน้ำเริ่มยกระดับสูง แต่ยังคงมีสถานการณ์ไม่วิกฤตรุนแรง (ณ วันที่ 26 ส.ค.67) โดยดำเนินการเตรียมการที่ผ่านมา ดังนี้

1. ปริมาณน้ำแม่น้ำยม ทั้งสายหลักและสายเก่า เพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนตกชุกพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำยม จ.พะเยา จ.แพร่ จ.สุโขทัย เริ่มเข้ามาในเขต จ.พิษณุโลก เมื่อประมาณวันที่ 20 ส.ค. และจากคันแม่น้ำยมสายหลักและยมสายเก่าขาด ทำให้น้ำออกนอกลำน้ำ ไหลบ่าเข้าทุ่ง ในเขต อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมือง จ.สุโขทัย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะมาตามลำน้ำยมลดลง คาดว่าปริมาณน้ำสูงสุด จะเข้าสู่พื้นที่ อ.พรหมพิราม และ อ.เมือง อ.บางระกำ ตามลำดับ ตั้งแต่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าคันคลองแม่น้ำยมสายเก่า ช่วงคลองเมม อ.พรหมพิราม ประมาณ 40 ซม. จะเข้าสู่ภาวะวิกฤต

2. ดำเนินการพร่องน้ำแม่น้ำยมสายหลัก ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากล่วงหน้า โดยมีการพร่องน้ำในแม่น้ำยมสายหลัก ตั้งแต่ กลางเดือน ก.ค.67 โดยมีมติของกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกัน ในการลดระดับน้ำ โดยเพิ่มการระบายน้ำสูงสุด ทุกอาคาร ของ ปตร.ในแม่น้ำยมสายหลัก (ปตร.วังสะตือ, ปตร.ท่านางงาม, ปตร.ท่าแห อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก)

457105050_938803658284193_850

3. ดำเนินการพร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า ตั้งแต่ กลางเดือน ก.ค.67 โดยมีมติของกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกัน โดยลดระดับน้ำเหลือปริมาณน้ำ เพียง 40% และเพิ่มการระบายน้ำสูงสุดของทุกอาคาร ปตร.ในแม่น้ำยมสายเก่า และ คลองเมม คลองบางแก้ว ในเขต จ.พิษณุโลก (ปตร.ย่างแรต, ปตร.บ้านไหม่โพธิ์ทอง, ปตร.วังขี้เหล็ก, ปตร.บางแก้ว)

4. เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายหลัก ลงแม่น้ำน่าน ออกทางคลอง DR-2.8 (ปัจจุบันระบายได้ดี ด้วยระดับแม่น้ำน่านต่ำ และ ลดการระบายเขื่อนสิริกิติ์)

5. เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่า ลงแม่น้ำน่าน ออกทางคลอง DR-15.8 (ปัจจุบันระบายได้ดี และเพิ่มศักยภาพ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำ)

6. เร่งระบายน้ำแม่น้ำยมสายเก่า ออกทาง ปตร.บางแก้ว ลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก และเพิ่มศักยภาพ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำ)

456839701_938803624950863_201

7. ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ ในโครงการบางระกำโมเดล เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน พื้นที่ลุ่มต่ำโครงการ 265,000 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 100% สามารถรองรับน้ำหลากได้สูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบัน ได้นำน้ำเข้าทุ่งบางระกำบางส่วน ในช่วงต้น ในเขตพื้นที่ อ.พรหมพิราม เพื่อลดผลกระทบน้ำในคลองเมมเอ่อล้นตลิ่ง และรองรับน้ำจากแม่น้ำยมตอนบน รวมถึงหน่วงน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่าง ตั้งแต่ จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ ลงไป

8. เสริมคันป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ยังไม่เก็บเกี่ยวข้าวฤดูนาปี ในพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ พลายชุมพล ซึ่งเป็นพื้นที่นอกโครงการบางระกำโมเดล เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน

9. แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำ ให้ติดตามสถานการณ์ พร้อมเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง

10. ขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ในฤดูน้ำหลาก และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลากทำให้ผลผลิตเสียหาย

456717833_938803598284199_680

advertisement

ข่าวยอดนิยม