จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันจีนได้รับมือปัญหาน้ำท่วมภายในประเทศ ด้วยการนำแนวคิด “เมืองฟองน้ำ” (Sponge City) เข้ามาจัดการปัญหา ช่วยให้คนและน้ำอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าสนใจ
“น้ำท่วม” กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศในโลกต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ประเทศนั้นๆ จะมีระบบการจัดการน้ำที่ดีหรือเป็นระบบมากแค่ไหน แต่เมื่อภัยธรรมชาติมาหนักเกินจะรับมือ อีกทั้งปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ที่โลกของเรากำลังวิกฤตและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น
จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เจอวิกฤตน้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2474 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมตลิ่งแม่น้ำสามสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำหวยเหอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนประมาณการตั้งแต่ 145,000 - 4 ล้านคน จนถูกบันทึกว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของจีนและในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และอีกหลายครั้งตามมาจนนับไม่ถ้วน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาน้ำในฤดูฝน ที่เกิดจากฝนตกอย่างหนักจนไม่สามารถจัดการน้ำได้ทันท่วงที
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 จีนได้คลอดโครงการ “Sponge City Initiative” ปรับปรุงพื้นที่เมืองให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำเพื่อรองรับน้ำและน้ำท่วมได้ โดยมี “หยู กงเจี้ยน” (Yu Kongjian) ภูมิสถาปนิกชาวจีนและศาสตราจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้คิดค้นและออกแบบแนวคิดนี้ ด้วยการสร้างถนน อาคาร ทางเท้า หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ให้กลายเป็นฟองน้ำที่ดูดซับ ระบาย กักเก็บ จัดการ และควบคุมวัฏจักรของน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ หรืออีกมุมหนึ่งคือการพากลไกธรรมชาติกลับเข้ามาในเมืองใหญ่มากขึ้น จากนั้นก็สร้างท่อและบ่อพักน้ำใต้ดินเพื่อการระบายน้ำส่วนเกินไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ซึ่งเป็นการเลียนแบบวัฏจักรทางอุทกวิทยาตามธรรมชาติช่วยให้เมืองสามารถแก้ไขปัญหาน้ำขัง เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและปล่อยน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ในยามที่ฝนตกหนักได้มากที่สุด โดยมีเทคนิคพื้นฐาน 6 ประการ ได้แก่ การซึมลงดิน (Infiltration), การกักน้ำ (Retention), การเก็บน้ำ (Storage), การบำบัดน้ำ (Purification), การใช้ประโยชน์น้ำ (Utilization) และ การระบายน้ำ (Drainage)
ยกตัวอย่างให้มองเห็นภาพง่ายๆ ของเทคนิคการทำเมืองฟองน้ำ อย่างการซึมลงดิน (Infiltration) เช่น การทำถนนจากวัสดุที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ง่าย นอกจากลดปัญหาน้ำขังหรือน้ำท่วมบนถนนได้แล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิของผิวถนนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้น้ำยังจะสามารถกลับเข้าไปในระบบสวนสาธารณะ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีก รวมถึงการกักน้ำ (Retention) สามารถทำได้ด้วยการสร้างสวนสาธารณะ ปลูกพืชพรรณท้องถิ่นหรือต้นไม้ไว้คอยช่วยในการซับน้ำเมื่อฝนตกลงมา ตัวอย่างสวนสาธารณะที่ทำเมืองฟองน้ำเช่นที่ Zhongshan Shipyard park เป็นต้น
ซึ่งทั้ง 6 เทคนิคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยจัดการกับปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมาในปริมาณมาก แต่ยังช่วยให้นำน้ำเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ ไปพร้อมกับการช่วยบรรเทาวิกฤตผลกระทบจากภัยแล้งได้อีกด้วย โดยจีนปฏิบัติการปรับเมืองต้นแบบ 30 เมือง ให้เป็นเมืองฟองน้ำและเน้นหลักในเมืองเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เซี่ยงไฮ้ อู๋ฮั่น ฉงชิ่ง ช่วยให้จีนเริ่มรับมือและจัดการกับปัญหาน้ำล้นเมืองได้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังสามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในยามที่เกิดน้ำท่วม ไปพร้อมกับการส่งเสริมและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ โดยตั้งเป้าสามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมให้ได้มากถึง 80% ภายในปี พ.ศ. 2573 และหวังว่า 70% ของน้ำฝนจะถูกนำกลับไปใช้ได้ โดยเมืองต่างๆ จะมีการออกโครงการปรับปรุงพัฒนาเมืองเพื่อให้เมืองกลายเป็นเมืองฟองน้ำ ภายใต้การบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงการเคหะและการพัฒนาชนบท-เมือง กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรน้ำ
แม้จะยังปรากฎข่าวน้ำท่วมจีนจากฝนที่ตกหนักมากขึ้นทุกปี หลังการเกิดขึ้นมาของ Sponge City แต่ก็พอจะกล่าวได้ว่าแนวคิดเมืองฟองน้ำนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำของจีนได้ค่อนข้างครอบคลุมและเห็นผลในระดับหนึ่ง เพราะหากสังเกตข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมจีนในระยะหลังมานี้ มักจะไม่ได้ยินชื่อเมืองใหญ่ของจีนที่ได้ปรับเปลี่ยนเมืองเป็นเมืองฟองน้ำมีปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักอีกเลย หรือถ้ามีก็ไม่ได้รุนแรงจนเกิดความสูญเสียอย่างหนักเหมือนที่ผ่านมา
แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนถึงวิธีการรับมือและการแก้ปัญหากับอุทกภัยที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร สิ่งที่เห็นชัดคือจีนเลือกที่จะรับมือด้วยการทำให้คนและน้ำอยู่ร่วมกันได้ แม้จะไม่สามารถควบคุมและจัดการปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเด็ดขาดก็ตาม
ผลจากเมืองฟองน้ำของจีน สะท้อนถึงไทย
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา “นายโสภณ แท่งเพ็ชร์” รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยประชุมหารือข้อเสนอโครงการ “การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อความยืดหยุ่นของเมือง” ด้วยการสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รัฐบาลออสเตรเลีย และองค์กรพันธมิตร ภายใต้แผนงาน TA 10079-THA: Strengthening the Bio-Circular-Green Economy
ร่วมกับ Mr. Anouj Mehta ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทน ADB ประจำประเทศไทย (ADB Thailand Resident Mission : TRM), Dr. Norio Saito ผู้อำนวยการอาวุโส Water and Urban Development Sector Office และ Mr. Stefan Rau ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง รวมทั้ง องค์กรพันธมิตร อาทิ Mr. Ben Furmage ผู้บริหารของ Cooperative Research Centre for Water Sensitive Cities หรือ CRCWSC ประเทศออสเตรเลีย ตลอดจนผู้แทนจากเมืองต่างๆ ในไทย ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครยะลา และกรุงเทพมหานคร หารือการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โครงการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศเมืองชายฝั่งในประเทศบังกลาเทศ โครงการจัดการน้ำท่วมเมืองแบบบูรณาการสำหรับลุ่มน้ำเจนไน-โฆษัทไลยาร์ในประเทศอินเดีย และโครงการลงทุนเมืองน่าอยู่เพื่อการพัฒนาที่สมดุลในประเทศจอร์เจีย เป็นต้น
โดย Mr. Stefan Rau นำเสนอโครงการเมืองฟองน้ำที่ ADB ให้การสนับสนุนในประเทศจีน จำนวนมาก อาทิ โครงการ Jiangxi Pingxiang Integrated Rural-Urban Infrastructure Development ในเขตเทศบาลเมืองผิงเซียง มณฑลเจียงซี ซึ่งปรับปรุงการจัดหาน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอยและการฟื้นฟูแม่น้ำแบบบูรณาการ, โครงการ Shanxi Changzhi Low-Carbon Climate-Resilient Circular Economy Transformation ของเมืองฉางจือ มณฑลซานซี ซึ่ง ADB ช่วยเหลือด้านการเงิน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสีเขียวในเมือง และรวมถึง Mr. Ben Furmage จาก CRCWSC นำเสนอโครงการที่รัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุน โดยยกตัวอย่างเมืองฟองน้ำในเมืองคุนซาน ประเทศจีน ซึ่งบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานหลัก (Gray Infrastructure) เช่น ถนน ทางเท้า กับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เช่น สวนสาธารณะ ลำคลอง อย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง
โดยมีผู้แทนจากเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครยะลา และกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมและนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของเมือง สถานการณ์ ประเด็นปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้งการดำเนินงานที่ผ่านมา การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ตลอดจนความต้องการขอรับความช่วยเหลือจาก ADB ประกอบการคัดเลือกเมืองเพื่อรับการสนับสนุนภายใต้โครงการการออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อออกแบบเมืองให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยพิบัติจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและความถี่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ที่มาอ้างอิง :
แนวคิด “Sponge City – เมืองฟองน้ำ” รับมือน้ำท่วม ด้วยการพัฒนาเมืองให้ ‘คนและน้ำอยู่ร่วมกัน’
https://www.sdgmove.com/2021/07/12/sponge-city-wuhan-china-reshape-cities-and-live-with-water/
ถอดบทเรียน ‘จีน’ การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเปลี่ยนเมืองเป็นฟองน้ำ
https://www.dotproperty.co.th/blog/ถอดบทเรียน-จีน-การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเปลี่ยนเมืองเป็นฟองน้ำ
สศช. ประชุมหารือข้อเสนอโครงการ “การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทย เพื่อความยืดหยุ่นของเมือง”ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รัฐบาลออสเตรเลีย และองค์กรพันธมิตร
https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=14788&filename=index
สศช. ประชุมเริ่มต้นโครงการ (Kick-off Meeting) “การออกแบบเมืองฟองน้ำต้นแบบสำหรับประเทศไทยเพื่อความยืดหยุ่นของเมือง”ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)
https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=15402&filename=index
Advertisement