บิ๊กป้อม ตั้ง ภัครธรณ์-กาญจนา นั่งรองเลขาธิการพรรค ขณะที่ สามารถ ทำหน้าที่รองโฆษกฯ พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบ 20 สส. ฝั่งธรรมนัส
วันที่ 10 ก.ย. 67 ที่พรรคพลังประชารัฐ นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ) แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมี สส.ของพรรค ร่วมประชุมรับทราบตามมติกรรมการบริหารพรรคว่า
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เซ็นคำสั่งพรรคพลังประชารัฐที่ 15 /2567 แต่งตั้งรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 2 คนโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 (1) (ช) และข้อ 19 (2) ประกอบด้วย นายภัครธรณ์ เทียนไชย และ น.ส.กาญจนา จังหวะ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายพรรคให้เป็นเกิดความเข้มแข็งสู่การเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ได้ออกคำสั่งพรรคพลังประชารัฐที่15/2567 แต่งตั้งรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐอาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 (1) (ช) ให้นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช เป็นรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ
นาย ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังได้มีการพิจารณาตรวจสอบการกระทำของ 20 สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผิดข้อบังคับของพรรคหรือไม่ โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีเลขาธิการพรรค เป็นประธานคณะกรรมการ นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ สส.พังงา เขต 2 นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร เขต 5 เป็นกรรมการและนายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช เขต 6 เป็นเลขานุการคณะกรรมการ กำหนดกรอบการตรวจสอบภายใน 60 วัน ให้รายงานผลไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป และที่ประชุมได้กำหนดมาตรการชั่วคราว สส. 20 คนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบให้งดรับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญชุดต่างๆ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ
นาย ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี่ที่ประชุมยังได้แต่งตั้งตัวแทนพลังประชารัฐเป็นประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2565 ข้อที่ 15.จำนวน 2 คน ประกอบด้วย นายสุธรรม จริตงาม สส. เขต 6 นครศรีธรรมราช และนายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 เพื่อร่วมประชุมวางแนวทางในการอภิปราย นโยบายของรัฐบาลที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 - 13 ก.ย.นี้ โดยมอบหมายให้เป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ ประสานงานกับ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานฝ่ายวิปฝ่ายค้านเพื่อหารือแนวทางในการร่วมกันทำงานต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีตั้งกรรมการสอบ 20 สส.พรรคพลังประชารัฐนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบการกระทำว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือไม่ มีกรอบการพิจารณาว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ รวมถึงต้องมีการตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนตามข้อบังคับพรรคหรือไม่ ซึ่งมีหลายข้อให้กรรมการไปตรวจสอบเพิ่ม ยังไม่มีการตรวจสอบว่ามีการขัดต่อบังคับแล้วหรือไม่ และก็มีการกำหนดมาตราการชั่วคราว โดยยืนยันว่าจะไม่มีส่งชื่อนั่งกรรมาธิการวิสามัญ และออกขับออกจากพรรค เพราะไม่มีเหตุผลจำเป็น แต่จะใช้วิธีการลงโทษอย่างอื่น
เมื่อถามว่า วิธีนี้จะเป็นการบีบ สส. ให้ลาออกเองหรือไม่ นายไพบูลย์ ระบุว่า ไม่ได้เป็นการบีบ แต่เป็นการดำเนินตามนโยบายของพรรค