หัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งชื่อ รัฐบาล 3 นาย ชี้ 3 ปีจากนี้ของรบ. เป็นบทพิสูจน์ว่าจะเจ๊า-เจ๊ง ถามแจกเงินหมื่น นโยบายเรือธง เพื่อประชาชนหรือนายทุน
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 12 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา นาย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตอนหนึ่งว่า 1 ปีที่สูญเปล่ากับการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการการตัดสินใจ 3 ปีต่อไปจากนี้ ตนตั้งชื่อเรียกเล่นๆว่า รัฐบาล 3 นาย คือ นายใหญ่ นายทุน นายหน้า ที่มีแต่เจ๊า กับเจ๊ง ไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากเรายังอยู่ในระบบการเมืองแบบนี้
หากมองย้อนกลับไป 1 ปี ถามว่าประชาชนได้อะไรจากคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลชุดที่แล้วบ้าง เพราะเงินใหม่ก็ไม่เข้า หนี้เก่าภาคครัวเรือนก็ยังไม่แก้ ปัญหาหมูเถื่อน ปัญหาปลาหมอคางดำ ต้นทุนพลังงาน ประชาชนขาดความมั่นคง รัฐบาลขาดอำนาจนำในการบริหารราชการแผ่นดิน
โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก นโยบายเรือธงแทบไม่เหลือเค้าโครงอะไรอีกแล้ว ไม่รู้ว่าเรือธงนี้จะให้ประชาชนขึ้น หรือนายคนไหนขึ้นกันแน่และเกิดปัญหาภาคธุรกิจ วันนี้เลย 120 วันไปแล้วท่านมีอะไรบรรลุผลเป็นรูปธรรมบ้าง
3 ปีต่อจากนี้ตนคาดหวังจะได้เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการศึกษา แรงงาน และนโยบายเรือธง เพื่อใคร หรือเพื่อ 3 นาย นายใหญ่ นายหน้า นายทุน โดยเฉพาะดิจิทัล วอลเล็ต,เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์,นโยบายแลนด์บริดจ์ ถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการ ในการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อเวนคืน เอื้อให้นายหน้าค้าที่ดินหรือไม่
นายณัฐพงษ์ อภิปรายด้วยว่า สำหรับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญควรเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ควรทำเพื่อประชาชนที่เป็นนายของรัฐบาล ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้รัฐบาลเจ๊าหรือเจ๊ง หากไม่ทำในวาระเร่งด่วน ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายรัฐบาล ตนอยากให้ลุกขึ้นชี้แจงนอกสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่เตรียมมา แสดงบทบาทความเป็นผู้นำที่ดี ที่ต้องชี้นำความคิด และควรชี้นำรัฐบาลว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้ โดยคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไข 4 ฉบับ ทั้งประเด็นมาตรฐานจริยธรรม เลิกยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกมาตรา 279 เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงการปฏิรูประบบงบประมาณ ภาษี
“เรื่องปฏิรูประบบงบประมาณ ระบบภาษี พรรคประชาชนส่งร่างกฎหมายหลายฉบับ และรอให้ นายกฯ ให้คำรับรอง หากเห็นด้วยร่วมกัน ในร่างกฎหมายและนโยบายด้านใด ให้เซ็นต์กลับมาเดินหน้าในสภาร่วมกันใน 3 ปีต่อจากนี้” นายณัฐพงษ์ อภิปราย