วิกฤตมะพร้าวขาดตลาด ราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ผู้ค้ารายย่อยเสี่ยงเลิกกิจการ

16 ต.ค. 67

 

วิกฤตมะพร้าวขาดตลาด ตรังราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ลูกละ 36-40 บาท ราคาน้ำกะทิสูงถึงกิโลกรัมละ 150-160 บาท ผู้ค้ารายย่อยเสี่ยงเลิกกิจการ 

วันที่ 16 ต.ค. 67 ที่จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์มะพร้าวขาดตลาดส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ค้ารายย่อยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้ ราคามะพร้าวพุ่งสูงถึงลูกละ 36-40 บาท จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 14-17 บาท ส่งผลให้ราคาน้ำกะทิสูงขึ้นตามไปด้วย ในบางพื้นที่ราคาน้ำกะทิสูงถึงกิโลกรัมละ 150-160 บาท สูงสุดในรอบ 40 ปี 

ผู้ค้ารายย่อยต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก บางรายต้องเดินทางไปหาซื้อมะพร้าวจากแหล่งผลิตโดยตรง แต่ก็ยังประสบปัญหาสินค้าขาดแคลน หลายรายพิจารณาหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่คุ้มทุน ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าจะขาดทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา 

สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ เช่น ร้านข้าวแกง ร้านขนมจีน ร้านอาหาร และร้านขนมไทยที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือ เช่น อนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตามยังไม่มีสัญญาณว่า สถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน 

นายสมพร หรือ โกกวั้ง วิริยะศักดิ์สกุล เจ้าของร้านน้ำกะทิป้าศรี บอกว่า พ่อค้ามะพร้าวที่ส่งให้กับตนเป็นเจ้าประจำ ราคาอยู่ที่ลูกละ 30 กว่าบาท แต่ตอนนี้คนที่ส่งให้ประจำเขาก็หามะพร้าวมาส่งให้ไม่ได้ เพราะมะพร้าวขาดตลาด ตนต้องไปเอามะพร้าวจาก อ.สิชลจ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นล้งมะพร้าวแหล่งใหญ่ และเป็นแหล่งที่ส่งมะพร้าวไปกรุงเทพฯด้วย ซึ่งราคาสูง และเจ้าของล้งถามตนเองว่าจะสู้ราคาไหวหรือเปล่า ตนก็สู้ราคา แม้จะเป็นการเหมาไม่ให้คัดขนาด ใช้วิธีนับเป็นลูกๆ ไปเลย ราคาลูกละ 36 บาทซึ่งเมื่อก่อนตนซื้อลูกละ 14-17 บาท 

ล่าสุดที่ตนซื้อมาราคาก็ขยับขึ้นอีกลูกละ 1 บาท เป็นลูกละ 37 บาท ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมค่าขนส่ง ตนต้องไปบรรทุกมาขายเอง เพราะร้านไม่มาส่งให้ ตนไม่แน่ใจว่าราคาจะขึ้นไปอีกหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาราคาไม่เคยสูงขนาดนี้ อย่างมากราคาไม่เคยเกิน 25-26 บาท โดยช่วงนี้ตนไปรับมะพร้าวจาก อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ครั้งละ 1 รถกระบะ หรือจำนวน 2,500-2,600 ลูก ตอนนี้ล้งที่ตนไปรับมามะพร้าวก็หมดแล้ว เขามีเพียง 2แสนลูก ซึ่งเขาขายเพียงอาทิตย์เดียวก็หมดเกลี้ยง ในขณะที่ตอนนี้ราคาน้ำกะทิตกกิโลกรัมละ 90-100 บาท ถ้าราคามะพร้าวสูงขึ้นอีก ราคาน้ำกะทิก็ขยับราคาขึ้นตาม ถ้าลูกค้าสู้ราคาตนก็ขาย แต่ถ้าลูกค้าไม่สู้ก็คงต้องหยุดขายสักพัก 

ตนขายมะพร้าวมา 40 ปีแล้ว ราคาไม่เคยสูงขนาดนี้ ในแต่ละวันจะส่งมะพร้าวให้ลูกค้าประมาณ 500 ลูก เมื่อก่อนถ้ามะพร้าวขาดตลาด รัฐบาลจะนำมะพร้าวจากต่างประเทศมาขาย ตนก็อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องมะพร้าวนำเข้า เพราะจะทำให้ราคาในประเทศถูกลง เพราะหากมะพร้าวแพงลูกค้าที่รับต่อจากตนเขาก็มีต้นทุนสูงขึ้น และขายลำบาก เช่น เขาไปทำขนมไทยขายชิ้นละ 5 บาท จะให้ปรับราคาขนมตามราคามะพร้าวเป็นชิ้นละ 10-15 บาท เขาก็ขายไม่ได้ ลูกค้าก็หายอีก ซึ่ง 1-2 เดือนนี้ตนขาดทุน จากการขายเยอะ ปีที่แล้วขาดทุนไปประมาณ 100,000 กว่าบาท ปีนี้คาดว่าจะขาดทุนเยอะกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะมะพร้าวขึ้นราคา ตนก็ได้กำไรน้อยลงไหน จะต้องจ่ายค่าแรงลูกน้อง ค่าขนส่งค่าไฟฟ้า ซึ่งทุกอย่างเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตนี้ 

อย่างไรก็ตามหลังสื่อนำเสนอข่าวมะพร้าว จ.ดตรังขาดแคลน ราคาพุ่งทั้งผลสุก และน้ำกะทิต้องแย่งกันซื้อ โดยการส่งคนตระเวนหาซื้อจากต่างจังหวัด เมื่อข่าวออกไปทำให้มีคนมาแสดงความคิดเห็น และแจ้งสถานการณ์มะพร้าวในพื้นที่ต่างๆ เข้ามาด้วยทำให้ทราบว่า มะพร้าวขาดแคลนและราคาแพงกระทบหมดทุกจังหวัดทั่วภาคใต้ 

ขณะที่ราคาน้ำกะทิก็พุ่งสูงขึ้นแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.ตรังน้ำกะทิอยู่ที่ กก.ละ100-110 บาท ส่วนจ.กระบี่บางพื้นที่น้ำกะทิราคาสูงถึง กก.ละ150-160 บาท ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มค้าขายที่ต้องใช้กะทิเป็นวัตถุดิบหลักแผงขายกะทิหยุดขายจำนวนมาก เพราะไม่มีมะพร้าวป้อนแผง

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส