กรมป่าไม้ การันตี ไร่เชิญตะวัน ไม่รุกป่าสงวนเพิ่ม

25 ต.ค. 67

 

กรมป่าไม้ การันตี ไร่เชิญตะวัน ไม่รุกป่าสงวนเพิ่ม ขอใช้พื้นที่ป่าดอยปุย 140 ไร่ถูกต้อง ให้อนุญาตยาว 30 ปี 

วันที่ 25 ต.ค. 67 ที่กรมป่าไม้ นาย บรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ แถลงผลการตรวจสอบกรณี กรมป่าไม้อนุญาตให้มูลนิธิวิมุตตยาลัย และศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงรายว่า 

กรมป่าไม้ได้อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ ดอยปุย 3 แปลง ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิวิมุตตยาลัย ขอใช้พื้นที่ 1 แปลง เนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา (ตรว.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2 แปลง เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา กับ 11 ไร่ 3 งาน 01 ตารางวา รวม 140 ไร่ 0 งาน 80 ตารางวา เมื่อตรวจสอบร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งเจ้าของที่ถือครองตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) บริเวณโดยรอบ ไม่พบมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มจากการขออนุญาต เพราะหากมีการบุกรุกเพิ่มเติมจริง ผู้ถือครองที่ดิน คทช.จะต้องร้องเรียนแล้ว 

เมื่อถามว่า มีการเปลี่ยนมือถือครองพื้นที่ คทช.บริเวณโดยรอบหรือไม่ นายบรรณรักษ์ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีหน้าที่จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้ทางจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งชาวบ้านที่จะถือครองต้องมีคุณสมบัติตามที่ คทช. ระบุไว้ หากพบมีการเปลี่ยนมือจะถือว่าไม่ถูกต้องตามคุณสมบัติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ได้ 

เมื่อถามว่า การอนุญาตให้วัดใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีระยะเวลาเท่าไหร่ นายบรรณรักษ์ กล่าวว่า ได้อนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน ตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งได้อนุญาตศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันใช้พื้นที่ 30 ปี โดยต้องปฏิบัติตาม 29 เงื่อนไขที่ระบุไว้ นอกจากนี้ทางวัดต้องปลูกป่าทดแทนตามจำนวนไร่ที่ขอใช้พื้นที่ หรืออาจจ่ายค่าบำรุงป่าไม้ไร่ละ 12,090 บาท โดยทางวัดอยู่ระหว่างการปลูกป่าทดแทน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีวัดขอใช้พื้นที่จะอนุญาตใช้พื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ และห้ามมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม หากไม่ปฏิบัติตามจำเป็นต้องยกเลิกการอนุญาตไม่ให้ใช้พื้นที่ต่อ และถ้าไม่ออกจากพื้นที่ถือว่ามีความผิดฐานบุกรุกป่า 

เมื่อถามว่า กรณีที่มูลนิธิวิมุตตยาลัย ขออนุญาตใช้พื้นที่เกินกว่า 15 ไร่ ซึ่งขอใช้พื้นที่ 113 ไร่ ถือว่าผิดเงื่อนไขหรือไม่ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นมูลนิธิ ซึ่งการให้ใช้พื้นที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่แต่อย่างไร แต่ต้องได้การยอมรับจากภาคประชาคมทั้งหมด โดยในส่วนของสำนักงานพระพุทธฯ ขออนุญาต คือ 14 ไร่ และ 11 ไร่ เท่านั้น ไม่เกิน 15 ไร่ 

เมื่อถามว่า ก่อนมีการอนุญาตให้ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นอย่างไร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า จากการดูภาพถ่ายดาวเทียม พบว่ามีประชาชนเคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จากนั้นทางศูนย์วิปัสสนาฯ มาใช้พื้นที่ต่อ ซึ่งกรมป่าไม้มีโครงการพุทธอุทยาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้วัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ ช่วยงานด้านป่าไม้ เพื่อให้ศาสนาเข้ามามีบทบาทการเป็นผู้นำ หรือเครือข่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดังนั้นจึงถือว่าวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้นด้วย 

นายบรรณรักษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการอนุญาตให้วัดใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการผ่อนผันให้วัดและสำนักสงฆ์ ใช้พื้นที่ป่าสงวนตาม มติ ครม.วันที่ 23 มิ.ย. 2563 และ มติ ครม.วันที่ 11 พ.ค.2564 นั้น โดยให้ทำเรื่องขออนุญาตมายังกรมป่าไม้ ซึ่งต้องเป็นวัดที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาก่อนมีมติดังกล่าว หากมาสร้างวัดใหม่ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข ซึ่งตอนนี้มีการยื่นขออนุญาตแล้วกว่า 9 พันคำขอ อนุญาตแล้วประมาณ 1 พันกว่าคำขอ โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนฯแล้วประมาณ 15,000 ไร่ อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้ได้ขีดเส้นให้ทางวัด หรือสำนักสงฆ์ ยื่นทำเรื่องขออนุญาตให้พื้นที่ป่าสงวนฯ ภายในสิ้นปี 2567 นี้เท่านั้น หากเกินระยะเวลานี้ทางกรมป่าไม้จะไม่อนุญาตเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส