"ชวน" วาง 2 แนวทางเปิดประชุมสภาฯ วิสามัญ หาทางออกประเทศ 1. ให้ ครม.เป็นฝ่ายขอเปิด 2.ให้ ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เผย กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญขอขยายเวลาต่ออีก 15 วัน
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 ต.ค. 63 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อวางแนวทางให้สภาผู้แทนราษฎรหาทางออกวิกฤตการเมือง ทั้งตัวแทนฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงฝ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อหารือ ถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน ก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ เพื่อให้รัฐสภาหาทางออกให้กับบ้านเมือง จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กอร.ฉ. ออกคำสั่งให้ กสทช.-กระทรวงดีอีเอส ระงับการเผยแพร่ 4 สื่อ 1 เพจ
- เปิดความจริงคลิป 2 ด้าน ดราม่าตำรวจขอความเห็นใจ แต่มวลชนโชว์ภาพการเสียสละ
- อาชีวะขอโทษทำภาพลักษณ์ชุมนุมเสียหาย บุกตีรถน้ำ กทม. คนเห็นจะจะเตือนต้องใช้สติ
- เปิดหน้าแจง “ปกรณ์” แอ่นอกรับแจกหมวก - เสื้อกันฝนมวลชน ถามหาสันติผิดด้วยหรือ
โดยนายชวนระบุว่า เป็นการหารือภายในกับตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น มองสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง มีข้อเสนอแนะอะไรบ้างที่จะช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ต่าง ยอมรับว่าฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลได้ แต่หากการหารือวันนี้ได้ข้อสรุปอย่างไรอาจส่งเป็นข้อแนะนำไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือส่งให้รัฐบาล
ส่วนแนวทางจะเปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อหารือและหาทางออกร่วมกันนั้น นายชวน กล่าวว่า แม้การเปิดประชุมจะไม่ทำให้หาทางออกได้ทันที แต่ก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่ให้ทุกฝ่ายมีเวทีหาทางออกร่วมกัน ขณะเดียวกันเหลือเวลาอีก 10 วันก็จะเปิดประชุมเปิดประชุมสภารัฐสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 แล้ว ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังหาทางออก แต่การเปิดสภาานั้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที
นายชวน ยังกล่าวถึงการที่กลุ่มผู้ชุมนุมหันหลังและไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาว่า ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็นส่วนตัวได้ทั้งสิ้น ความคิดแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป ภารกิจแต่ละฝ่ายก็ต่างทำหน้าที่กันไป ส่วนที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ส่วนตัวไม่ขอก้าวล่วง เพราะแต่ละคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และหลายพรรคการเมือง ที่เห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีนั้น นายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ทำเรื่องขอขยายเวลาไปอีก 15 วัน ซึ่งการจะพิจารณาญัตติ เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ จะส่งเรื่องเข้ามา
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายชวน ได้วางแนวทางเปิดสมัยประชุมรัฐสภาวิสามัญไว้ 2 แนวทาง คือ 1. ให้ ครม.เป็นฝ่ายขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมขึ้น ตามมาตรา 122 วรรคสาม และวรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ หากตกลงตามแนวทางนี้ จะเสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันที่ 20 ต.ค. 63 ตราพระราชกฤษฎีกาโดยประธานรัฐสภาจะมีหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้เปิดการประชุมโดยด่วน
2. ให้ ส.ส.และ ส.ว. เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูล เพื่อให้มีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีส.ส. 488 คน ส.ว.245 คน รวม สมาชิกรัฐสภา 733 คน ต้องใช้เสียงสมาชิกเข้าชื่อ 245 คนขึ้นไป จึงจะขอเปิดประชุมแนวทางนี้ได้