วานนี้ (18 มีนาคม 2564) นาย อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรค ภูมิใจไทย ออกแถลงการณ์ กรณีรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใจความว่า พรรคภูมิใจไทยขอแสดงความเสียใจต่อกรณีที่รัฐสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้วถึง 2 วาระ ต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาได้อีก เป็นการทำลายความหวัง ความตั้งใจของประชาชน และสมาชิกรัฐสภาทุกคน ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้ร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยแท้จริง
อนุทิน แจงปมคนสวมเสื้อ ภูมิใจไทย กลับด้านโห่ไล่ วิโรจน์ ลั่น ใครจะโง่ขนาดนั้น
ทั้งนี้ การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พรรคภูมิใจไทยพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตกไป จึงสนับสนุนให้มีการชะลอการพิจารณาวาระที่ 3 ไว้ก่อน แล้วเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญกรุณาบอกแนวปฏิบัติตามคำวินิจฉัยกลาง เพื่อที่รัฐสภาจะได้ดำเนินการถูกต้อง และไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ และพรรคภูมิใจไทยเห็นชอบ เพราะเห็นว่าเมื่อยังไม่มีความชัดเจน และสมาชิกรัฐสภายังมีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการประชุมรัฐสภาเป็นเวลาเกือบ 10 ชั่วโมง ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐสภายังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันต่อรัฐสภา
พรรคภูมิใจไทยจึงเห็นว่าหากสมาชิกรัฐสภายอมเสียเวลาสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติที่ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านมาแล้ว 2 วาระ ก็จะยังอยู่ และเมื่อมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่แนวทางนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการลงมติ วาระที่ 3 ให้ได้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์แล้วว่า การลงมติจะเป็นการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปทันที และไม่มีทางนำกลับมาพิจารณาได้อีก เพราะ
1. ส.ส. จำนวนมาก ไม่มั่นใจว่าการลงมติ เป็นการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าต้องไปทำประชามติก่อน และประธานรัฐสภาได้ชี้แจงก่อนการประชุมว่า ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาเสนอว่าไม่ควรลงมติ อาจขัดรัฐธรรมนูญได้
2. การลงมติ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 84 เสียง จึงจะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้สอบถามท่าทีสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ทราบว่าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ซึ่งในการลงมติก็มีเพียง 2 เสียงที่สนับสนุน
จากข้อมูลที่ได้รับในเบื้องต้นก่อนเปิดประชุมรัฐสภา พอจะประเมินได้ว่าหากมีการลงมติวาระที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านมา 2 วาระต้องตกแน่ พรรคภูมิใจไทยจึงเลือกแนวทางที่จะรักษาร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนด้วยการชะลอเวลา แล้วไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหาแนวทางที่จะเดินหน้าต่อไปไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญตก แต่เราทำไม่สำเร็จ และสุดท้ายก็มีการลงมติ วาระที่ 3 ซึ่งผลก็เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ คือร่างรัฐธรรมนูญที่ทำกันไว้ตก และนำกลับมาพิจารณาไม่ได้แล้ว การไม่ลงมติคือการแสดงออกให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ขอร่วมกระทำการที่เรียกได้ว่าไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างตรงไปตรงมา
พรรคภูมิใจไทยยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกประการ เพราะเราพลาดจริงๆ ที่ตามเกมการเมืองของผู้ที่จ้องจะล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทัน เนื่องจากเราคิดไม่ถึงว่าจะมีการพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงกันตลอดทั้งวัน เป็นการเล่นเกมที่จะเอาชนะกัน โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนที่จับตาดูการประชุมรัฐสภา และเฝ้ารอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยต้องขอโทษที่ไม่สามารถรักษาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไว้ได้
พรรคภูมิใจไทยยังดำรงความมุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ โดยมีหลักการคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิทำกิน สิทธิประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างรายได้ เพื่อปากท้องของพี่น้องประชาชน ที่สำคัญคือต้องมีหลักประกันรายได้ให้แก่ประชาชนทุกคน
ตอนท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ลงวันที่ 18 มีนาคม 2564 โดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
อนุทิน ไม่กล้าฟันธง โบ้ย ศบค. ตัดสินใจกิจกรรม สงกรานต์ 2564 หลัง โควิดบางแค กระฉูด!
อนุทิน ดัน กัญชา พืชเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมสุขภาพ ผลิตยาแผนไทย หนุนท่องเที่ยว