ย้อนดูอดีตไอดอลเกาหลี ก่อนการมีวลี ออกค่ายไม่ออกวง ปัญหามันเกิดจากตรงไหน ข้อดีที่ไม่อยู่สังกัดเดิม แต่ยังทำงานวงได้คืออะไร?
ไอดอล ถือเป็นหนึ่งในตลาดอุตสาหกรรมที่เติบโตได้เร็วและก้าวกระโดด มีการสร้างรายได้ให้กับประเทศเกาหลีใต้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 327,000 ล้านบาทโดยประมาณ อีกทั้งความนิยมที่แพร่หลาย ความหลากหลายทางดนตรี ทำให้กลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่มีผู้คนยอมจ่ายถึงแม้ราคาจะสู้ แต่เมื่อเวลาผ่านการทำงานที่ยาวนานขึ้น สัญญาก่อนการเดบิวต์ที่ใกล้จะหมด สำหรับวงที่ใกล้ครบรอบ 7 ปี การได้เห็นทุกคนเดินหน้าต่อพร้อมกัน โดยใช้วิธีการ ออกค่ายไม่ออกวง ย่อมเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้
ก่อนการเข้าสู่วลี ออกค่ายไม่ออกวง ต้องขอย้อนกลับไปก่อนว่า ก่อนที่ศิลปินคนหนึ่งจะเข้าสู่วงการบันเทิง ทำกิจกรรมอย่างแข็งขัน จนได้ขึ้นมาเป็นไอดอลแถวหน้า ไม่ใช่ว่าทุกวงหรือทุกคนจะทำได้เหมือนกัน การขึ้นเป็นตำนานแบบวงรุ่นพี่อย่าง Super Junior, Girls' Generation, SHINee, 2PM, KARA, 2NE1 ฯลฯ กลุ่มที่ยกตัวอย่างมา ล้วนต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งในแง่ของสัญญา แอร์ไทม์ และการไม่ถูกจมหายไปในตลาดวงการเพลง จนกลายเป็นตำนานให้รุ่นน้องให้เห็นทุกวันนี้
วงการเพลงเกาหลีในอดีต เริ่มต้นจากการเดบิวต์ศิลปินด้วยความไม่คาดหวัง เนื่องจากความนิยมจากเพลงยุค 80' ที่ส่งถึงกลุ่มผู้ฟัง ยังไม่สามารถปรับเป็นความนิยมที่หลากหลายได้ จะเห็นได้ว่าไอดอลเกาหลีในยุคก่อน หากมีคอนเซ็ปต์ใดที่ใช้แล้วปัง จะมีการใช้ซ้ำกับวงต่อไปในค่ายเดียวกัน หรือใช้ซ้ำกันในวงอื่นค่ายอื่น
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจน ภาพของวง H.O.T จากค่าย SM Entertainment และวง GOD จากค่าย JYP Entertainment ศิลปินบอยกรุ๊ปในยุคเดียวกันของค่ายแกนหลักวงการเพลง มีคอนเซปต์และเพลงที่คล้ายกัน หากครั้งนี้ปล่อยเพลงที่มีความดุดัน อีกฝั่งก็จะมีตามมาในเวลาใกล้เคียงกัน หรือบางครั้งอาจปล่อยเพลงชนและไปวัดผลกันบนเวที
เมื่อศิลปินที่ปล่อยให้ชิมลางงานเพลง กลายเป็นหนูทดลองเพื่อหาเส้นทางการทำเม็ดเงิน การผลิตเด็กฝึกด้วยกลไกทุนนิยม จึงกลายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ในอดีตศิลปินอาจต้องถูกมัดอยู่ในสัญญาทาส ด้วยการเซ็นแบบไม่เป็นธรรม ไม่มีวันพักผ่อน ไม่มีการดูแลที่ดี รวมไปถึงการยุบวงเมื่อทำเงินไม่ได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า (TMI:เรื่องการยุบวงโดยไม่แจ้งล่วงหน้ายังคงมีบ้างในยุคปัจจุบัน และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบางวง)
หลังจากการทดลองของค่าย SM Entertainment ทีได้ให้กำเนิดวง H.O.T ในปี 1996 ค่ายได้พยายามตีตลาดเพลงหลาย ๆ แนว ทั้งดุดัน น่ารัก หรือแม้กระทั่งลองในเชิงบัลลาด มีแม้กระทั่งโมเดลหนุ่มดอกไม้ ที่หนึ่งคนในวงจะได้รับภาพลักษณ์สวยหวานจนกลายเป็นคำว่า หนุ่มดอกไม้สไตล์ซูมาน (TMI:ซูมาน หรือ ลีซูมาน ผู้บริหารสูงสุดของค่าย SM ในอดีต)
หลังจากพา H.O.T ไปตีตลาดวงการเพลงและหลอกล่อให้มีแฟนคลับเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นไม่นานในปี 1998 เอสเอ็มใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการสร้างวงบอยกรุ๊ปครั้งใหม่กับวง Shinhwa (ชินฮวา) ใช้โมเดลเดียวกันในการทำงาน คือทดลองทำมันทุกแนวเพลง ทั้งดุดัน เซ็กซี่ หรือแม้กระทั่งแบบน่ารัก
แต่ด้วยการทำงานแบบชายหนุ่มที่อายุใกล้เคียงกัน ทำให้สมาชิกมีปัญหาภายในมาให้เห็นบ้าง ประกอบกับการทำงานของค่ายที่ต้องการต่อสัญญาแค่กับสมาชิกบางคน ทำให้เกิดเป็นการฟ้องร้องเพื่อใช้ชื่อของวงต่อในการทำงาน (TMI:โดยปกติแล้วการทำวงหากจดภายใต้บริษัท เมื่อหมดสัญญาไปแล้วชื่อจะยังคงอยู่ สมาชิกที่ออกจากค่ายไปจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว เพราะถือเป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินของบริษัท รวมไปถึงเรื่องชื่อแฟนคลับ สีวง โลโก้ เพลง วาไรตี้)
โดยส่วนใหญ่แล้ว สมาชิกวงไอดอลที่เริ่มทำงานเดี่ยวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อายุวงของตัวเองเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกคนอาจเจอหนทางในการทำงานของตัวเองเพิ่มขึ้น เดิมทีค่ายเพลงจะมีการล็อกคิวว่า "สมาชิกคนไหนเหมาะกับการทำอะไร เช่น คนที่เหมาะกับการร้องเพลงก็ให้เริ่มการปล่อยเพลงโซโล่ คนที่น่าจะแสดงได้ก็ให้ไปแคสต์บทละคร คนที่เหมาะกับการออกวาไรตี้ก็ไปโผล่หน้าแย่งชิงแอร์ไทม์บ่อย ๆ"
Girls' Generation รุ่นพี่เจนสองที่เป็นตำนาน ก็อยู่ในโมเดลออกค่ายไม่ออกจากวงเช่นกัน โดยทิฟฟานี่, ซูยอง, ซอฮยอน และซันนี่ เลือกที่จะไม่เซ็นสัญญากับค่ายเอสเอ็มต่อ โดยซูยองและซอฮยอนย้ายไปอยู่ค่ายที่ดูแลผลงานการแสดงมากกว่า แต่เมื่อถึงคราวให้ของขวัญกับโซวอนแฟนคลับ ทุกคนต่างก็พร้อมใจขยับตารางงานของตัวเอง และกลับมาโฟกัสการทำงานแบบกลุ่ม จนได้ทำการโปรโมทเพลง Forever 1 เมื่อปี 2022 ออกมา
แบมแบม กันต์พิมุกต์ หนึ่งในสมาชิก GOT7 เคยเปิดเผยเรื่องการออกจากค่าย JYP ในรายการ YouTube อย่าง ZIP Daesung ของ แดซอง แห่งวง BIGBANG โดยแบมแบมให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า "เคยมีความคิดจะออกจากวงการบันเทิง เพราะเดบิวต์ครบ 7 ปี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก การเปลี่ยนไปอยู่กับค่าย ABYSS Company ทำให้ได้รับข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยพบ การได้ไปออกวาไรตี้ที่แตกต่างขึ้นอย่างรายการเรียลิตี้หาคู่ EXchange 2 ทำให้เปลี่ยนชีวิตการทำงานในฐานะศิลปินไปอย่างมาก"
ลิสต์รายชื่อไอดอลเกาหลี ออกค่ายไม่ออกวง เปลี่ยนสังกัดแต่ยังทำงานวง
ในปัจุบันสมาชิกวงเอสเจ 3 คน ได้แก่ คยูฮยอน ที่อยู่กับ SM มานาน 17 ปี ได้ย้ายไปอยู่กับค่าย Antenna โดยโฟกัสที่การทำงานเพลงเดี่ยวเพิ่มขึ้น มีการปรับลูกเล่นการทำงานที่เข้ากับสไตล์มากขึ้น ส่วน อึนฮยอก, ทงเฮ ที่อยู่กับ SM มานาน 18 ปี เจ้าของยูนิต D&E ก็ได้จูงมือกันออกมาก่อตั้งค่าย ODE Entertainment เป็นค่ายของตัวเอง แต่ทั้งนี้สมาชิกทั้งหมดยังมีผลงานร่วมกันในฐานะ Super Junior
เมื่อปี 2017 มีการประกาศว่าสมาชิกทั้ง 3 ทิฟฟานี่, ซูยอง และ ซอฮยอน จะไม่ต่อสัญญากับค่าเอสเอ็มต่ออีกครั้ง โดยทิฟฟานี่มีแพลนศึกษาต่อ ก่อนที่จะกลับมาทำงานในฐานะนักแสดงมิวสิคัล และเซ็นสัญญากับค่าย Sublime Artist Agency
ในขณะเดียวกัน ซูยองได้เซ็นสัญญาใหม่ในฐานะนักแสดงกับค่าย SARAM Entertainment และมักเน่ตลอดกาลของวงอย่าง ซอฮยอน ก็ได้เซ็นสัญญาใหม่กับ Namoo Actors โดยที่ทั้งคู่ตั้งใจกับการโฟกัสกับงานแสดงที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการประกาศอีกครั้งในปี 2023 ถึงเรื่องการไม่ต่อสัญญาของซันนี่ หลังจากการปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 7 FOREVER 1 ในโอกาสครบรอบ 15 ปีเดบิวต์
การประกาศไม่ต่อสัญญาของอนยู และแทมิน ที่อยู่คู่บุญกับเอสเอ็ฒมากนานกว่า 16 ปี ถือเป็นข่าวใหญ่สำหรับแฟนคลับ เมื่อเอสเอ็มได้ประกาศว่าอนยูจะไม่ต่อสัญญา และได้เริ่มเซ็นสัญญากับค่ายใหม่อย่าง GRIFFIN Entertainment โดยมีอนยูก็เป็นศิลปินคนแรกของค่าย ส่วนแทมินได้เซ็นสัญญาใหม่กับค่าย BPM Entertainment ถึงแม้จะออกจากค่ายเดิมแล้ว แต่ทั้งสองคนยังคงปรับตารางงานให้เข้ากับวง เห็นได้ชัดจากการขึ้นเวที Yoo Festival พร้อมกันทั้งหมด
เดิมทีแผนการโปรโมทของวง EXO คือการใช้รูปแบบเกาหลี-จีน ทำให้สมาชิกมีงานที่แยกกัน หลังจากการทำงานที่จีนเป็นเวลานาน เลย์ สมาชิกฝั่ง M ได้ประกาศว่าจะไม่ต่อสัญญากับค่ายอีก แต่ยืนยันว่าพร้อมเสมอสำหรับการทำงานร่วมกันในฐานะ EXO ในขณะเดียวกัน ดีโอ (โดคยองซู) ก็ได้สิ้นสุสัญญาเดิมและเริ่มต้นหับค่ายใหม่เป็นที่เรียบร้อย
ส่วนซิ่วหมิน,แบคฮยอน และเฉิน สมาชิกยูนิต CBX หลังจากหารือเรื่องการฟ้องร้องได้ แบคฮยอน ก็ก่อตั้งค่ายตัวเองที่ชื่อว่า INB 100 ร่วมกับครูสอนเต้นแคสเปอร์ พร้อมทั้งดึงซิ่วหมินและเฉิน เข้าร่วมสังกัด
บอยกรุ๊ปเจ้าของฉายาสัตว์ป่าอย่าง 2PM ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการเดี่ยวของแต่ละคน โดยหลังจากการปลดประจำการทหาร แทคยอน ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับค่าบใหม่ และยืนยันว่าจะยังมีการโปรโมทในฐานะ 2PM ต่อไปในอนาคต ส่วนชานซอง น้องเล็กของวงได้เปิดเผยว่าจะไม่เซ็นสัญญากับเจวายพีต่อ
โดยล่าสุดสมาชิกวงได้ไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับ เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปีเดบิวต์ พร้อมทั้งมีแผนจัดคอนเสิร์ตอีกด้วย ทั้งนี้สำหรับเคสของ 2PM คือสมาชิกและประธานค่ายยังคงมีความสัมพันธ์อันดีงาม ทำให้หากต้องการโปรโมทในฐานะวง สามารถทำได้ตามแผนที่สมาชิกวงต้องการ
4 สาวมหัศจรรย์จากค่ายเล็กอย่าง RBW Entertainment ที่พาค่ายมีชื่อเสียงและเงิน สุดท้ายสองน้องอย่างฮวีอิน และฮวาซา ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับค่ายเดิม แต่ยังเลือกโปรโมทร่วมกันเป็นโปรเจกต์พิเศษ โดยฮวีอินตัดสินใจไม่ต่อสัญญาในปี 2021 แต่ยืนเวลาโปรโมทร่วมกับทีมไปจนปี 2023 และในปีเดียวกันฮวาซาก็ได้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับค่ายเดิมเช่นกัน
ทั้งนี้สมาชิกสองพี่สาวอย่าง โซลาร์ และมุนบยอล ก็ได้ทำเพลงร่วมกันในฐานะยูนิต และมีการชักชวนให้เมมเบอร์ทำกิจกรรมร่วมกันในฐานะวงอยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งให้สัญญาว่า หากมีโอกาสพิเศษจะได้เห็นทั้ง 4 คนในฐานะสมาชิกวง MAMAMOO อย่างแน่นอน
เดิมทีสมาชิกของวง A-pink เปิดตัวด้วยกันทั้งหมด 7 คน ก่อนที่สมาชิกหนึ่งคนจะถอนตัวไป สมาชิกดำเนินกิจกรรมกลุ่มแบบ 6 คน ต่อไป จนกระทั่งปี 2021 ค่าย IST Entertainment (เดิมชื่อ A Cube Entertainment และ Play M Entertainment) ได้ประกาศการสิ้นสุดสัญญาของนาอึน โดยยังคงโปรโมตร่วมกันในฐานะวง ก่อนที่จะมีประกาศอีกครั้งถึงการถอนตัวออกจากวง หลังเดินรวมทางกันมา 11 ปี
จากนั้นในปี 2023 สมาชิกอีก 4 คน ได้แก่ โชรง, โบมี, นัมจู และฮายอง ได้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ IST หลังจากอยู่ร่วมกันในค่ายเป็นเวลากว่า 12 ปี โดยค่ายจะเหลือเพียงอึนจีคนเดียว ภายหลังมีการเปิดเผยจากสมาชิกว่า การต่อสัญญาของอึนจีเป็นการต่อเพื่อให้ได้ใช้ชื่อวงต่อไป และจะยังสามารถทำกิจกรรมในฐานะเอพิงค์ได้เรื่อย ๆ
2NE1 ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้าข่ายการออกจากค่ายไม่ออกจากวง เพียงแต่ไทม์ไลน์ในการจัดการซับซ้อน หลังจากการเดบิวต์ในปี 2009 ช่วงที่พักวงในปี 2016 มินจีมักเน่ก็ได้ประกาศถอนตัวออกจากวง ก่อนที่จะมีประกาศยุบวงในปีเดียวกัน หลังจากนั้นสมาชิกได้แยกไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง จนกระทั่ง CL ให้เกียรติวงด้วยการเชิญสมาชิกร่วมแสดงที่ Coachella
นอกเหนือไปจากนี้ แม้วงจะไม่ได้โปรโมทต่อ ตั้งแต่มีการประกาศยุบวงและแยกย้ายกันไป แต่สมาชิกยังคงแสดงความรักต่อกันผ่านทางโซเชียลมีเดียหลายต่อหลายครั้ง ข่าวดีล่าสุดจากค่ายต้นสังกัดอย่าง YG Entertainment ผู้ถือลิขสิทธิ์ชื่อวงและเพลงอยู่ ก็ได้ประกาศว่า ในปีนี้สมาชิกวง 2NE1 จะกลับมาทำงานร่วมกันพร้อมกันทั้งหมด 4 คน
ดูจุน ดงอุน โยซอบ กีกวัง และอดีตสมาชิก ฮยอนซึง และจุนฮยอง เปิดตัวครั้งแรกภายใต้สังกัด CUBE Entertainment ในปี 2009 ในชื่อ BEAST หรือ B2ST จนกระทั่งเมื่อปี 2016 ดูจุน ดงอุน โยซอบ กีกวัง และอดีตสมาชิก จุนฮยอง ได้ตัดสินใจออกจากค่ายเดิม เปิดสังกัดของตัวเองในชื่อ Around Us Enertainment ส่วนฮยอนซึงยังกับค่ายเดิม
เนื่องจาก BEAST ชื่อเดิม ถือเป็นลิขสิทธ์ของค่าย รวมถึงชื่อแฟนคลับและสีของวงก็ด้วยเช่นกัน ทำให้สมาชิกทั้ง 5 ตัดสินใจโปรโมทด้วย Highlight ชื่อใหม่อย่างเป็นทางการ โชคดีที่เพลงส่วนใหญ่เป็นผลงานของสมาชิก ทำให้สามารถใช้ในการร้องเพลงได้ จากนั้นจุนฮยองได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากวงในปี 2019 เนื่องจากข่าวฉาวที่เกิดขึ้น สมาชิกจึงได้ดำเนินกิจกรรมต่อ 4 คน
ในปี 2024 มีข่าวดีจาก Highlight ที่ได้ประกาศผ่านทีเซอร์คอนเสิร์ตครั้งล่าสุดว่า สามารถใช้ชื่อ BEAST ในนามวงได้แล้ว โดยสมาชิกยืนยันว่าจะยังโปรโมทด้วย Highlight ต่อไป ส่วน BEAST ถือเป็นการทวงคืนชื่อเดิม เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการทำงาน
นี่เป็นเพียงกลุ่มไอดอลเกาหลี ออกค่ายไม่ออกวง ที่หยิบยกมาบางส่วนเท่านั้น ยังคงมีสมาชิกวงอื่น ที่แม้จะเปลี่ยนค่ายแล้วทั้งหมดทุกคน แต่ยังทำงานกลุ่มในฐานะนักร้องวงได้ อาทิ EXID, T-ARA, KARA ฯลฯ
จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมาทำให้ได้เห็นว่า ก่อนจะเป็นการออกจากค่าย โดยที่ทำงานวงเหมือนเดิม ปัญหาเรื่องสัญญาหรือเส้นทางการเป็นสตาร์มันยากเกินว่าที่หลายคนจะเข้าใจ สิ่งเดียวที่แฟนคลับจะสามารถทำได้นั่นก็คือ "การเดินเคียงข้างและพยายามซัพพอร์ตศิลปินให้ได้มากที่สุด"
Advertisement