วันที่ 31 มี.ค.68 เวลา 19.20 น. ความคืบหน้าที่ทางทีมพิสูจน์ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำตัวอย่างเหล็ก 7 ประเภท 28 เส้น จากจุดเกิดเหตุอาคารสตง.พังถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 มาทำการทดสอบแบบตรวจค่าทางเคมี และค่าทางกลที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเหล็กชิ้นเล็ก จะมีการนำไปตีให้แบนก่อน แล้วค่อยเอาไปตรวจแบบยิงค่าทางเคมี
การทดสอบและประมวลผลใช้เวลาราว 6 ชั่งโมง ก่อนที่ทีมพิสูจน์จากกระทรวงอุตสาหกกรรม ร่วมกันแถลงข่าวครั้งนี้ โดยนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า จากการสุ่มนำเหล็กตัวอย่างจากสถานที่เกิดเหตุมาตรวจสอบวันนี้ พบว่า มีทั้งเหล็กที่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้มาตรฐานจะมีมากกว่า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทีมงานจะเข้าพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม มาวิเคราะห์ให้ชัดเจน แต่ไม่ระบุชัดๆ ว่าต้องใช้ตัวอย่างเหล็กเท่าไหร่ ถึงจะทราบถึงมาตรฐานของเหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคาร
ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามถึงขนาดของเหล็กที่เป็นปัญหาและไม่ได้มาตรฐานว่า มีขนาดใดบ้าง ทีมที่ตรวจสอบแจ้งว่า ขอเข้าเก็บข้อมูลอีกครั้ง ทำให้วันนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหน้างาน เกรงจะมีผลต่อการพิสูจน์ในข้อเท็จจริง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าที่พบว่ามีปัญหาในเบื้องต้นวันนี้เป็นเหล็กประเภทไหน ไซส์ไหน
อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายได้มีการเปิดเผยบางส่วน ว่าตัวอย่างที่เก็บมาที่ไม่ได้มาตรฐานคือขนาด 32 มิลลิเมตรและ 20 มิลลิเมตร
ด้าน นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงผลทดสอบพบว่ามีเหล็กเส้นที่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เบื้องต้น พบว่าจากเหล็กเส้น 28 เส้น มีเหล็กเบา หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2 ตัวอย่างคือ เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร ที่ไม่ได้มาตรฐานมวลต่อเมตร และเหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร ที่ไม่ได้มาตรฐานค่ายิวในเรื่องแรงดึง ซึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นเป็นของบริษัทผู้ผลิตจีน ที่ทางกระทรวงเพิ่งดำเนินการปิดบริษัทไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และมีการยึดของกลางเหล็กเส้นมูลค่า 50 ล้านไว้ เนื่องจากตรวจสอบพบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
หลังจากนี้ทางทีมพิสูจน์จะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในบริเวณจุดเกิดเหตุเพิ่มและจะตามไปตรวจถึงที่โรงงานผลิตเหล็ก เพื่อดูว่ามีการลักลอบหรือไม่ และไปดูขนาดของเหล็กไซส์ดังกล่าวว่ามีขายที่ใดบ้าง รวมถึงจะต้องไปดูของกลางที่ ได้มีการตรวจยึดทางโรงงานไว้ ยังอยู่ครบหรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้เหล็กดังกล่าวจะมีการจำหน่ายไปก่อนที่จะมีการปิดโรงงาน หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็สามารถเอาผิดได้ตามพ.ร.บ. ของสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม และรวมถึงผู้จำหน่ายก็จะโดนดำเนินคดีด้วยเช่นกัน
Advertisement