(21 เม.ย. 2568) ที่บริเวณศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ทีมไทยแลนด์ หรือคณะเจรจาเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการปรับขึ้นภาษีกับทางรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะ ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเตรียมเจรจาในวันที่ 23 เม.ย. นี้ ได้มีการปรึกษาหารือด้านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของทางกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ จากสหรัฐฯ เพิ่ม เพื่อช่วยปรับดุลการค้าระหว่างกัน นำไปสู่ผลดีในการเจรจาหรือไม่ว่า เคยได้รับการปรึกษา เนื่องจากทุกหน่วยงานได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ให้ประเมินผลกระทบที่จะเกี่ยวข้องกับการปรับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้สรุปไปแล้วว่าดำเนินการอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ต้องรอดูผลการเจรจาของ นายพิชัย เสียก่อน โดยยืนยันว่า นายพิชัย ได้รับทราบข้อมูลจากทุกกระทรวง พร้อมทั้งหารือกับทีมที่ปรึกษาแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการเจรจาหารือครั้งนี้ และระบุว่ากระทรวงกลาโหม กับประเทศและกองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ยังมีการดำเนินความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิด สนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมทั้งดูแลกันและกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการภาษีตอบโต้ครั้งนี้ อาจส่งผลต่อการพิจารณาจัดซื้อเครื่องบิน F-16 จากสหรัฐอเมริกา แทนฝูงบิน Gripen จากสวีเดน หรือไม่อย่างไรนั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่อง F-16 ได้มีการคุยกับตัวแทนจากสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ คือจะให้ไทยกู้เงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อมาจัดซื้อฝูงบิน F-16 ซึ่งไทยไม่เคยดำเนินการในลักษณะนี้ คือการกู้เงินเพื่อมาซื้อเครื่องบินรบ ในขณะที่ภายในประเทศก็ยังคงมีปัญหาเรื่องอื่นๆ อยู่ ดังนั้น ไทยจึงไม่สามารถทำตามเงื่อนไขนี้ได้ รวมถึงขณะนี้ไทยยังมีฝูงบิน F-16 อยู่ 1 ฝูง ส่วน Gripen ที่กำลังจะจัดซื้อ 1 ฝูงนั้น ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ และยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะนี้ เป็นเพียงความต้องการของกองทัพอากาศ ซึ่งอยู่ในระหว่างการรับฟัง
นอกจากนี้ หากผลการเจรจามีแนวโน้มต้องจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เพิ่ม อาจมีการพิจารณาเป็นเครื่องบินลำเลียง แทนเครื่องบินรบหรือไม่ เนื่องจากเครื่อง C-130 ที่ประจำการอยู่ขณะนี้ก็มีอายุมากแล้ว นายภูมิธรรม ระบุว่า ยังคงต้องรอความชัดเจนถึงผลการเจรจา ข้อต่อรองต่างๆ และผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงแผนการปฏิรูปแห่งชาติของกระทรวงกลาโหม ส่วนแผนการจัดซื้อยานเกราะ Stryker จากสหรัฐฯ ของกองทัพบก ขณะนี้ยังไม่เห็นแผนการจัดซื้อชัดเจน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบ 2569 ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่ทราบว่าเหล่าทัพใดจะได้รับยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมอย่างไร
Advertisement