Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 1)

ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 1)

29 ธ.ค. 64
13:15 น.
|
2.7K
แชร์

ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 1) จากรัฐประการเมียนมา ถึงอิสราเอลรบปาเลสไตน์

ปี 2021 ก็เป็นอีกปีที่เกิดข่าวใหญ่ เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์สำคัญทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเรื่องความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อมรินทร์ทีวีออนไลน์ เลยจะพาไปย้อนดูว่าตลอดปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เด่นๆ อะไรบ้าง? 

01(1)

1.รัฐประหารเมียนมา เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกกี่ปี?

ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 กองทัพเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซานซูจี ซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ย.63 อย่างถล่มทลาย ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 920 จากทั้งหมด 1,117 ที่นั่ง โดยกองทัพอ้างว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นและขอเวลา 1 ปีเพื่อจัดเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมอีกครั้ง

กองทัพเมียนมาได้คุมขัง นางอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ประธานาธิบดี วิน มินต์ และผู้นำทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลพลเรือนหลายคน และมีแจ้งความผิดมากกว่า 10 ข้อหา เช่น เผยแพร่ความลับของประเทศ ทุจริตคอร์รัปชั่นโดยอ้างว่ารับสินบนจากต่างชาติ ทุจริตการเลือกตั้ง

การรัฐประหารครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ประชาชนชาวเมียนมา มีการออกมาประท้วงทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเคาะหม้อ นัดกันไม่ออกจากบ้าน แห่ถอนเงินจากธนาคาร จอดรถทิ้งไว้บนถนน ซึ่งผู้เข้าร่วมประท้วงมีทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ หมอพระสงฆ์ นางงาม ตำรวจบางส่วน รวมถึงดารานักแสดงดัง เช่น ไป่ ทาคน ซึ่งมีชื่อเสียงในประเทศไทย รวมถึงมีการตั้ง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อเป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับรัฐบาลทหารด้วย

กองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 ธ.ค.64 สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากฝีมือเจ้าหน้าที่แล้วอย่างน้อย 1,380 คน ถูกจับกุมดำเนินคดีอีก 8,298 ราย 39 ราย ต้องโทษประหารชีวิต

ขณะที่หลายประเทศต่างออกมาประณามการรัฐประหาร และประกาศคว่ำบาตร อาทิ สหรัฐฯ ที่ออกมาประกาศอายัดเงินสำรองของรัฐบาลที่ฝากไว้ในธาคารสหรัฐฯ และยุติให้การช่วยเหลือในทุกรูปแบบ ด้านท่าทีของชาติอาเซียน มีทั้งที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยและด้านที่มองว่าเป็นปัญหาภายในและรักษาจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มหลัง ต่อมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ และบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ ให้กองทัพยุติความรุนแรงโดยทันที เปิดเวทีเจรจาอย่างสร้างสรรค์ โดยอาเซียนจะเป็นสื่อกลางและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นและมีการปะทะต่อเนื่อง และในเดือน ส.ค. ผู้นำรัฐบาลทหาร ได้ประกาศขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงปี 2566 เพิ่มจากที่ขอไว้ 1 ปีเป็นประมาณ 2 ปีครึ่ง โดยในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน ต.ค.64 อาเซียนมีมติไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมเนื่องจากล้มเหลวในการทำตามฉันทามติที่ได้ตกลงไว้ โดยผู้นำรัฐบาลทหารพม่า โต้ว่าการปลุกปั่นความรุนแรงนั้นเกิดจากฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "กลุ่มก่อการร้าย" เป็นผู้ขัดขวางกระบวนการสันติภาพ  

ขณะนี้ความขัดแย้งภายในเมียนมายังเลวร้าย มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือน ธ.ค.นี้ เกิดการปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ทำให้ชาวพม่าจำนวนหลายพันต้องหนีตายมายังฝั่งประเทศไทย ขณะที่นางอองซานซูจี และผู้นำรัฐบาลเก่าก็ถูกตัดสินจำคุกในคดีแรกไปแล้ว ตอนนี้อีกไม่นานจะครบ 1 ปีการทำรัฐประหาร แต่ยังไม่มีวี่แววว่ากองทัพเมียนมาจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้สำเร็จ ซ้ำยังเกิดความสูญเสียในหมู่ชาวเมียนมาเป็นเท่าทวีคูณ ต้องจับตาดูกันต่อว่ากองทัพจะยอมถอยหรือไม่ และหากไม่ถอยจะทำตามสัญญาใหม่ 2 ปีครึ่งได้สำเร็จหรือต้องขอเวลาต่ออีกกี่ปี?

381270

2.เรือขวางคลองสุเอซ เรือลำเดียวทำการค้าทั้งโลกหยุดชะงัก

สัญลักษณ์ EVERGREEN เป็นที่คุ้นตาของพวกเราไปช่วงหนึ่ง หลังเมื่อ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือขนส่งสินค้า “เอเวอร์ กิฟเวน” ของบริษัทญี่ปุ่น โชเออิ คิเซน ไคฉะ ดำเนินการโดยบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน ของไต้หวัน เรือยักษ์ความยาว 400 เมตร กว้าง 58 เมตร ขนตู้คอนเทนเนอร์กว่า 2 หมื่นตู้ เกิดอุบัติเหตุถูกพายุทรายพัดเกยตลิ่ง ขวาง คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญของโลกในประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นทางลัดที่เชื่อมต่อทะเลแดงกับเมดิเตอร์เรเนียน ช่วยให้เรือไม่ต้องวิ่งอ้อมแอฟริกาทั้งทวีป ย่นระยะทางถึง 6,000-9,000 กิโลเมตร ลดเวลาเรือวิ่งได้อย่างต่ำ 2 สัปดาห์

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เรือสินค้าตกค้าง ไม่สามารถออกจากคลองได้มากกว่า 300 ลำ กระทบระบบโลจิสติกส์ของการค้าทั้งโลก ซึ่งใช้เส้นทางนี้ในการลำเลียงสินค้าราว 12% ต้องหยุดชะงัก ทางการอียิปต์เร่งขุดทรายกว่า 20,000 ตันออกจากบริเวณหัวเรือที่ติดลึกเข้าไปในตลิ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยน้ำถ่วงเรือออกจากเรือบรรทุกสินค้าลำนี้กว่า 9,000 ตัน เพื่อลดน้ำหนักของเรือ

ปฏิบัติการครั้งนี้ผ่านการลุ้นและเอาใจช่วยจากผู้คนทั่วโลก ใช้เวลากว่า 6 วัน จึงสามารถเคลื่อนเรือ เปิดทางสัญจรได้สำเร็จ แต่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล ทั้งยังกระทบห่วงโซ่อุปทานไปอีกหลายเดือนข้างหน้า โดยข้อมูลจากวารสารลอยด์ (Lloyd) ประมาณการว่า สินค้าที่ไหลผ่านคลองสุเอซแต่ละวัน มีมูลค่ามากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 281,646 ล้านบาท หากแปลงเป็นรายชั่วโมง ก็สูงถึงกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,518 ล้านบาท

หลังจากเคลื่อนย้ายเรือได้สำเร็จ สำนักงานบริหารจัดการคลองสุเอซได้กักเรือเอเวอร์ กิฟเวนเอาไว้ ไม่ให้ออกจากน่านน้ำอียิปต์ เพื่อตกลงค่าเสียหาย ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการกู้เรือ ค่าธรรมเนียมผ่านเส้นทางที่ทางการอียิปต์สูญเสียระหว่างเกิดเหตุ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการที่เรือต้องหยุดสัญจรทั้งขาเข้าและขาออก โดยมีรายงานว่า อียิปต์เรียกเงินชดเชยเป็นจำนวน  916 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.97 หมื่นล้านบาท) ก่อนที่ 25 พ.ค. จะ ต่อรองลดเหลือ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.79 หมื่นล้านบาท)

ท้ายที่สุด เรือเอเวอร์ กิฟเวน ได้แล่นออกจากคลองสุเอซ ในวันที่ 7 ก.ค.64  หลังทุกฝ่ายเจรจากันอย่างยากลำบากจนบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินชดเชย โดย สำนักงานบริหารจัดการคลองสุเอซ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดครั้งนี้ทำให้คลองสุเอซสูญเสียรายได้ 12-15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 389.52-486.9 ล้านบาท) ต่อวัน

594008

3.#AsianAreHuman เมื่อชาวเอเชียเป็นแพะรับบาปของโควิด-19 

การเหยียดเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในหลายๆ สังคม แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัดและรุนแรงกว่าปกติคือ การเหยียดเชื้อชาติเอเชีย อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในประเทศจีน จนทำให้มีบางกลุ่มกล่าวโทษว่าชาวเอเชียเป็นต้นเหตุของความลำบากที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ นำไปสู่การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  

สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI เปิดเผยว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 โดยในปี 2563 เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับปี 2562 และในปี 2564 ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียซานดิโอ พบว่า อาชญากรรมต่อชาวเอเชีย ใน 16 รัฐใหญ่ของสหรัฐฯ พุ่ง 164% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับข้อมูลจาก องค์กรยุติความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก (Stop AAPI Hate) พบมีการร้องเรียนจากชาวเอเชีย ถึงพฤติกรรมคุกคามหรือถูกทำร้าย มากกว่า 9,081 ครั้ง ในช่วง มี.ค.63 - มิ.ย.64 โดยพุ่งสูงเกือบ 3,000 เคส ในช่วง เม.ย.-มิ.ย.64 โดยมีตั้งแต่การคุกคามทางวาจา การทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ ไปจนถึงเสียชีวิต

เมื่อ 16 มี.ค.64 เกิดเหตุคนร้ายบบุกกราดยิงร้านสปาของชาวเอเชีย ในรัฐแอตแลนตา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนั้น 6 รายเป็นชาวเอเชีย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันยังมีการรายงานพบทำร้ายร่างกายชาวเอเชียอีกจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในจำนวนนั้นมีกรณีชาวไทย อย่างคุณตาวิชา รัตนภักดี วัย 84 ปี ที่ถูกวัยร่นผลักล้มเสียชีวิตในเมืองซานฟราซิสโกด้วย

กระแสการเหยียดเอเชียดังกล่าว ทำให้โลกออนไลน์ออกมาติดแฮชแท็ก #StopAsianHate #AsianAreHuman เรียกร้องให้ยุติอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม โดยมีคนดังหลายคนได้ออกมาร่วมเรียกร้องด้วย เช่น วง BTS, ริฮานนา, อาริอานา กรานเด, แอนน์ แฮททาเวย์ รวมถึงมีการเดินขบวนเรียกร้องในหลายพื้นที่ ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก

จากปัญหานี้ ในเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามผ่านร่างกฎหมายป้องปรามการเกิดอาชญากรรมจากกระแสการเกลียดชังชาวเอเชีย (Asian Hate) เพื่อปกป้องคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียและแปซิฟิก (AAPI) เร่งรัดตรวจสอบการกระทำผิด การบังคับใช้กฎหมายและรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนถึงปัญหาดังกล่าว

255825

4.สมรภูมิเลือด 11 วัน อิสราเอล ปะทะ ปาเลสไตน์

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหตุความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล” และ “ปาเลสไตน์” ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดย่อมอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นภาพอันน่าสะพรึงกลัว เมื่อต่างฝ่ายต่างระดมยิงจรวดใส่กันหลายพันลูก จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 

ชนวนเหตุการปะทะในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังชาวอิสราเอลใช้สิทธิความเป็นเจ้าของที่เดิมไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่งออกจากเยรูซาเลม ทำให้ไฟความขัดแย้งเริ่มคุกกรุ่นอีกครั้ง ก่อนจะปะทุอย่างรุนแรงหลังเหตุจลาจลในมัสยิดอัลอักศอ ในเยรูซาเลม เมื่อ 9 พ.ค.ทหารอิสราเอลเข้าไปไล่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งกำลังประกอบศาสนพิธีในเดือนรอมฏอน จนเกิดเป็นความวุ่นวาย มีการใช้กำลัง แก๊สน้ำตา มีชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บมากกว่า 300 ราย เจ้าหน้าที่อิสราเอลบาดเจ็บอีก 21 ราย

ต่อมา 10 พ.ค.64 กลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งเป็นผู้ปกครองปาเลสไตน์ ประกาศโต้ตอบโดยทันที เปิดฉากยิงจรวดหลายร้อยลูกจากฐานที่ตั้งในฉนวนกาซ่าเข้าไปในพื้นที่ของอิสราเอล แต่ด้วยวิทยาการทางการทหารที่ก้าวหน้ามากกว่า ทำให้ส่วนใหญ่ถูกป้องกันไว้ได้ด้วย "ไอรอนโดม" ขณะที่อิสราเอลโจมตีกลับ โดยการยิงจรวดเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซ่า ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

การโจมตีทางอากาศของทั้ง 2 ฝ่าย ได้กลายเป็นสงครามขนาดย่อมที่ดำเนินไปกว่า 11 วัน มีการยิงจรวดขีปนาวุธใส่กันมากกว่า 5 พันลูก ท่ามกลางการเรียกร้องขอให้ยุติจากนานาชาติ จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีอิสราเอล มีมติให้ร่วมหยุดยิงทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้ อียิปต์ เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งกลุ่มฮามาสก็เห็นชอบ จึงได้มีการลงนามร่วมหยุดยิง ในวันที่ 21 พ.ค.64

จากการปะทะกันครั้งนี้ มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 232 คน ขณะที่ฝั่งอิสราเอลเสียชีวิต 12 คน ในจำนวนนั้นมีแรงงานชาวไทยด้วย 2 คนด้วย อย่างไรก็ดีความขัดแย้งของทั้งชนชาติร้าวลึกมายาวนาน หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้ก็คงเป็นการสงบศึกเพียงชั่วคราว รอการปะทุเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  

181451

5.โตเกียวโอลิมปิก 2020 มหกรรมกีฬาโลก แบบนิวนอร์มอล

เข็นจัดจนได้ สำหรับมหกรรมกีฬาโลก โตเกียวโอลิมปิก 2020 จากกำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม 2020 แต่ต้องเลื่อนออกมาอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทางผู้จัดต้องออกมายืนยันแล้วยืนยันอีกว่าจะไม่มีการยกเลิกอย่างแน่นอน  ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากชาวญี่ปุ่น ที่ห่วงว่าจะทำให้วิกฤตโรคระบาดหนักขึ้นกว่าเดิม

โตเกียวโอลิมปิก 2020 จัดขึ้นในช่วงวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค. 64 ภายใต้คำขวัญ “United by Emotion” หรือ ความรู้สึกหลอมรวมเป็นหนึ่ง โดยต้องการสะท้อนคุณค่าของกีฬาโอลิมปิกที่โอบรับความแตกต่าง เน้นย้ำพลังของกีฬาที่นำพาผู้คนซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างให้มาเจอกัน และเปิดทางให้ทุกคนได้เชื่อมถึงกันและเฉลิมฉลองร่วมกันในวิถีทางที่ก้าวข้ามความแตกต่างดังกล่าวนี้ 

พิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก นำเสนอจุดเด่นและสีสันวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทั้ง “มังงะ” หรือ การ์ตูนญี่ปุ่น และเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก รวมถึงนำเสนอถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย รถยนต์บินได้ด้วยไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็นพลังงานในโลกยุคหน้า และนำเสนอเรื่องราวการพลิกฟื้นประเทศหลังภัยพิบัติต่างๆ ทั้งสึนามิ หรือแผ่นดินไหว เพื่อสื่อว่า ประเทศญี่ปุ่นไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ

ขณะที่ในการแข่งกีฬาครั้งนี้ ก็ได้สร้างปรากฏการณ์มากมาย ตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่งอย่าง หมู่บ้านนักกีฬาที่ใช้ “เตียงกระดาษ” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่บรรดานักกีฬากลับแห่ทดสอบความแข็งแรงของเตียงจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ หรือเรื่องราวความประทับใจจากการแข่งขัน อย่างการแบ่งเหรียญทองระหว่างอิตาลีและกาตาร์ ในกีฬากระโดดสูงหลังทั้งคู่ทำสถิติได้เท่ากันและขอร่วมแชร์ชัยชนะแทนการแข่งขันใหม่ การถอนตัวของ ซีโมน ไบล์ส นักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของ 4 เหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ 2016 เนื่องจากปัญหาทางสภาพจิตใจ ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาตระหนักถึงสุขภาพจิตของนักกีฬามากขึ้น หรือการแข่งขันกีฬาประเภทใหม่ๆ อย่าง เซิร์ฟบอร์ด คาราเต้ ปีบผา และสเก็ตบอร์ด ที่เจ้าของเหรียญทองและเหรียญเงิน เป็นเด็กหญิงวัยเพียง 13 ปีเท่านั้น

โตเกียวโอลิมปิก 2020 ปิดฉากที่ สหรัฐฯ สามารถคว้าเหรียญรางวัล เป็นอันดับ 1 ที่ 113 เหรียญ ตามมาด้วยจีน 88 เหรียญ และญี่ปุ่น 58 เหรียญ ขณะที่ ทัพนักกีฬาไทยคว้ามาได้ 2 เหรียญ แบ่งเป็น 1 เหรียญทอง จากเทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง จาก "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ซึ่งถือเป็นเหรียญทองแรกของกีฬาเทควันโดไทย และ 1 เหรียญทองแดง จากมวยสากลรุ่น 60 กิโลกรัมหญิง จาก "แต้ว" สุดาพร สีสอนดี 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

- ปาเลสไตน์ ดับทะลุ 200 อิสราเอล อ้างสังหารผู้นำในกาซา แรงงานไทยตาย 2
สปิริตโอลิมปิก! โมเมนต์ประทับใจ โตเกียว 2020 เมื่อน้ำใจนักกีฬายิ่งใหญ่ไม่แพ้ชัยชนะ
พบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 30 ศพ ถูกเผาเกรียม ในรัฐกะยา ของเมียนมา

Advertisement

แชร์
ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 1)