วันที่ 19 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวโน้มการประกาศลดระดับเตือนภัยการระบาดโควิด -19 จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 3 เพราะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะการติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงนั้นทางเราไม่ค่อยกลัว แต่ที่กลัวคือการระบาดมาก จะทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งตามหลักวิชาการโอมิครอนต้องดู 4 รอบการติดเชื้อถึงจะสามารถคำนวนตัวเลขทางสถิติได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการติดเชื้อโอมิครอนสะสมประมาณ 1 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 60 % ของเชื้อที่ระบาดไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่ 95-96 % อาการน้อย ส่วนที่มีอาการมากมีประมาณ 2-3 % ส่วนกรณีเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอนตอนนี้ยืนยันที่ 2 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประตัว และมีอีก 1 ราย ที่ติดเชื้อโอมิครอนอาการรุนแรง แต่มีปัญหาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และวัณโรคลงปอด ดังนั้น เราจะเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ากรณีที่อาการหนัก หรือกรณีที่เสียชีวิตนั้นนั้นเป็นเพราะต้นทุนสุขภาพเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะเชื้อโอมิครอน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมการติดเชื้อระลอกล่าสุดสถานการณ์ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเลยจุดพีคไปแล้วหรือยัง แต่คาดว่าสถานการณ์คงเป็นไปในระดับนี้ และแนวโน้มจะต่ำลง
ส่วนกรณี การเปิดให้เข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง สธ.จะเสนอมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการเสนอเพิ่มมาตรการแน่นอน เพราะตอนนี้ยังพบการติดเชื้อของคนเดินทางเข้าประเทศจึงต้องมีมาตรการเพิ่ม โดยเฉพาะค่าตรวจ RT-PCR ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจในครั้งที่ 2 คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นในการเปิด Test & Go จะต้องให้ผู้เดินทางเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งจะตรวจ 3 รอบ คือ วันแรกที่เดินทางถึงไทย ครั้งที่ 2 ตรวจภายใน 7 วัน และครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังต้องให้มีการซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาตามหลักเกณฑ์ของประเทศไทยทุกระบบ จากเดิมที่ครอบคลุมเพียงการเข้ารักษาที่รพ.เท่านั้น หากบริษัทประกันต่างชาติที่ซื้อมาไม่ครอบคลุม ก็ต้องให้ซื้อเพิ่มที่ประเทศไทย
ถามถึงกรณีการลดวันกักตัวของกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์สาธารณสุข (EOC) เห็นชอบแล้วว่า ลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วัน คือ ให้มีการกักตัว 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK วันที่ 5 หรือ 6 เมื่อกักตัวครบ 7 วันแล้ว สามารถออกมาทำกิจกรรมใช้ชีวิตปกติได้ แต่ให้เฝ้าระวังตัวเอง และลดการเจอผู้คนให้น้อยที่สุดเป็นระยะเวลาอีก 3 วัน จากนั้นให้ตรวจ ATK ในวันที่ 10 อีกครั้ง
Advertisement