'ดีอีเอส' แนะ พลเมืองดี ถ่ายคลิปได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือโพสต์ด้วยตนเอง เสี่ยงผิด PDPA ละเมิดสิทธิของคนอื่น อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม เปิดเผยถึงกรณีที่ประชาชนอาจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 เกรงว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น พบว่า หนึ่งในข้อกังวล กรณีพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติแล้วถ่ายภาพหรือคลิปเป็นเป็นหลักฐานจะทำได้หรือไม่
ในกรณีนี้ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือโพสต์ด้วยตนเอง เพราะอาจจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ควรส่งหลักฐานเหล่านั้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
ย้ำว่ากฎหมาย PDPA มุ่งที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลของพี่น้องประชาชนที่เคยให้กับร้านค้า หน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานเหล่านั้น ต้องเก็บข้อมูลของประชาชนให้ดี ไม่ให้รั่วไหล ถ้าจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล และห้ามนำไปใช้ทำให้ประชาชนหรือเจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย
"ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสำคัญของตัวท่านเอง เวลาท่านให้ข้อมูลกับบุคคล ร้านค้า หรือหน่วยงานต่างๆท่านมีสิทธิที่จะไม่ยินยอมให้นำข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล ร้านค้าหรือหน่วยงานไม่มีสิทธินำข้อมูลไปเปิดเผย หากนำไปเปิดเผยจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA ประชาชนควรติดตามหากมีใครนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ท่านให้ไว้ไปใช้ หรือนำไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเราสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมายPDPA” รมว.ดีอีเอส กล่าว
ข้อมูลจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ทุกคนควรรู้ เริ่มแล้ววันนี้ !
-"แอนนา" ขอใช้สิทธิ PDPA หลังถูกตม.ถ่ายคลิปตั้งแต่ลงจากเครื่อง
-ทนายตั้ม โพสต์แนะพลเมืองดี ถ่ายคลิปเป็นหลักฐานยังไงให้ไม่ซวย ไม่ผิดกฎหมาย PDPA
Advertisement