Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ที่สุดแห่งปี 2567 ย้อนรอย 10 เหตุการณ์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ที่สุดแห่งปี 2567 ย้อนรอย 10 เหตุการณ์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

31 ธ.ค. 67
00:01 น.
|
591
แชร์

ย้อนรอย 10 เหตุการณ์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปี 2567 หลายปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข คนไทยยังต้องเผชิญเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี

เรากำลังจะบอกลาปี 2567 ปีมังกร แล้วก้าวเข้าสู่ปี 2568 ปีมะเส็ง หรือปีงูเล็ก แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องของภาวะโลกร้อน ป่า น้ำ อากาศ สัตว์ สารเคมี ฯลฯ โดยปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่เราขอย้อนรอยมาให้ระลึกความทรงจำ และเพื่อช่วยกันติดตามแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก

• ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์รุกล้ำน่านน้ำไทย

ในช่วงกลางปี 2567 หลายพื้นที่ในประเทศไทยพบการระบาดของปลาหมอคางดำ สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร และกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ ซึ่งปลาหมอคางดำถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น เอเลียนสปีชีส์ ที่ต้องเฝ้าระวัง ต่อมามีการนำเสนอว่าเมื่อปี 2553 มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลา จนกระทั่งปี 2555 ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาบริษัทเอกชนรายนี้ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการแพร่ระบาด ทุกอย่างได้ทำตามขั้นตอน ถูกต้องตามกฎหมาย และยินดีร่วมมือกับทางรัฐจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ

รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ยังออกมาตรการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร และนำมาปรุงเป็นเมนูใหม่ๆ ให้ประชาชนได้เอาสูตรไปลองทำรับประทาน อย่างไรก็ตาม ปลาหมอคางดำก็ยังคงแพร่ระบาดเช่นเดิม ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําและกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมกว่า 1,400 คนได้ร่วมกันฟ้องร้องบริษัทเอกชนและกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม รวมเป็นเงินกว่าหลายพันล้านบาท โดยระบุว่าพวกตนได้รับผลกระทบ การประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงถูกปลาหมอคางดำรุกราน จึงสมควรได้รับการเยียวยา ซึ่งล่าสุด ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 21, 24 และ 31 มกราคม 2568 เนื่องจากจำเลยยื่นคัดค้าน

• คนไทยตื่นเต้น ค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

วันที่ 3 ม.ค. 2567 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่าได้สำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่อำเภอตำกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา คาดว่ามีจำนวนมากอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา โดยแร่ลิเทียมสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้

ข่าวนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะหวังว่าจะมีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่อื่นๆ ได้อีก และสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม การจ้างงานอีกมากมายมหาศาล แต่แล้วผ่านไปไม่กี่วันก็ฝันสลายเพราะรัฐบาลออกมายอมรับว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน พร้อมขอโทษอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาสร้างข่าวเท็จ ด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าการค้นพบแร่จากหินแข็งในพื้นที่มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ประมาณ 14.8 ล้านตัน ซึ่งแร่ที่พบเป็นแร่เลพิโดไลต์ การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันตับต้นๆ ของโลกได้

• ป่าทับลาน พื้นที่พิพาท 2.6 แสนไร่ ระหว่างชาวบ้านและรัฐ

เป็นประเด็นร้อนบนโซเชียลมีเดียช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อมีการติด #Saveทับลาน หลังมีข่าวว่าจะมีการเฉือนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานถึง 2.6 แสนไร่ ให้กลายเป็นของ ส.ป.ก. จนเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้เกิดจากแผนที่ของ 2 หน่วยงานไม่ตรงกันจนเกิดข้อขัดแย้งว่าพื้นที่นั้นเป็นของใครกันแน่ ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้ามาทำกินได้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งระบุว่าเป็นเขตอุทยานชาวบ้านไม่สามารถรุกล้ำได้

ด้วยข้อขัดแย้งนี้ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ให้ใช้ ONE MAP หรือการปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 เป็นแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 เพื่อให้เป็นแผนที่ดิจิทัลที่ให้ทุกหน่วยงานราชการใช้ร่วมกันซึ่งหากมีการปรับปรุงตามแนวเขตใหม่จริง จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไป 265,266 ไร่ และพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นของ ส.ป.ก. ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีสิทธิถือครองที่ดิน และส่งต่อเป็นมรดกแก่ทายาทได้ แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินได้ตามกรอบกฎหมายแต่ไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน

นอกจากนี้ การให้เพิกถอนพื้นที่อาจผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และยังมีคดีเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการรวม 495 คดี อาจเป็นการเอื้อให้นายทุนเข้ามาซื้อขาย บุกรุก แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนมากระบุว่าอยู่อาศัยตรงนี้มานาน หากถูกอุทยานฯ ประกาศเพิกถอนอาจทับที่ดินของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ทำให้หลายฝ่ายยังต้องมาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี

• ปฏิบัติการจับลิงย้ายบ้าน ก่อนที่ลพบุรีจะกลายเป็นเมืองร้าง

เมื่อพูดถึงลพบุรี หลายคนย่อมนึกถึง "ลิง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองมานาน แต่ด้วยจำนวนลิงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการแบ่งแยกพวก แยกฝูงเปิดศึกทะเลาะกัน และยังบุกรุกเข้าบ้านเรือน กิจการร้านค้าของประชาชนทำให้พื้นที่บริเวณรอบๆ พระปรางค์สามยอดและศาลพระกาฬซึ่งเป็นแหล่งที่ลิงอาศัยอยู่ กลายเป็นเมืองร้าง ต้องทิ้งตึกรามบ้านช่องเพราะทนลิงก่อกวนไม่ไหว นอกจากนี้ประชากรลิงที่หนาแน่นทำให้ลิงเหล่านี้ขาดแคลนอาหาร จึงมักเห็นพฤติกรรมการแย่งชิงข้าวของ อาหารจนเป็นที่เอือมระอา ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ขายหรือประชาชนต้องพกอาวุธประจำกาย เช่น ไม้ หนังสติ๊ก ปืนอัดลม เอาไว้ขับไล่ลิง

ด้วยเหตุนี้ทำให้จังหวัดลพบุรีต้องเปิดยุทธการ “ปิดเมืองจับลิง” คืนความสุขให้กับประชาชน ซึ่งสามารถจับลิงไปแล้วนับพันตัวเพื่อทำประวัติ ตรวจโรค และทำหมัน ก่อนย้ายให้ไปอยู่ในสถานอนุบาลลิงลพบุรี หรือ สวนลิงโพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี ส่งผลให้ลิงในเขตเมืองเก่าลดลงมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านเริ่มกลับมามีความสุข เนื่องจากลิงที่เคยสร้างปัญหาได้ถูกจับไปแล้ว บรรยากาศการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

• ชาวบ้านผวา! พบกากแคดเมียม 15,000 ตัน ในโรงงานสมุทรสาคร

วันที่ 4 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พบกากแคดเมียมบรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก จำนวนกว่า 1,636 ถุง รวมน้ำหนักประมาณ 15,000 ตัน กองอยู่ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน ซึ่งแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่มีพิษ หากสัมผัสในปริมาณมากอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูก และระบบประสาท เจ้าหน้าที่จึงได้ออกประกาศห้ามบุคคลเข้าพื้นที่โรงงาน 90 วัน และสั่งให้นำกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบที่ต้นทางจังหวัดตาก ต่อมามีการขยายผลจนพบว่าเจ้าของโรงงานยังนำกากแคดเมียมประมาณ 300 ตัน มาเก็บไว้ที่โรงงานในย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดตากซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกากแคดเมียมได้คัดค้านการย้ายแคดเมียมกลับมาฝังกลบเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจในเรื่องของกระบวนการขนย้าย ฝังกลบ ว่าปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานทำให้ชาวบ้านยอมให้ขนกลับมาได้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มการขนย้ายกากแคดเมียมจากโรงงานในช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 29 เมษายน จนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยใช้รถขนส่งเป็นรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ปิดคลุมมิดชิด ทั้งหมด 441 เที่ยว มีปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ขนย้ายกลับโรงพักคอยจังหวัดตาก รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,568 ถุง วัดน้ำหนักได้ 12,912 ตัน หากเปรียบเทียบกับปริมาณกากตะกอนแคดเมียม ที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก 13,800 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 6.43 และหากเปรียบเทียบกับประมาณการณ์ปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบในทุกพื้นที่รวม 12,948 ตัน คิดเป็นส่วนต่างร้อยละ 0.28 ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำหนักที่แตกต่างจากปริมาณที่แจ้งนำออกจากโรงงานต้นทางจังหวัดตาก เป็นผลมาจากปริมาณความชื้นที่ระเหยไปจากการเก็บกองถุงกากตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะเวลานาน

• ฝนถล่มไทย เหนือ-ใต้ เจอน้ำท่วมหนักในรอบหลายปี

ปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หลายพื้นที่เจอฝนถล่มตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยในเดือนสิงหาคม พื้นที่ภาคเหนือเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ท่วมหนัก หลายบ้านน้ำมิดหลังคา มาแรง มาเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว ประชาชนติดค้างนับพันชีวิตรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานว่าอุทกภัยครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 19 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 45 คน และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 43,535 ครัวเรือน

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ภาคใต้ของไทยก็ต้องเจอกับพายุฝนที่โหมกระหน่ำ ทำให้จังหวัดยะลาน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 37 ปี บางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร จากนั้นมรสุมได้ทวีความรุนแรงจนเกิดน้ำท่วม 11 จังหวัด 118 อำเภอ โดย ปภ.ระบุว่า บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 780,272 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 35 ราย โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท ประชาชนสามารถจัดเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ทั้งแบบ Onsite ยื่นด้วยตนเอง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ประสบภัย และแบบ Online ผ่านเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th

• หญ้าทะเลขาดแคลน-สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ "พะยูนไทย" วิกฤติตายต่อเนื่อง

เมื่อปี 2566 มีการสำรวจประชากรพะยูน พบว่ามีอยู่ประมาณ 282 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 32 ตัว และฝั่งอันดามัน 250 ตัว อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 พบว่าพะยูนเกยตื้นตายไปแล้วถึง 32 ตัว โดยเดือนตุลาคมตายมากถึง 9 ตัว จากการชันสูตรหาสาเหตุโดยทีมสัตวแพทย์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า 3 ตัวขาดสารอาหารตาย และอีก 1 ตัว เกิดจากการติดอวนเครื่องมือของชาวประมง ส่วนที่เหลือไม่ทราบสาเหตุ ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์พะยูนไทยที่ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต

สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากแหล่งอาหารหลักของพะยูน คือ "หญ้าทะเล" กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะโลกเดือด มลพิษน้ำเสีย การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้หญ้าทะเลหลายพื้นที่เสื่อมโทรมและตายไป ส่งผลให้พะยูนขาดอาหาร ป่วย และเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคต นอกจากพะยูนแล้วยังส่งผลต่อระบบนิเวศที่เป็นห่วงโซ่ เช่น หอยชักตีน เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่น ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการจัดการปัญหามลพิษและควบคุมการใช้พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อให้พะยูนไม่สูญพันธุ์ และคงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแห่งนี้ต่อไปได้

• ฝนตกหนักในภูเก็ต ดินโคลนถล่มทับบ้านเรือน ดับ 13 ศพ

เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 22 ส.ค.67 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จนเกิดดินโคลนถล่ม ลงมาจากบนเทือกเขานาคเกิด ทับบ้านเรือนประชาชน-วิลล่าหรูในพื้นที่ ต.กะรน บริเวณซอยปฏัก 2 รวมทั้งหมด 4 จุด เป็นบ้านและห้องเช่ากว่า 50 หลัง และวิลล่าหรู 4 หลัง ได้รับความเสียหาย ถูกดินโคลนและต้นไม้โค่นถล่มลงมาทับพังราบเป็นหน้ากลอง เหตุการณ์ครั้งนี้ พบผู้เสียชีวิต 13 ราย ส่วนใหญ่ติดอยู่ตามห้องเช่า ทั้งนี้มีสามีภรรยาชาวรัสเซียเสียชีวิตอยู่ในวิลล่าหรู สภาพศพส่วนใหญ่จมอยู่ใต้โคลนและบ้านเรือนที่พังถล่มลงมาทับร่าง เนื่องจากเหตุเกิดตอนเช้ามืดกำลังนอนหลับสนิท นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 คน มีครัวเรือนได้รับผลกระทบ 209 ครัวเรือน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน

นายโสภณ ทองไสย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต (ปภ.ภูเก็ต) เผยว่าการก่อสร้างเชิงเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุร้าย เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการปลูกบ้านเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัย และกิจกรรมก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุของดินสไลด์โคลนถล่มนั้นไม่ได้มาจากการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะช่วงที่เกิดเหตุฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ดินดูดซับความชื้นส่วนเกินจนพังทลาย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวมีความลาดชันสูงสลับกับภูมิประเทศที่เป็นหินเก่ามาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน และทำให้พื้นดินลื่นและไม่มั่นคงมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

• เสือดำ โผล่ป่าใต้ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่าจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพแบบอัตโนมัติในท้องที่ป่าฮาลา - บาลา ฝั่งจังหวัดยะลา หมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เมื่อเปิดตรวจสอบดูพบภาพ เสือดำ กำลังเดินผ่านหน้ากล้อง 1 ตัว โดยเมื่อเดือนมกราคม 2565 ทาง อุทยานแห่งชาติบางลาง ได้ถ่ายภาพและถ่ายคลิปได้ ขณะที่ เสือดำ กำลังพาลูกน้อยเดินผ่านหน้ากล้องสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่าชายแดนใต้ จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าชายแดนภาคใต้

การมีอยู่ของ เสือดำ บอกถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเสือดำเป็นนักล่าที่อยู่ในอันดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในป่าเมืองไทย ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากรของสัตว์เล็กๆ เสือดำมักจะอาศัยอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ แสดงถึงสุขภาพของระบบนิเวศที่ยังคงดี เสือดำจึงถือเป็น "species indicator" ที่ช่วยบ่งชี้ถึงสภาวะของสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ เสือดำมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมของคนไทยและเป็นจุดสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจด้านธรรมชาติ การอนุรักษ์เสือดำยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทย ช่วยสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

• ฝุ่น PM2.5 ตัวการร้าย คร่าชีวิตคนไทย

ปัจจุบันสภาพอากาศ และฝุ่นควันพิษ PM2.5 ในภาคเหนือนับวันจะทวีความรุนแรงหนักขึ้น สาเหตุหลักมาจากอากาศพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ การเผาเศษวัสดุ ฯลฯ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างต้องเผชิญกับปัญหานี้มาหลายปีติดต่อกัน ส่งผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสุขภาพโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงมะเร็งปอดซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 2 โดยงานวิจัยระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี ขณะที่องค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เผยว่า ตั้งแต่ปี 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สูญเสียบุคลากรที่เป็นอาจารย์จากมะเร็งปอดไปแล้วถึง 4 ราย พร้อมตั้งคำถามว่ายังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5

ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยก็เผชิญกับฝุ่นพิษ PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว สร้างผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันช่วยกันปรับเปลี่ยน พฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี 5 วิธีดังนี้ 1.หมั่นทําความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น 2.งดเผาขยะ งดจุดธูป 3.ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง 4.เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และ 5.ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ตรวจสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดําเกินมาตรฐาน

Advertisement

แชร์
ที่สุดแห่งปี 2567 ย้อนรอย 10 เหตุการณ์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย