Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ป่วยซึมเศร้าเข้าวัดไม่หาย "ฉันต้องการหมอ" โจทย์ใหญ่ สธ. ในวันที่คนไทยตายพุ่งเพราะสุขภาพจิตแย่

ป่วยซึมเศร้าเข้าวัดไม่หาย "ฉันต้องการหมอ" โจทย์ใหญ่ สธ. ในวันที่คนไทยตายพุ่งเพราะสุขภาพจิตแย่

18 ส.ค. 67
10:56 น.
|
1.4K
แชร์

"จากที่เคยกินยานอนหลับครึ่งเม็ด จนไปจบที่ 4 เม็ด ก็ยังนอนไม่หลับ ปัญหาที่เกิดกับเราอีกสิ่งคือเรื่อง ค่าใช้จ่าย เพราะจุดสิ้นสุดของการรักษา โรคซึมเศร้า ไม่รู้ว่ามันจะจบที่ตรงไหน

สิทธิการรักษาแบบประกันสังคม ต้องรอคิวเพราะ รพ. มีหมอเฉพาะทางแค่คนเดียว อาการตอนนั้นเราเป็นหนักมากถึงขั้นเคยพยายามฆ่าตัวตาย ..."

เสียงที่สั่นเครือ พรั่งพรูมาพร้อมกับคำถามที่หวังอย่างสุดหัวใจ ว่าจะสะท้อนกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...

คุณแพน คือ 1 ในผู้ที่เผชิญกับความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย เพราะต้องต่อสู้กับยมฑูตไร้เงาที่ชื่อว่า โรคซึมเศร้า เธอเปิดใจกับทีมข่าวอมรินทร์ ออนไลน์ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเอง ซึ่งน้อยคนนักจะเข้าใจว่า

"ขอเท้าความก่อนว่า จุดเริ่มต้นที่เรามีอาการป่วย เพราะเมื่อก่อนเราเคยดูแลผู้ป่วยที่เป็นไบโพล่าร์ เราเหมือนกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ ทำให้เรามีภาวะเครียด ตอนแรกไม่คิดว่าจะถึงขั้นเป็นโรค คิดว่าเราคงมีอาการเครียด เป็นแล้วก็คงจะหายไป แต่เหมือนช่วงนั้น เราเจอสิ่งที่มันกระตุ้น กระทบกระเทือนทางจิตใจ  จากความเครียดเราก็เริ่มแยกตัวจากคนอื่น จนเรารู้สึกตัวว่าเราเริ่มไม่ไหวแล้ว

เริ่มนอนไม่ได้เป็นเดือนๆ ลองประเมินอาการตัวเองเบื้องต้นตามสื่อต่างๆ รวมทั้งจากของทาง รพ. มันเข้าได้กับทุกข้อ เลยตัดสินใจไปหาหมอ เพื่อให้ประเมินอีกครั้งว่าเราเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า ซึ่งผลอกมาก็คือ เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

เริ่มต้นการรักษา เราไปรักษาที่ รพ.เอกชน เพราะคิดว่าคงรักษาไม่นาน แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น และเริ่มมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่มันค่อนข้างเยอะ คือเดือนละ 1,800-2,000 บาท ก็เลยตัดสินใจใช้สิทธิประกันสังคม ก็ศึกษาข้อมูลและทราบว่าโรคนี้ว่าเราสามารถใช้สิทธิในการรักษาได้ แต่ปรากฎว่าคุณหมอมีคนเดียว แล้วต้องรอคิว ซึ่งอาการตอนนั้นเราเป็นหนักมาก นอนไม่ได้ ต้องพึ่งยานอนหลับ เริ่มแยกตัว หน้ามืด เป็นลม ล้มไปกระแทกกระเบื้อง เย็บไป 7 เข็ม และมีขับรถชนโดยที่เราไม่รู้ตัว จนหนักสุดของเราคือถึงขั้นเคยพยายามฆ่าตัวตาย ...

ปัญหาที่เกิดกับเราอีกสิ่งคือ ค่าใช้จ่าย เพราะจุดสิ้นสุดของการรักษา ไม่รู้ว่ามันจะจบที่ตรงไหน ยาที่เราได้รับ มันอยู่นอกเหนือรายการยาที่ประกันกลุ่มเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้เราต้องควักจ่ายเองทั้งหมด

 istock-1181078647

เมื่อ "โรค" รอไม่ได้ แต่เราต้อง "รอ" เพราะ ไม่มีหมอ

"ด่านแรกในการใช้สิทธิประกันสังคมคือ เราต้องพบกับหมอทั่วไปก่อน ซึ่งหมอทั่วไปทำอะไรให้เราไม่ได้ เพราะเราเป็นหนัก มันไม่ทันการณ์ นับตั้งแต่เริ่มรู้ตัวว่าป่วยกระทั่งรอได้คิวคุณหมอคือเกือบ 1 ปีเต็ม แต่ในระหว่างทางเราก็รักษากับ รพ.เอกชน แต่อาการไม่ดีขึ้น ก็เลยเปลี่ยนไปคลินิกเฉพาะทาง ซึ่งที่นั่นคุณหมอจะให้เวลากับเรามาก ไม่จำกัดเวลา ฟังเราจนจบ นี่คือข้อดีของการรักษาแบบจ่ายเงินเอง...

หลังจากเดินเรื่องจนได้คิวหมอแล้ว แต่โชคร้ายยาบางตัว อยู่นอกบัญชีประกันสังคม คุณหมอต้องทำเรื่องให้ แต่หากทำเรื่องไม่ผ่าน เราก็ต้องจ่ายเงินเอง"

ถามว่าคนที่ป่วยอยากได้อะไรมากที่สุด

ก็ต้องตอบเลยว่าอยากให้การเข้าถึงการรักษาเร็วกว่านี้ เรารู้สึกว่ามันช้า มีทางออกเดียวก็คือเอกชน ซึ่งเอกชนถ้าไม่มีเงิน ก็คือหมดสิทธิเลย ตัดช่องการเข้าถึงสิทธิการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการมันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ยิ่งคนรอบข้างไม่เข้าใจ ยิ่งหนักขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยมาแตะถึงจุดนี้ มันสามารถฆ่าตัวตายได้เลย

ส่วนหนึ่งเราก็เข้าใจนะว่า คุณหมอเฉพาะทางมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย หมอทั่วไปไม่สามารถรักษา จ่ายยาให้ได้ เพราะเป็นยาจิตเวช อีกทั้งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละคนถูกกับยาแบบไหน

 istock-989387872

โรคซึมเศร้าเข้าวัดนั่งสมาธิไม่หาย

"คนที่เขาไม่ได้ป่วยโรคนี้ เวลาที่เขามองเราอาจมองว่าเป็นเพราะเราเครียด แต่อยากจะบอกว่า ไม่ต้องพูดอะไรก็ได้ บางทีแค่รับฟังเราด้วยใจจริงก็พอแล้ว ไม่ต้องไล่ให้เราไปวิปัสสนาหรืออะไร บางทียิ่งบอกเรา เรายิ่งรู้สึกไร้ค่า มีบ่อยมากที่ไล่เราไปนั่งสมาธิ สวดมนต์ ถ้าเรามีสมาธิขนาดนั้น ทำไมเราจะไม่ทำ ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากทำ เราเองก็ช่วยตัวเราเอง เวลาที่เราเป็น อาการของโรคมันทำให้ตัวเราไม่นิ่ง เราไม่มีสมาธิ ถ้าคุณบอกให้เราไปวัด เราแค่หวังว่าคุณจะไปเป็นเพื่อน ไม่ใช่ไล่ให้เราไปคนเดียว ถ้าสวดมนต์แล้วหายได้ จะมีหมอรักษาโรคนี้หรือ

เราอยากฝากไปถึงคนที่เป็นอยู่ หรือกำลังคิดสงสัยว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าไหม อยากให้ไปปรึกษาหมอ เพราะมันคือหนทางที่ดีที่สุด เพราะจะหมอวินิจฉัยได้ว่าเราเป็นแค่ภาวะเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่ และอยากให้คนในสังคมมีความเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้มากกว่านี้  การที่ไล่ให้เขาไปเข้าวัดสวดมนต์ มันยิ่งตอกย้ำในความรู้สึกของผู้ป่วยให้ยิ่งไร้ค่า เพราะอย่าลืมว่าการที่ต้องต้องต่อสู้กับความคิดด้านลบของตัวเองก็เหนื่อยแล้ว บางครั้งการพูดอาจเท่ากับไปซ้ำเติม คนที่ป่วยโรคนี้ บางครั้งขอแค่กอด ตบไหล่เราก็เพียงพอแล้ว ให้เรารู้ว่ามีคนเข้าใจอย่างจริงใจ" คุณแพนกล่าวปิดท้าย

 istock-1064027420

10  กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)  โดยเริ่มประกาศเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. 2546  

มีข้อมูลจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลก มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตมีปริมาณมากขึ้น และคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิต จะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด

โดยในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 ราย

สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย มาจาก

1. ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 50%

2. ปัญหาเรื่องสุขภาพ 30%

3. ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อื่นๆ 20%

ข้อมูลจากรายงานศูนย์ข้อมูลสุขภาพ สธ. พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจาก 30,247 คน ในปี 2562 เป็น 33,891 คน ในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันกับสถานการณ์ทั่วโลก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่จำนวนของบุคลากรด้านสุขภาพจิต กลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี

 istock-968637328

สาเหตุหนึ่งของปัญหาจิตแพทย์ขาดแคลน มาจากกระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยาก และใช้เวลานาน ต้องรอจนกว่าแพทย์เรียนจบหลักสูตร 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี จึงจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี

นอกจากระยะเวลาในการเรียนแล้ว ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง คือการขาดแคลนอาจารย์ เพราะจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ในการเรียนการสอน ด้วยอัตราเช่นนี้ ทำให้การเพิ่มจำนวนของแพทย์ทำได้ช้า เพราะคนที่อยู่ในระบบมีน้อย

"การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอาจไม่ตอบโจทย์ ปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องของทุกคน กรมสุขภาพจิต สธ. จึงหันมาร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น ทำงานสุขภาพจิตร่วมกับ อสม.ที่มีอยู่ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ การทำงานร่วมกับ มสช. สสส. และภาคีเครือข่าย ในการฝึกให้ทุกคนในชุมชน เป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต และเริ่มทำงานตั้งแต่ระดับครอบครัว ให้สามารถสังเกตอาการโรคพื้นฐาน เช่น โรคซึมเศร้า สัญญาณการฆ่าตัวตาย มีทักษะการรับฟัง การให้กำลังเชิงบวก 

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ HOPE Task Force หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้รอดชีวิตได้กว่า 400 คน ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการวัดการช่วยเหลือให้คนไม่ฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตาย ที่ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การส่งเสริมและป้องกันเป็นหน้าที่ทุกคน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน "

ขณะที่มุมมองของ นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา  กล่าวว่า  สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น มาจาก 2 สาเหตุหลักคือการรักษาดีขึ้น และการเข้าถึงเพิ่มขึ้น

"สาเหตุแรกมาจากการที่ผู้ป่วยมีการเข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะตอนนี้เรามีการทำงาน เป็นเครือข่ายระดับหมู่บ้านตำบล ทำให้การเข้าถึงบริการมากขึ้น คนไข้สามารถรักษาได้ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเรามีบุคลากรพยาบาลจิตเวชทุกโรงพยาบาลชุมชนแล้ว และ อสม. เชี่ยวชาญด้านจิตเวชทุกหมู่บ้าน  ฉะนั้นการเข้าถึงของประชาชนจึงเพิ่มขึ้น ทำให้มีคนไข้ที่ได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่ 2  คือ การยอมรับและความเข้าใจของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  สังคมยอมรับว่าการเจ็บป่วยทางจิตเวช เป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของคนไม่ดี หรือคนที่ผิดปกติ คนที่ไม่น่าคบ คนป่วยจึงมารับการรักษาทำให้การเข้าถึงก็มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน"

จากข้อมูลพบว่า การเข้าถึงการรักษาโรคซึมเศร้า จากเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนไทยเข้าถึงการรักษาแค่ 20 - 30% แต่ปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ 70 ถึง 80% แล้ว เรียกได้ว่าเกือบเท่ากับสหรัฐอเมริกา ที่ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา 90 %   เป็นผลมาจากการยอมรับของประชาชน

แต่แม้การเข้าถึงจะมากขึ้น เรื่องของเทคโนโลยีการรักษามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งมียาที่ดีขึ้น แต่ก็มีปัญหาที่ค่ารักษาและยาบางตัว ยังไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิการรักษาบางประเภท ทำให้มีความพยายามผลักดันยาให้เข้ามาระบบที่รองรับสิทธิค่ารักษา

"ปัญหาค่ารักษาและยาที่ไม่ได้ครอบคลุมในสิทธิการรักษาบางอย่างบางประเภท สถานการณ์ปัญหาตรงนี้ต้องยอมรับว่า ค่ารักษาทางจิตเวชถือว่าสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากยา อีกส่วนคือการทำจิตบำบัด ที่ยังต้องใช้คนอยู่ เหล่านี้มีค่าใช้จ่าย"

จิตแพทย์ยอมรับว่าสมัยก่อนภาพของคนไข้ ที่กินยาจิตเวชแล้วเดินตัวแข็ง ตาลอย น้ำลายไหล นั่นคือผลข้างเคียงของยา แต่พอหลังจากนั้นผลข้างเคียงก็น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาตัวยา ยิ่งหลังปี 2010 ยาชนิดใหม่ๆดีมาก ผลข้างเคียงมีน้อยมาก แต่ยาบางตัวราคาแพงเกินไป ก็ไม่สามารถเข้าบัญชียาหลักได้ กรมสุขภาพจิตและในงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะผลักดันให้เข้ากรมบัญชียาหลักอยู่ แต่ก็ติดเรื่องของระเบียบสาธารณสุขที่ต้องใช้ผลวิจัยอ้างอิงและการคำนวณความคุ้มทุน แต่ก็เป็นประเด็นที่กำลังมีความพยายามผลักดัน

"ยกตัวอย่างต้นทุนยารักษาจิตเภท เมื่อก่อนยาบางตัวเม็ดละ 50 บาท    ตอนนี้สามารถผลิตได้ในประเทศเหลือ 5 บาทก็จริง แต่ผู้ป่วยคนหนึ่งใช้ประมาณ 2-4 เม็ดโดยเฉลี่ย เดือนนึงจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 600 บาท เราก็พยายามใช้ยาที่เป็นยาพื้นฐานก่อนตามหลักการ ถ้าผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็จบ แต่ถ้าไม่ดี  เราก็ต้องขยับยาไป

ขณะที่สามารถเบิกได้เพียง 700 บาท ต่อครั้งโดยเฉลี่ย ต้องอย่าลืมว่าในการรักษาผู้ป่วย คนไข้อาจจะไม่ได้กินยาแค่ตัวเดียว อาจต้องกินตัวอื่นผสมด้วย เมื่อคำนวณไปคำนวณมา ค่ายาก็ไม่พอแล้ว อันนี้คือยาที่เราผลิตได้โดยบริษัทในประเทศ แต่ยิ่งยามีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะยิ่งแพงขึ้น  และบางตัวมีลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรยังอยู่ บางตัวยังไม่สามารถนำเข้าเป็นบัญชียาหลักได้ ยังเป็นยานอกบัญชีอยู่ สิทธิการรักษาบางสิทธิ เช่น ผู้ป่วยบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ยังไม่สามารถเบิกยากลุ่มนี้ได้ จึงเป็นข้อจำกัดของการรักษาที่เกิดขึ้นจริง"

และนี่คือข้อมูลที่สะท้อนซึ่งกันและกัน เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า โรคซึมเศร้าเข้าวัดไม่หาย ภาครัฐฯ ต้องทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุด เป็นกุญแจดอกสำคัญ ในการแก้ปัญหาเพื่อยุติการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

Advertisement

แชร์
ป่วยซึมเศร้าเข้าวัดไม่หาย "ฉันต้องการหมอ" โจทย์ใหญ่ สธ. ในวันที่คนไทยตายพุ่งเพราะสุขภาพจิตแย่