ใส่ถุงเท้านอน เพื่อสุขภาพ อันตรายหรือดีต่อสุขภาพอย่างไร มีข้อเสียอะไร เสี่ยงไหลตายจริงหรือไม่
หลายคนอาจสงสัยว่า ใส่ถุงเท้านอน สามารถช่วยให้หลับสบายขึ้น หรือเป็นอันตรายต่อตัวของเราตอนนอนหรือไม่ เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทย ทำให้คนไทยต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อน ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน จึงอาจไม่คุ้นชินกับการใส่ถุงเท้านอน ซึ่งดีต่อสุขภาพการนอนของเราเป็นอย่างมาก
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผ่าน อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า "การใส่ถุงเท้านอน" เป็นเรื่องปกติที่มักทำกันอยู่แล้วในประเทศเขตอบอุ่น เขตหนาว ซึ่งมีประโยชน์มากต่อการให้ความอบอุ่นต่อร่างกาย ทำให้นอนหลับเร็วขึ้น หลับสบายขึ้น (แถมดีต่อเรื่องอื่นๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์) และถ้ามีคำเตือนบ้าง ก็เป็นแค่บางกรณี (เช่น ร้อนไป หรือรัดแน่นไป) ซึ่งก็ไม่ได้จะร้ายแรงขนาด "โรคไหลตาย"
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ระบุว่าจากข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ใส่ถุงเท้า ขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคใหลตาย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีข้อมูลใดที่สามารถอธิบายเหตุผลได้ตามหลักวิชาการการแพทย์ จึงทำให้ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าใส่ถุงเท้าขณะนอนหลับแต่อย่างใด
จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2007 ระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ใส่ถุงเท้านอน ไม่ว่าจะถุงเท้าธรรมดาหรือถุงเท้าที่มีการให้ความร้อน จะนอนหลับได้เร็วขึ้น ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าการที่เราทำให้มือและเท้าอบอุ่นไว้นั้น จะช่วยทำให้หลอดเลือดในบริเวณดังกล่าวขยายตัว เป็นการช่วยระบายความร้อนผ่านผิวหนัง และลดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย (หรือ core body temperature ซึ่งปรกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส และจะลดลงในเวลากลางคืนเมื่อหลับแล้วประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส โดยจะถึงจุดต่ำสุดตอนเวลาประมาณตี 4) ซึ่งจะส่งสัญญาณไปที่สมอง ว่าถึงเวลานอนแล้ว อุณหภูมิร่างกายลดลงแล้ว เราจึงรู้สึกง่วงมากขึ้น (เป็นเหตุผลเดียวกัน กับคำแนะนำที่บอกให้ทำให้ห้องนอนเย็นๆ หนาวๆ จะได้หลับง่ายขึ้น)
นอกจากนี้ ใส่ถุงเท้านอน จะช่วยลดอาการของโรค เรย์โนด์ Raynaud’s symptoms ซึ่งเป็นโรคที่เกิดความผิดปรกติขึ้นกับเส้นเลือดที่ผิวหนัง โดยมักจะเป็นเวลาที่หนาวหรือเครียด จะทำให้เลือดไหลเวียนไปที่มือและเท้าน้อยลง นิ้วมือนิ้วเท้าเกิดอาการเหน็บชา และอาจเปลี่ยนสีไปเป็นสีฟ้าหรือสีขาวซีด การใส่ถุงเท้าให้อบอุ่นจึงช่วยลดอาการนี้ได้
การใส่ถุงเท้านอน ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของสตรีวัยทองที่มีอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกวัดแกว่งของระดับฮอร์โมนในร่างกายของสตรีที่หมดประจำเดือน (menopause) ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย
งานวิจัย ในปี 2005 ที่ศึกษาการตอบสนองของ สมอง ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ยังพบด้วยว่า คู่สามีภรรยาที่ใส่ถุงเท้านอน จะมีเพศสัมพันธ์ที่ดีขึ้น มีแนวโน้มที่จะถึงจุดสุดยอด (orgasm) มากขึ้นระหว่างมีกิจกรรมทางเพศ (แต่งานวิจัยนี้ จากกลุ่มตัวอย่างเพียง 13 คู่)
ในอีกนัยหนึ่ง การปล่อยให้เท้าของคุณเย็นเกินไประหว่างที่นอนหลับ กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้พักผ่อนได้ไม่พอเพียง เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนในบริเวณนั้นได้ดีระหว่างที่ปล่อยให้เท้าเย็น
จากคำแนะนำของสมาคม National Sleep Foundation ได้ระบุว่า การใส่ถุงเท้านอนหน้าหนาว จะช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นไว้ ไม่หนาวเกินไป ทำให้นอนหลับได้ดี และมีประโยชน์อื่นๆ
ถ้าจะให้นอนหลับได้ดีขึ้นอีก ก็ควรจะนวดเท้าก่อนเข้านอนเพื่อให้เลือดหมุนเวียนดี ใช้ครีมที่ส่วนผสมของสารที่ทำให้รู้สึกร้อน (เช่น แคปไซซิน จากพริก) ในน้ำมันนวดหรือครีมนวดเท้า ใส่ถุงเท้าที่ทำให้อุ่นเสียก่อน ระหว่างที่นอนไปแล้ว ถ้ารู้สึกร้อนเกินไป ก็ให้ถอดถุงเท้าออกหรือยื่นเท้าออกนอกผ้าห่ม
ไม่ควรใช้ถุงเท้าชนิดที่รัดแน่น compression socks (ยกเว้นตามคำแนะนำของแพทย์) แม้ว่ามันจะเป็นชนิดที่บอกว่าช่วยให้เลือดไหวเวียนได้ดีขึ้นเวลายืนหรือเดิน แต่มันก็ไม่ได้ถูกทำมาให้ใส่นอน และอาจจะทำให้เลือดไม่ไหวเวียนมาที่เท้า ระหว่างที่เรานอนราบ
สำหรับเด็กและทารก สามารถใส่ถุงเท้านอนได้และควรอาบน้ำอุ่นก่อนนอน แต่ให้หลีกเลี่ยงถุงเท้าชนิด ถุงเท้าให้ความร้อน และการใช้ผ้าห่มไฟฟ้า (บ้านเราคงไม่มีมั้ง)
คอยสังเกตว่าเด็กดูมีอาการเหมือนจะร้อนไประหว่างนอน เช่น เหงื่อออก มีผื่นแดงที่คาง ร้องไห้กระสับกระส่าย ฯลฯ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็ให้เอาผ้าห่มออก หรือลดเสื้อผ้าลง
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. เจษฎา สรุปว่า ใส่ถุงเท้านอนได้สามารถทำได้ ไม่เป็นอันตราย และกลับจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย โดยถุงเท้าจะช่วยรักษาระดับของอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ไม่ให้ต่ำเกินไปหรือมากเกินไป เพียงแต่ควรเลือกถุงเท้าที่เหมาะสม นุ่ม ใส่สบาย ไม่หนา ไม่แน่นเกินไป และถ้ามีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ที่ทำให้เท้าเย็นเท้าชา ก็ควรจะปรึกษาแพทย์
ขอบคุณข้ออมูลจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ และ Antifakenewscenter
ภาพจาก istock
Advertisement