บิ๊กต่อ ร่อนหนังสือ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ซุกบ้านที่อังกฤษ เผย ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ปี 62 มีสัญญากู้ซื้อ 20 ล้านร่วมแล้ว เลยไม่ต้องแจงบ้านหลังนั้น ยันไม่ได้ทำผิด
จากกรณีที่นาย ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ทนายความชื่อดัง ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีต ผบ.ตร.และนางนิภาพรรณ สุขวิมล ภรรยา ว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นบ้านในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่นายษิทราตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในข้อหาฉ้อโกง และร่วมกันฟอกเงิน
รายงานข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. แจ้งว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ทำหนังสือชี้แจงต่อ ป.ป.ช. กรณีบ้านที่อังกฤษนั้น เมื่อช่วงก.ค.ที่ผ่านมา หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมกับภรรยา จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน
โดยสาระสำคัญที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯครั้งแรก พ.ย. 62 ขณะดำรงตำแหน่งรอง ผบช.สอบสวนกลาง และการที่นางนิภาพรรณ ไม่แจ้งเรื่องบ้านหลังดังกล่าว เพราะสำคัญผิดและเข้าใจเองว่าเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินฯแล้ว โดยมีสัญญากู้เงิน เมื่อวันที่ 25พ.ค.59 ระหว่างนางนิภาวรรณและนางสาว ว. (ผู้ให้กู้) จำนวน 20ล้านบาท โดยมีหลักฐานการโอนเงินส่งให้สำนักงานป.ป.ช.แล้ว นางนิภาพรรณจึงเข้าใจเองว่า เมื่อแจ้งข้อมูลส่วนนี้แล้วก็ไม่ต้องชี้แจงบ้านพักหลังดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะเงินกู้ดังกล่าวนำไปซื้อบ้านหลังนี้ และหากป.ป.ช. สงสัยกรณีนี้สามารถสอบถามได้ จึงไม่มีพฤติกรรมจงใจปกปิดว่ามีบ้านหลังนี้
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ชี้แจงอีกว่า ช่วงยื่นบัญชีทรัพย์สินฯครั้งแรก ตนไม่ทราบว่าภรรยามีการตกลงร่วมหุ้นกับนางสาว ว. เพราะตนมอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชารวบรวมข้อมูลของตนและภรรยาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อป.ป.ช.และยังกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งนางนิภาพรรณว่า ให้ระบุข้อมูลตามความเป็นจริงไม่ต้องปกปิดใดๆทั้งสิ้น และนางนิภาพรรณส่งเอกสารกู้เงินกับนางสาว ว. ประกอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ โดยไม่แจ้งให้ตนทราบว่าเป็นการร่วมลงทุนของทั้งสองคน ทั้งนี้ ตนเข้าใจเองว่าภรรยากู้เงินนางสาว ว. ไปซื้อบ้านหลังนี้เพราะนางนิภาพรรณ เล่าให้ฟังว่าเงินซื้อบ้านหลังนี้เป็นของนาวสาว ว. แต่ไม่ทราบนิติสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย และไม่ติดใจ เพราะนางสาว ว. มีฐานะดีและสนิทกับครอบครัวของตน เพราะเป็นเพื่อนสนิทของนางนิภาพรรณหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อ้างด้วยว่า ทราบว่าทั้งภรรยาและ นางสาว ว. มีการทำสัญญาเงินกู้ โดยไม่ได้ระบุในช่อง โดยความยินยอมของคู่สมรส และตนไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องนี้เพื่อเป็นพยาน จึงยื่นหลักฐานหนี้สินเป็นหนังสือจำนวน 20 ล้านบาทต่อ ป.ป.ช. และมาทราบภายหลังว่านางนิภาพรรณ และนางสาว ว. ไปชี้แจงกับทาง ป.ป.ช. ถึงสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ว่าเป็นการร่วมลงทุนซื้อบ้าน และกฎหมายไม่ได้ระบุว่าการร่วมลงทุนกันต้องทำตามรูปแบบใดหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตนทราบว่านางสาว ว. เป็นฝ่ายลงทุน 20 ล้านบาท จากนั้นโอนเงินให้นางนิภาพรรณสองครั้งในช่วงปี 59 ครั้งแรก 10 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จำนวน 7ล้านบาท มีหลักฐานการโอนเงินยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้ว นางนิภาพรรณจึงโอนเงินจำนวนนี้ให้ทนายความชาวอังกฤษดำเนินการซื้อบ้านหลังนี้ ส่วนเงินอีก 3 ล้านบาท นางสาว ว. ทยอยให้เพื่อเป็นค่าตกแต่งบ้าน
“นางนิภาพรรณเป็นฝ่ายลงแรงในการติดต่อซื้อบ้านหลังนี้กับผู้ขายและทนายความชาวอังกฤษและติดต่อนายหน้าประกาศขายบ้าน โดยนางนิภาพรรณ และนางสาว ว. ตกลงกันว่าหากขายได้ กำไรแบ่งกันคนละครึ่ง” เนื้อหาบางช่วงในหนังสือชี้แจงของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และยังมีการยื่นรายชื่อพยานให้ ป.ป.ช. เรียกมาให้ข้อมูลด้วย
นอกจากนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ชี้แจงอีกว่า ช่วงเดือน มิ.ย.63 หลังการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯไปแล้วประมาณกว่า 5 เดือน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คนหนึ่งติดต่อนางนิภาพรรณและนางสาว ว. เข้าให้ถ้อยคำประเด็นสัญญากู้ยืมเงิน และไม่ได้แจ้งว่าต้องไปให้ถ้อยคำเกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าวแต่อย่างใด โดยวันที่ 17 มิ.ย. 63 นางนิภาพรรณและนางสาว ว. ได้พบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. 5 คน ที่ร่วมคณะตรวจสอบทรัพย์สินของปปช. โดยไม่ได้นำทนายความไปด้วย โดยให้การว่า ตอนนั้นนางนิภาพรรณ จำเป็นต้องมีกระแสเงินสดในการทำธุรกิจจึงไม่สามารถกู้เงินสถาบันการเงินในประเทศได้ จึงตกลงกู้เงินนางสาว ว. และนางนิภาพรรณได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและมอบโฉนดที่ดินคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกทม. ให้นางสาว ว. เป็นหลักประกันเงินกู้และเป็นหลักฐาน และตกลงกันว่ามอบให้นางนิภาพรรณเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บ้านที่อังกฤษ และหากขายได้จะแบ่งกำไรคนละครึ่ง และยังแสดงสัญญากู้ยืมเงิน สำเนาหนังสือเดินทาง หนังสือรับรองรายงานการเดินบัญชีของธนาคาร เอกสารการซื้อขายบ้าน ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านแล้ว และวันนั้นเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทั้ง 5 คน ไม่ได้แจ้งและบันทึกรวมทั้งขอดูภาพถ่ายบ้านหลังดังกล่าวเพิ่มเติมจากนางนิภาพรรณแต่อย่างใด
“ในวันนั้น นางนิภาพรรณและนางสาว ว. ถามย้ำอีกครั้งว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เพิ่มเติมหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. คนหนึ่งแจ้งว่าไม่ต้องยื่นเพิ่มเติม ให้ยื่นอีกครั้งในกรณีที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ดำรงตำแหน่งครบสามปี หรือ1ต.ค.65 โดยที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่เหลืออีก4คน ไม่ได้ท้วงติงหรือคัดค้าน กรณีนี้ถือว่าเป็นมติเห็นชอบร่วมกันของคณะตรวจสอบทรัพย์สิน ของ ป.ป.ช.” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อ้างในหนังสือชี้แจง
พร้อมกับระบุด้วยว่า เห็นได้ชัดว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ ปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.แล้ว แม้ตนจะไม่ได้ยื่นในรายการนี้ในช่วงนั้นก็ตาม เพราะถือได้ว่า ป.ป.ช. ทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 63 ว่านางนิภาพรรณมีบ้านหลังนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าคู่สมรสของตนปกปิด ซุกบ้านหลังดังกล่าวไว้อย่างแน่นอน หากมีเจตนาเช่นนั้นนางนิภาพรรณคงไม่แสดงสัญญาเงินกู้20ล้านบาทไว้ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯในปี62 เพื่อให้เกิดข้อสงสัยแก่ ป.ป.ช.อย่างแน่นอน และก่อนหน้านั้น เมื่อปี 59 นางนิภาพรรณแสดงตนเปิดเผยกับสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีบ้านพักในอังกฤษ คงมีเพียงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่รู้และกล่าวอ้างว่านางนิภาพรรณปกปิดเเละเพิ่งตรวจพบเองในภายหลัง
”ข้าพเจ้า นางนิภาพรรณ และนางสาว ว. ยินดีให้ความร่วมมือกับคณะตรวจสอบทรัพย์สินด้วยดีมาโดยตลอด แต่ในส่วนของข้าพเจ้า คณะตรวจสอบทรัพย์สินกลับไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลที่ชี้แจง จึงขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันไม่ได้ทำผิด“ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ระบุในหนังสือชี้แจง
Advertisement