ย้อนรอยโศกนาฏกรรม โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม "31 ปี" ไม่มีวันลืมฝุ่นควันจากเศษซากปูนยังตลบฟุ้งในความทรงจำ ผู้บริสุทธิ์ "137 คน" ดับเซ่น เผยสาเหตุถล่มยิ่งซ้ำสะเทือนใจ
ย้อนรอยเหตุตึกถล่มครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2536 โรงแรมรอยัลพลาซ่า นครราชสีมา ความสูง 6 ชั้น ถล่มราบเป็นหน้ากลอง ผู้บริสุทธิ์ดับสลด 137 ราย สาเหตุแห่งหายนะเกิดจากความประมาททางด้านวิศวกรรมโยธา
นางปราถนา ศรีชนะกุล ครูโรงเรียนบุญวัฒนา หนึ่งในเหยื่อโรงแรมพลาซ่าถล่มซึ่งในวันนั้นเธอมาสัมนา แต่เธอคือผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น
เราเห็นสภาพโรงแรมบางส่วนมันมีลักษณะรอยแตกร้าว มีรอยที่เอาปูนฉาบไว้ เราเลยถามว่าทำไมโรงแรมสภาพแบบนี้ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกพี่ เราก็ดูแลซ่อมแซมมาเรื่อยๆ ตอนนั้นช่วงประมาณก่อนที่จะเบรก มันมีเสียง เปรี๊ยะ! ขึ้นมา เขาก็ถามกันว่าเสียงอะไร แต่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกไม่มีอะไรเหตุการณ์ปกติ แล้วก็ได้ยินครั้งที่ 2 พอครั้งที่ 2 เราเริ่มเห็นฝุ่น
บางคนเขาเริ่มรู้แล้วว่าเหตุการณ์มันส่อไม่ดี พวกผู้ชายก็ทยอยออกไป บางคนก็ไปสูบบุหรี่ ไปห้องน้ำ พวกนี้จะรอด แต่พวกที่เขาบอกไม่เป็นไร ก็ไม่ไปไหนนั่งอยู่กับที่ พวกนี้ตายยกแถวเลย แล้วก็ได้ยินครั้งที่ 3 ก็ตู้มถึงตัวเลย
วิ่งไปก็รู้สึกเหมือนโดนชน เราโดนม้วนไปอยู่ใต้พรม คือมันมืดเลย ตรงที่พี่พอขยับได้ แต่ตรงคนอื่นเราก็ไม่รู้เพราะมันมืด เราก็ใช้วิธีคุยกันสื่อสารก็ใช้วิธีเคาะ เขาก็เงียบไปทีละคน ค่อยๆ เสียชีวิตไป เจ้าหน้าที่เจอดิฉันตอน 4 ทุ่ม แต่เขาก็ช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นคานหนามาก
โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด กว่า 400 ชีวิตที่อยู่ใต้ซากปรักหักพังนานหลายชั่วโมง แม้จะยินได้เสียงขอความช่วยเหลือแต่ในเวลาที่ยังเอาแน่เอานอนกับความเป็นความตายตรงหน้าและความเสี่ยงที่อาจเกิดการพังซ้ำซ้อน ทำให้การเข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ด้านในค่อนข้างยากลำบากและต้องทำด้วยความระมัดระวัง
นายไพศาล ศุภวีระกุล รองเลขาธิการไทย มูลนิธิพุทธรรม 31 เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เล่าว่า มันเป็นเช้าวันศุกร์ ทุกอย่างก็ดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบริเวณที่เกิดเหตุมันมีควันคลุ้งไปหมด เป็นควันที่เกิดจากเศษซีเมนต์ แต่พอได้รับแจ้งอีกครั้งหนึ่งจากวิทยุว่าตึกถล่ม ก็นึกไม่ออกว่าตึกถล่มมันเป็นยังไงเพราะไม่เคยเจอ แล้วเขาก็เรียกกำลัง ขอกำลังเสริมว่ามีคนเจ็บเยอะ มีคนติดอยู่ มีคนเจ็บ ตายจำนวนมาก
ก็มีหลายหน่วยงานที่มาสัมมนาที่นั่น ทั้งข้าราชการ ครู บริษัทเชลล์ คนก็วิ่งออกมาจำนวนมาก ความเป็นมืออาชีพกับทุกวันนี้เรายืนยันว่าต่างกันมาก ไม่มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินเหมือนในปัจจุบัน เราก็ช่วยกันตามมีตามเกิด เจอใครที่เจ็บก่อนที่พอเอาออกมาได้ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาได้ เราก็รีบเอาออกจากที่เกิดเหตุมาก่อน
อุปสรรคก็คือ ความชุลมุน แล้วก็ผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีจำนวนมาก ตอนนั้นไม่มีใครคิด ไม่มีใครที่จะตั้งหลักได้ในตอนนั้น ทุกคนต่างก็ช็อกด้วยกันทั้งหมด แม้แต่กู้ภัยที่เข้าไปช่วยก็ยังช็อก พอเราไปถึงที่เกิดเหตุเราก็ร้องเรียกหาคนว่าอยู่ตรงไหน แล้วกจะมีทางเจ้าหน้าที่ของโรงแรมหรือคนที่เจ็บอยู่ด้วย เขาก็ชี้บอกว่าตรงนั้น ตรงนี้ มีคนเจ็บนะ มีเสียงร้อง ตอนนั้นสับสนวุ่นวายมาก
"มันลืมไม่ลงหรอกครับ แต่ถ้าถามเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็คงจะไม่มีใครรู้จักแล้วเพราะว่าเวลามันผ่านไปนาน สถานที่ก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมากแล้ว คนโคราชเองก็คงอยากจะลืม ไม่อยากจดจำมันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายมากที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง" นายไพศาล ศุภวีระกุล กล่าวทิ้งท้าย
โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม ไม่เพียงแค่ฝากความจำอันแสนโหดร้ายให้กับผู้ประสบเหตุแต่ยังฝากความเปลี่ยนแปลงของชีวิตไปตลอดกาล นายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตแต่กลับต้องเสียขาข้างขวาไป กลายเป็นคนพิการ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อทำกายภาพบำบัด 3 ครั้งต่อสัปดาห์
นายชวลิต เล่านาทีรอดชีวิตว่า มีเสียงตะโกนใต้คานว่ามีใครอยู่แถวนี้บ้างไหม ผมก็รีบตะโกนบอกรับเลย ตัดขาเสร็จแล้วก็เดินไม่ได้ แล้วก็ทำกายภาพ ตอนนั้นขวัญกำลังใจเราก็เสีย เราไม่มีขา จะเดินยังไง ทำงานไหวหรอ
ก็ได้รับเงินบริจาคมา ก็มาให้พวกพิการ กับพวกที่ตายคนละ 200,000 แล้วก็มีของกรมประชาสงเคราะห์ก็จ่ายให้ 200,000 เหมือนกัน แล้วก็ได้เยียวยาจากทางราชการสูญเสียขาข้างหนึ่งได้ 200,000 เราก็เห็นใจเด็กๆ ที่ต้องมายื่นฟ้องทางคดีแพ่ง
นางปราถนา ศรีชนะกุล ครูโรงเรียนบุญวัฒนา หนึ่งในผู้รอดชีวิตเผยถึงผลกระทบด้านสุขภาพก็คือ เดินไม่ได้ตรงเหมือนเดิม เสียบุคลิกภาพ การรักษาก็ตามสิทธิของเรา มันก็จะมีบางส่วนที่เบิกไม่ได้ เราก็ต้องจ่ายเอง เงินบริจาคเยอะมาก แต่ก็มาไม่ถึงพวกเรา เรื่องเงินบริจาคมีปัญหามาก
บริษัท รอยัลพลาซ่า โฮเทล จำกัด ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เทศบาลเมืองนครราชสีมา ในขณะนั้น และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร วิศวกร วิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมอาคาร ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้กับ บริษัท รอยัลพลาซ่า โฮเทล จำกัด เป็นเงิน 150 ล้านบาท ส่วนคดีอาญาสิ้นสุดลงที่ศาลฎีกา ตั้งแต่ปี 2546 โดยศาลฯ พิพากษาจำคุก นายบำเพ็ญ พันธุ์รัตนะอิสระ วิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมอาคาร 37 ปี ส่วนจำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรม ศาลยกฟ้อง
บริษัทไม่ดูดำดูดีพวกเรา ให้พวกเราไปฟ้องเอา ฉะนั้นพวกเราจึงต้องรวมเงินกันฟ้อง ก็ได้รับความกรุณาจาก สภาทนายความ มาช่วยในการจัดหาทนายมาฟ้องร้อง พวกเราก็ตั้งใจว่าจะได้รับการชดเชย ชดใช้บ้าง เราฟ้องชนะ แต่เงินไม่ได้เพราะบริษัทมันเจ๊ง
ส่วนคณะครูก็ร่วมกันฟ้อง 47 ราย อัยการก็แนะนำว่าให้เราฟ้อง ตอนแรกที่ตึกถล่ม เขาจะมาเจรจา ให้เราได้เงิน แต่อัยการแนะนำว่าน่าจะฟ้องนะเพราะมันเป็นคดี มันไม่เคยมีในประเทศไทย อยากให้เป็นคดีตัวอย่าง แต่พอฟ้องไปแล้ว มันหาที่ลงไม่ได้ สืบพยานกันไป 5 ปี 10 ปี จนปีที่ 10 เขาก็เลยบอกว่ามันคงถึงทางตันแล้ว เขาก็เลยขอเจรจา ก็มีเฉพาะเงินประกันที่วางไว้กับศาล 5 ล้าน นี่คือผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ ได้มาเท่าไหร่ก็หารเฉลี่ยกัน ตามเรท คนเสียชีวิตได้เท่านี้ คนเจ็บสาหัสได้เท่านี้ คนเจ็บเล็กน้อยได้เท่านี้ คนเสียชีวิตได้ไม่เยอะ ไม่ถึงแสนเลย อย่างตัวดิฉันก็ได้แค่ 35,000 แค่ค่าเหล็ก ค่าผ่าตัดก็ไม่พอแล้ว ออกเองตั้ง 60,000 เพราะเป็นเหล็กที่สั่งมาจากเมืองนอก
จากการตรวจสอบประวัติการก่อสร้างและต่อเติมของโรงแรมรอยัลพลาซ่า พบว่าขออนุญาตก่อสร้างเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น
ต่อมาในปี 2527 มีการต่อเติมอาคาร 2 ชั้น ในส่วนของล็อบบี้เดิม ถัดมาใน 2528 มีการต่อเติมอาคาร 2 ชั้น ให้เป็นห้องพักโรงแรม 62 ห้อง และในปี 2533 ได้ขออนุญาตต่อเติมจากอาคาร 3 ชั้น เป็น 6 ชั้น ต่อมาในปี 2535 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมรอยัลพลาซ่า โฮเทล จำกัด และได้รับอนุญาตให้ต่อเติมอาคารชั้นหนึ่ง และชั้นใต้ดินส่วนที่เป็นผับ ซึ่งในระยะเวลา 9 ปี มีการต่อเติมอาคารถึง 4 ครั้ง
ผลสรุปของคณะกรรมการวิศวกรรมสถานทุกชุด สรุปตรงกันว่า โครงสร้างของโรงแรมหลังต่อเติมเป็น 6 ชั้นแล้ว มีความปลอดภัยต่ำกว่ามาตรฐาน
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อดีตเลขาฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า ประเด็นแรกคิดว่า เกิดจากทรุดตัวของฐานราก ฐานรากรับน้ำหนักไม่ไหว จากนั้นก็ไปทำการตรวจเช็กฐานรากในการก่อสร้างจริง ผลตรวจรายการคำนวณ ก็โอเค หรือ ดินใต้ฐานรากทรุด ก็ไปเจาะดิน ก็ไม่พบปัญหา เป็นไปตามมาตรฐานหมด เพียงแต่ว่าวิศกรอาจจะ ผมไม่ทราบว่าจะเช็กผิดพลาดหรือจะยังไง เราคงไม่กล้าพูดอย่างนั้น ว่ากำลังที่มันเกิดขึ้นจริงๆ มันเกินกว่ากำลังที่เสาจะแบกรับ
เหตุผลที่พังถล่มลงมานั้นก็เพราะว่าเสาชั้นล่าง รับน้ำหนักไม่ไหว คือถ้าพูดตามภาษาสากลก็คือ รับน้ำหนักไปจนย่ำแย่แล้วรอจนว่าวันหนึ่ง ต้นไหนที่มันอ่อนแอที่สุด มันไปก่อน มันก็จะดึงต้นอื่น ไม่ใช่ทันทีทันใดนะ มันต่อเติมมาแล้วก็ใช้งานปีหนึ่งได้ มันก็เรียกว่าแบกภาระตรงนั้นมานานพอสมควร แต่อย่างที่บอก วิศวกรไม่ใช่โจร การทำผิดพลาดไปนี่ก็ไม่ได้หมายความเป็นนิสัย หรือเป็นความตั้งใจ ทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิด
สำหรับ โศกนาฏกรรม โรงแรมรอยัลพลาซ่า โคราช ถล่ม ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตใช้เวลากว่า 7 วัน ก่อนยุติภารกิจ จากข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ในวันเกิดเหตุมีผู้อยู่ในอาคาร 379 คน มีผู้เสียชีวิต 137 คน ผู้บาดเจ็บ 227 ราย
โดยคดี โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม ถือเป็นคดีภัยสาธารณะที่เกิดจากความประมาททางด้านวิศวกรรมโยธา จนเกิดเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เราต้องถอดบทเรียนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดหายนะคร่าชีวิตซ้ำรอยอีก!
Advertisement