วิธีแยกขยะแบบง่ายๆ นำไปใช้เพื่อลดค่าธรรมเนียมเก็บขยะรายเดือนอัตราใหม่ ที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มใช้ในปี 2568
จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... โดยมีการเชิญชวนประชาชนคัดแยกขยะ เพื่อลดค่าธรรมเนียมฯ ในการจัดเก็บ
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน (หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม) จ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท) กรณีแยกขยะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)
กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร)
กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขึ้นไป (หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาท (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)
โดยข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะ ซึ่งเมื่อประชาชนมีการคัดแยกขยะจะชำระค่าธรรมเนียมฯ ที่ลดลงตามปริมาณขยะที่ลดลงเช่นกัน เช่น กลุ่มที่ 1 บ้านเรือนทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากมีการคัดแยกขยะตามเงื่อนไขที่กำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 20 บาทต่อเดือน และหากไม่มีการคัดแยกขยะ จ่ายค่าธรรมเนียมฯ 60 บาทต่อเดือน
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้หลายวิธี เช่น ลงทะเบียนผ่าน Smart Phone ในแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY หรือ วอร์คอินเข้ามาที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะหรือไม่ และกรุงเทพมหานครจะเพิ่มการลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องการแยกขยะ กรุงเทพมหานครจึงได้แนะนำวิธีแยกขยะแบบเข้าใจง่าย โดยสามารถทำตามได้ ดังนี้
เปลือกผลไม้ เศษผัก เศษอาหาร เศษใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆ
วิธีทิ้ง
1.เทน้ำซุป/น้ำแกง กรองเฉพาะเศษอาหาร
2.นำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักหรือเป็นอาหารสัตว์
3.ใส่ถุงเขียว หรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน
4.มัดปากถุง แล้วใส่ถังรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
ขยะเศษอาหาร ให้ทิ้งใส่ถังสีเขียว ซึ่งเป็นถังขยะเปียก เพื่อปลายทางจะได้นำไปหมักปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพ หมักไบโอแก๊สไว้เลี้ยงสัตว์
ซองขนม ทิชชู่ แก้วกาแฟ ถุงแกง หลอดยาสีฟัน ทิชชู่เปียก ถุงเติม กล่องโฟม ถุงพลาสติก เศษผ้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
วิธีทิ้ง
1.รวบรวมใส่ ถุงใส หรือ ถุงที่มองเห็นขยะด้านใน มัดปากถุง
2.รอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
ขยะทั่วไป ให้ทิ้งใส่ถังสีน้ำเงิน ปลายทางจะนำไปกำจัดแบบผสมผสาน โดยการเผา การหมัก การคัดแยก หรือการฝังกลบ
กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดน้ำ ขวดแก้ว สมุด หนังสือ กระป๋องเหล็ก ขวดปั๊ม ขวดขุ่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ลังกระดาษ กล่องพัสดุ
วิธีทิ้ง
1.เทของเหลวหรือเศษอาหาร (ถ้ามี)
2.รวบรวมใส่ถุงใส หรือ ถุงที่มองเห็นขยะด้านใน
3.มัดปากถุงหากใส่ถุงดำให้เขียนข้อความหรือติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็น "ขยะรีไซเคิล"
4.นำไปขายหรือบริจาคหรือรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
ตลาดนัดรีไซเคิลเปลี่ยนขยะเป็นเงิน
ㆍ ทุกวันพุธกลางเดือน ที่ศาลาว่าการ กทม (เสาชิงช้า)
ㆍ ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่ศาลาว่าการ กทม 2 (ดินแดง)
ขยะรีไซเคิล ให้ทิ้งใส่ถังสีเหลือง ปลายทางจะทำการคัดแยกเพื่อขายเป็นรายได้ ขายให้ซาเล้ง ขายผ่านแอปพลิเคชั่น หรือนำไปบริจาคให้หน่วยงานและจุดรับวัสดุรีไซเคิลต่างๆ หรือใช้เป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตสินค้า
ถ่านไฟฉาย กระป๋องแก๊ส / กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟ ยาหมดอายุ
วิธีทิ้ง
1.รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน
2.หากใส่ถุงดำให้เขียนข้อความหรือติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นขยะอันตราย
3.ทิ้งตามจุดที่กำหนดหรือรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
ขยะอันตราย ให้ทิ้งใส่ถังขยะสีแดง ปลายทางจะทำการกำจัด ป้องกันสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ขยะที่ขนาดใหญ่กว่า 1 เมตร หรือ มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม เช่น เฟอร์นิเจอร์เก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ อุปกรณ์กีฬา วัสดุจากการก่อสร้าง กิ่งไม้ ต้นไม้ขนาดใหญ่ กทม. มีบริการ รับทิ้งตามจุดต่าง ๆ ฟรี ทุกอาทิตย์ และบริการรับทิ้งถึงบ้าน (มีค่าใช้จ่าย)
Advertisement