เงินเดือนเจ้าหน้าที่อุทยาน "ระดับปฏิบัติการ" คุ้มไหม? ความเหนื่อยและความเสี่ยง
ประเด็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่อุทยานระดับปฏิบัติการ ถูกสังคมพูดถึงอีกครั้ง หลังเกิดกรณี ทราย สิรณัฐ สก๊อต อดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่คลิปเหตุการณ์มีปากเสียงกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งแสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติบนเรือในทะเลไทย ก่อนจะขอยุติบทบาทการเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งช่วงหนึ่งมีการพูดถึงค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการทำงาน
โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตามหน้างานบนเกาะ บางคนได้รับเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตามหน้างานบนเกาะเป็นเจ้าหน้าที่ชั่วคราว จึงได้เงินเดือนน้อยกว่าขั้นต่ำ และเจ้าหน้าที่ประจำที่ช่วยทำงานดำน้ำที่มีความเสี่ยง วางทุ่นเรือในน้ำลึก, เก็บหาของที่ นทท. ทำตกลงน้ำ , เก็บขยะตามแนวปะการัง แต่ได้รับเงินเดือนแค่ 8,000 บาท ไม่มีประกันภัยที่คุ้มครองชีวิตที่รวมถึงกิจกรรมดำน้ำด้วย ที่เดียวที่มีประกันชีวิตคือ ที่อุทยานสิมิลัน เพราะตนเคยไปขอมาให้ และอดีตหัวหน้าอุทยานยินยอมทำ แต่ที่อื่นไม่มี ทำให้เจ้าหน้าที่ชั่วคราวกลับไม่ได้อะไรเลย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในช่วงที่ ทราย สิรณัฐ ช่วยงานเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยาน ยินดีที่จะทำงานโดยไม่รับเงินเดือน เพราะในใจตนอึดอัด ถ้าตนได้แต่เจ้าหน้าที่หน้างานยังไม่ได้ค่าตอบแทนที่คู่ควร
ปัญหาเงินเดือนของเจ้าหน้าที่อุทยานระดับปฏิบัติการ ถูกพูดถึงทุกครั้งที่มีประเด็นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างการดับไฟป่าหรือลาดตระเวนพื้นที่, อุปกรณ์ไม่ซัพพอร์ตการทำงาน จนกระทั่งมาถึงล่าสุดอย่างกรณีของ ทราย สิรณัฐ พูดถึงเรื่องเงินตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อย เมื่อเทียบกับการทำงานที่หนักและเสี่ยงภัย ถือว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสมแล้วหรือไม่?
สำหรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ค่าตอบแทนและสวัสดิการโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,900 - 9,000 บาท ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องมีความรู้ความชำนาญการตรวจลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ อันได้แก่ วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และป่าอนุรักษ์อื่นๆ ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวภายในเขต วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และป่าอนุรักษ์อื่น ๆ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย
โดยตุลาคม ปี 2567 มีการปรับปรุงเงินเดือนให้กับลูกจ้างพิทักษ์ป่าทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเพิ่มสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งทางสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับขึ้นเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ ตำแหน่งพิทักษ์ป่าแบบขั้นบันได และส่วนหนึ่งกรมอุทยานฯได้มีการปรับแผนงบประมาณเพื่อขึ้นค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่แบบขั้นบันไดด้วย จำนวน 13,419 อัตรา โดยที่
บางที่มีค่าเสี่ยงภัยให้เป็นรายครั้งต่อการออกปฏิบัติงาน แต่บางทีไม่มีเลย และยังต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุด บางครั้งในการออกปฏิบัติภารกิจต้องเจอกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์หน้างาน สัตว์ดุร้าย เป็นต้น เจ้าหน้าที่จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าพลาดคือจบชีวิตเท่านั้น ส่วนงบค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็มีอย่างจำกัด หากไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการประจำจะไม่มีสิทธิ์รักษาเหมือนข้าราชการทั่วไป ใช้ได้เพียงสิทธิบัตรทองเหมือนประชาชนธรรมดาเท่านั้น
Advertisement