Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผ่านปีใหม่ไม่กี่วัน พะยูน-โลมา ตาย 4 ตัว ส่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมทะเลไทย

ผ่านปีใหม่ไม่กี่วัน พะยูน-โลมา ตาย 4 ตัว ส่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมทะเลไทย

9 ม.ค. 68
15:09 น.
|
226
แชร์

ผ่านปีใหม่ 2568 ไปไม่กี่วัน พบซากพะยูน-โลมา เกยตื้นตาย 4 ตัว ส่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรร่วมด้วยช่วยกันจับตามอง หลังจากผ่านพ้นปีใหม่ไปเพียงไม่กี่วันก็พบว่า พะยูน-โลมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตายไปแล้วถึง 4 ตัว ส่อให้เห็นถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สัตว์หายากเหล่านี้คงอยู่กับท้องทะเลไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน

สำหรับปี 2568 ที่ผ่านไปไม่กี่วัน พบว่ามีพะยูนฝั่งอันดามันตายไปแล้ว 2 ตัว โดยตัวแรก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงาน ทช.ที่ 7 (ตรัง) พบซากพะยูนบริเวณกลางทะเลระหว่างเกาะลิบงและเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง เบื้องต้นทราบว่าเป็นซากพะยูน เพศเมีย ความยาววัดแนบ 170 ซม. ยังไม่โตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ความสมบูรณ์ของร่างกายไม่สามารถระบุได้เนื่องจากสภาพซากเน่าและบวมอืด ลักษณะภายนอกผิวหนังลอกหลุด เพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก ไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการถูกเครื่องมือประมง เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่าอวัยวะภายในเน่าสลายไม่สามารถระบุรอยโรคได้ ส่วนของทางเดินอาหารพบเศษหญ้าทะเลประมาณ 3 กรัมภายในกระเพาะอาหาร พบพยาธิเล็กน้อย ไม่พบสิ่งแปลกปลอมปนในทางเดินอาหาร สรุปสาเหตุการตายคาดว่าขาดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอและตายในที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพันธุกรรมต่อไป

พะยูน เพศเมีย ตายใน จ.ตรัง วันที่ 3 มกราคม 2568

ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2568 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนบน ได้รับแจ้งจากชาวประมงบริเวณอ่าวปอ ว่าพบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณกลางทะเลหน้าเกาะนาคาใหญ่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงได้ประสานงานเข้าพื้นที่ร่วมกับ ศรชล. ภาค 3 จ.ภูเก็ต จากการตรวจสอบพบพะยูน (Dugong dugon) อยู่ในช่วงวัยเด็ก ความยาว 200 ซม. น้ำหนัก 142 กก. สภาพซากเริ่มเน่า ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS 3/5) ทำการตรวจร่างกายภายนอกพบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง รอยแผลถลอก รอยช้ำ และบริเวณปลายหางด้านซ้ายขาดหายมีลักษณะเป็นรอยแผลขอบคม เพรียงเกาะบริเวณหลังเล็กน้อย เมื่อเปิดชันสูตรซากพบกล้ามเนื้อบริเวณด้านซ้ายของลำตัวมีรอยช้ำ และส่วนของกระดูกซี่โครงด้านซ้ายซี่ที่ 12-18 พบรอยหัก และบริเวณปีกกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ 1-3 พบรอยหัก และส่วนของผนังช่องอกและช่องท้องเกิดการฉีกขาดเสียหาย ส่งผลทำให้ส่วนของปอด ลำไส้และไต ได้รับความเสียหายและพบภาวะเลือดออกภายในช่องท้อง ส่วนของทางเดินอาหารพบเศษหญ้าทะเลในช่องปาก ส่วนกระเพาะอาหารมีหญ้าทะเลอัดแน่น พบอาหารตลอดลำไส้เล็กและใหญ่แสดงถึงการกินอาหารได้ตามปกติ สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตของพะยูนคาดว่าเกิดจากการเสียชีวิตเฉียบพลันจากภาวะช็อกจากการเสียเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนเสียเลือดปริมาณมาก โดยลักษณะของบาดแผลข้างลำตัวคาดว่าเกิดจากการกระแทกอย่างแรงจากเรือหรือเจ็ทสกี

พะยูนวัยเด็ก ตายใน จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568

นอกจากนี้ ยังพบโลมาตายอีก 2 ตัว โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เรื่องชาวบ้านพบซากโลมาเกยตื้น บริเวณหาดทรายยาว แหลมตันหยงโป ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล เเบื้องต้นพบว่าเป็นซากโลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) เพศผู้ ความยาวลำตัววัดตรง 153 ซม. น้ำหนักประมาณ 43 กก. ยังไม่โตเต็มวัย สภาพซากเน่า ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (BCS 3/5) ลักษณะภายนอกพบผิวหนังหลุดลอก ตาถลนออกจากเบ้า บวมอืด ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์หรือบาดแผลจากเครื่องมือประมง เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่าอวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่าไม่สามารถระบุรอยโรคได้ชัดเจน ปอดพบจุดขาวกระจายเป็นหย่อมๆในเนื้อเยื่อปอดทั้งสองข้าง ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารในกระเพาะอาหารเล็กน้อย ในลำไส้ไม่พบอาหารเลย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อแขวนผนังลำไส้ขยายใหญ่ สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยเรื้อรังตามธรรมชาติ เนื่องจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ทำให้สัตว์ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติและตายในที่สุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งทางห้องปฏิบัติการและฝังกลบซากในพื้นที่ต่อไป

โลมาอิรวดี เพศผู้ ตายใน จ.สตูล วันที่ 3 มกราคม 2568

จากนั้นวันที่ 4 มกราคม 2568 ศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนล่าง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จ.พัทลุง-สงขลา เรื่องพบโลมาเกยตื้นบริเวณบ้านโพธิ์หมอ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin; Orcaella brevirostris) เพศผู้ ขนาดลำตัวยาว 1.95 เมตร โตเต็มวัย ฟันมีลักษณะทู่และสึกหรอ คาดว่าอายุประมาณ 20-30 ปี สภาพซากเน่ามาก ผิวหนังลอกหลุด อวัยวะภายในบางส่วนหลุดสูญหายเนื่องจากสภาพซากเน่ามาก ภายนอกไม่พบบาดแผลฉกรรจ์หรือบาดแผลจากเครื่องมือประมง อวัยวะภายในอื่นๆ เน่าสลายไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการและขุดฝังซากพร้อมโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อเรียบร้อย

โลมาอิรวดี เพศผู้ ตายใน จ.พัทลุง วันที่ 4 มกราคม 2568

เมื่อย้อนดูสภาพซากและสาเหตุการตายก็พบว่าโลมาและพะยูนกำลังเจอกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการด้านความปลอดภัยริมชายฝั่ง ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพะยูนที่มีจำนวนประชากรในท้องทะเล ณ วันนี้อยู่ในระดับหลักร้อย ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการสำรวจประชากรพะยูนในปี 2566 พบว่ามีอยู่ประมาณ 282 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 32 ตัว และฝั่งอันดามัน 250 ตัว โดยปี 2567 มีพะยูนตายไป 41 ตัว มากกว่าปีก่อนที่ตาย 40 ตัว สองปีรวมกัน 81 ตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับอดีต จำนวนพะยูนตายเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 12 ตัว พบว่าพะยูนตายเพิ่มถึง 3.5 เท่า โดยในจำนวน 41 ตัวที่ตายใน มีอยู่ 39 ตัว ตายในพื้นที่หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน เนื่องจากพื้นที่หญ้าทะเลเจอปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ล้มตาย และมีจำนวนที่ลดลง ซึ่งพะยูนเต็มวัย มีความต้องการหญ้าทะเลประมาณ 13-16 ไร่ ปกคลุมพื้นที่อย่างน้อย 60% ถึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง

จากฐานข้อมูลทรัพยากรหญ้าทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2563 ระบุว่าไทยมีขอบเขตพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล จำนวน 160,628 ไร่ ใน 17 จังหวัดชายฝั่ง แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยมี 11 จังหวัด ประมาณ 54,148 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ประมาณ 106,480 ไร่ แต่เมื่อหญ้าทะเลเสื่อมโทรม กลายสภาพเป็นหาดทรายสีคล้ำ เป็นเหตุให้พะยูนต้องอพยพออกไปเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ หากสถานการณ์หญ้าทะเลยังไม่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงไปอีก จะสร้างความเสี่ยงให้กับชีวิตของพะยูนที่เหลือ แหล่งหญ้าทะเลต่อไปคือทับละมุซึ่งห่างไปเกือบ 100 กิโลเมตร แต่พะยูนไม่สามารถว่ายผ่านทะเลเปิด เช่น ท้ายเหมือง เขาหลัก ไปถึงที่นั่นได้ อาจจะประสบกับภาวะอดอยาก และล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

ทางแก้ไขก็คือ เร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ให้กลับคืนมา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้วิธีล้อมคอกแปลงทดลองหญ้าทะเล ซึ่งผลการทดลองนาน 5 เดือน พบว่า หญ้าทะเลที่ถูกล้อมคอกเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และไม่ถูกสัตว์ทะเลกัดกินเสียก่อน จึงเร่งขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งหญ้าทะเล อันเป็นอาหารสำคัญของพะยูนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะขาดอาหารอดตายกลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในอนาคต

Advertisement

แชร์
ผ่านปีใหม่ไม่กี่วัน พะยูน-โลมา ตาย 4 ตัว ส่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมทะเลไทย