Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
หญ้าทะเล ระบบนิเวศสำคัญ แหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด

หญ้าทะเล ระบบนิเวศสำคัญ แหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด

9 ม.ค. 68
17:04 น.
|
173
แชร์

รู้จัก หญ้าทะเล ระบบนิเวศสำคัญในทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด

ระบบนิเวศหญ้าทะเล ประกอบด้วยกลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเล และสามารถเจริญได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอัน ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยเพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ได้ในพื้นที่หญ้าทะเลบางแห่ง โดยสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง รวมถึงยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจจากการทำประมงในแหล่งหญ้า เช่น การรวบรวมลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง การทำประมงอื่น ๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู และลอบ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่มักตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นระบบนิเวศแรกๆ ที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

ข้อมูลทางชีววิทยาของ หญ้าทะเล

หญ้าทะเล เป็นพืชดอกที่เจริญเติบโตอยู่ในทะเล โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ดั้งเดิมของหญ้าทะเล มีกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า ไดอะตอม ที่อาศัยอยู่ในทะเล ต่อมาวิวัฒนาการเป็นพืชบก ซึ่งมีพัฒนาถึงขั้นสูงสุดเป็นพืชมีดอก แต่หญ้าทะเลเป็นกลุ่มพืชมีดอกกลุ่มเดียวเท่านั้นที่พัฒนากลับลงไปสู่ทะเล

หญ้าทะเล แพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และแบบอาศัยเพศ โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้น หญ้าทะเลจะแตกกิ่งก้านหรือยอดใหม่จากเหง้าหรือไรโซม (rhizome) ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศหญ้าทะเลจะผลิตดอกและมีการถ่ายละอองเกสร โดยใช้น้ำและคลื่นลมเป็นตัวพัดพา จากนั้น เมื่อมีการปฏิสนธิ ดอกตัวเมียจะพัฒนาเป็นผล ซึ่งภายในมีเมล็ดที่ใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้

หญ้าทะเลมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบกซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.ราก (root) เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุจากในดินทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดินทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง

2.เหง้า (rhizome) เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน

3.ใบ (leafblade) เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหารมีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ชนิดของหญ้าทะเลมีทั้งชนิดที่ใบมีลักษณะเป็นแผ่นแบนและชนิดที่เป็นท่อกลมใบของหญ้าทะเลถูกนำมาใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเล

ชนิดพันธุ์หญ้าทะเล

ชนิดพันธุ์หญ้าทะเล ในน่านน้ำไทยพบหญ้าทะเล 13 ชนิด จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 60 ชนิดพันธุ์ที่พบทั่วโลก ในฝั่งทะเลอันดามันพบหญ้าทะเล 12 ชนิด ขาดเพียงชนิดเดียวคือ หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppiamaritima) ซึ่งพบเฉพาะทางฝั่งทะเลอ่าวไทยเท่านั้นส่วนฝั่งอ่าวไทย พบหญ้าทั้งสิ้น 12 ชนิดเช่นกัน โดยไม่พบหญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major) ซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่เพิ่งมีรายงานการพบเฉพาะทางฝั่งอันดามันของประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ (Tuntiprapas, et al., 2015) โดยชนิดพันธุ์หญ้าทะเลสามารถแบ่งได้ง่ายๆตามลักษณะของใบเป็น2กลุ่ม คือกลุ่มที่มีใบแบนยาวหรือใบกลมยาว และกลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี

การเรียกชื่อหญ้าทะเลนั้น มีความหลากหลายไปตามพื้นที่ของชุมชนชายฝั่งทะเล และยังมีความแตกต่างกันระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน (สมบัติ, 2534 เป็นผู้บุกเบิกในการตั้งชื่อภาษาไทย) สำหรับใช้เรียกหญ้าทะเลชนิดต่างๆ ฝั่งทะเลอันดามัน โดยอาศัยชื่อพื้นเมืองที่ชาวบ้านเรียกเป็นพื้นฐาน ประกอบเข้ากับลักษณะเฉพาะของหญ้าทะเลแต่ละชนิด ดังนี้

1.กลุ่มที่มีใบแบนยาว หรือ ใบกลมยาว

• หญ้าคาทะเล (Enhalus acorides)

• หญ้าต้นหอมทะเล(Syringodium isoetifolium)

• หญ้ากุยช่ายทะเล(Halodule uninervis)

• หญ้ากุยช่ายเข็ม(Halodule pinifolia)

• หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima)

• หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata)

• หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย(Cymodocea serrulata)

• หญ้าชะเงาเต่า(Thalassia hemprichii)

2. กลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี

• หญ้าเงา หรือหญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis)

• หญ้าเงาใบเล็ก(Halophila minor)

• หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major)

• หญ้าเงาใส (Halophila decipiens)

• หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii)

ประโยชน์ของหญ้าทะเล

"หญ้าทะเล" มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก โดยทำหน้าที่ดังนี้

1. เป็นผู้ผลิต (producer) ในระบบนิเวศ และโครงสร้างของแหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อน เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อนุบาลตัวอ่อน แหล่งหากิน และแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล กุ้งทะเลและปูม้า ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กที่กล่าวถึง แต่ยังมีสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เต่าทะเล และพะยูน ที่พึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลอยู่

2. ระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศ จากป่าชายเลนกับแนวปะการังเข้าด้วยกัน มีความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ทางด้านการประมงของระบบนิเวศป่าชายเลนกับแหล่งหญ้าทะเล และแหล่งหญ้าทะเลกับแนวปะการัง มีความสัมพันธ์กันโดยมีการสนับสนุนธาตุอาหารไหลเวียนไปมาระหว่างระบบ

3. เป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญ ชาวประมงและชุมชนได้นำสัตว์ทะเลที่พบในแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้มาบริโภคและซื้อขายในท้องตลาด

4. ลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่พัดพาเข้าสู่ฝั่ง ทำให้อัตราการพังทลายของชายฝั่งลดลงโครงสร้างของแหล่งหญ้าทะเล ช่วยลดการฟุ้งกระจายของตะกอน ช่วยในการตกตะกอนของอินทรีย์วัตถุ ตะกอนดิน และกรองของเสีย และยังทำให้เกิดการหมุนเวียนและสะสมแร่ธาตุต่างๆ ในระบบนิเวศ

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อหญ้าทะเล

แหล่งหญ้าทะเลเป็นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลและความสมดุลในระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเลโดยปกติแล้วปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลมีดังนี้

1.อนุภาคดินตะกอน เป็นตัวกำหนดชนิดอัตราการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของหญ้าทะเลซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดพบตั้งแต่ทรายหยาบทรายปนซากปะการังทรายปนโคลนไปจนถึงโคลนละเอียด

2.ความเค็มของน้ำทะเลหญ้าทะเล แต่ละชนิดมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มของน้ำทะเลต่างกันชนิดที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีสามารถเจริญได้ในบริเวณที่มักมีระดับความเค็มเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นบริเวณน้ำกร่อยปากแม่น้ำส่วนหญ้าทะเลชนิดที่ไม่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงมักเจริญในบริเวณที่มีระดับความเค็มคงที่

3.ความลึกของน้ำทะเล มีความสัมพันธ์กับความทนทานต่อการผึ่งแห้งเนื่องจากหญ้าทะเลที่เจริญในบริเวณน้ำตื้นมักมีความทนทานต่อการผึ่งแห้งในขณะที่น้ำลงมากๆชนิดที่ทนทานได้ดีสามารถเจริญได้ดีส่วนชนิดที่ทนทานได้ไม่ดีนักมักเจริญในบริเวณน้ำลึกอย่างไรก็ตามหญ้าทะเลจำเป็นต้องใช้แสงในกระบวนการสร้างอาหารดังนั้นหญ้าทะเลมักเจริญเติบโตในระดับที่ระดับความลึกที่มีความเข้มแสงเพียงพอเพื่อการเจริญเติบโต

4.ความขุ่นของน้ำทะเล บริเวณที่มีการหมุนวนของน้ำบริเวณที่มีตะกอนดิน เช่น บริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน หรือบริเวณที่มีกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองแร่ในทะเล เกิดการแขวนลอยของตะกอนหรืออนุภาคของสารในมวลน้ำโดยความขุ่นส่งผลต่อคุณภาพของแสงที่ส่องผ่านผิวน้ำลงไปยังหญ้าทะเลกล่าวคือถ้าน้ำมีความขุ่นมากคุณภาพแสงจะลดลงส่งผลกระทบต่ออัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงของหญ้าทะเลด้วย

5.ความรุนแรงของคลื่นลม แม้ว่าระบบรากของหญ้าทะเลสามารถชอนไชและยึดพื้นได้ดีแต่หากกระแสความแรงของคลื่นมีมากเกินไปจะกระทบต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลทำให้ต้นหญ้าทะเลหลุดออกจากพื้นดินดังนั้นจึงพบหญ้าทะเลในบริเวณที่มีคลื่นลมไม่รุนแรงมากนัก

สถานการณ์ของหญ้าทะเลในไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลทรัพยากรหญ้าทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าแหล่งหญ้าทะเลในไทยครอบคลุม 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย ฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส และฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สถานภาพหญ้าทะเลทั้งประเทศตั้งแต่มีการลดของระดับน้ำทะเล พบแนวโน้มเแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจาก ระดับน้ำทะเลที่ลดต่ำมากถึง 22 ซม. ร่วมกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการทับถมของตะกอน ทั้งหมดเกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม

โดยปี 2567 พบหญ้าทะเลมีลักษณะใบกุดสั้นและหญ้าทะเลชนิดอื่นมีความเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่อันดามันตอนล่างตั้งแต่จังหวัดกระบี่ถึงสตูล เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มจังหวัดอันดามัน ตรังและกระบี่มีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปรวม 10,405 ไร่ และมีค่าเฉลี่ยการปกคลุมเหลือเพียง 5% หรือลดลงกว่า 5 เท่า ทำให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบอย่างมาก

สำหรับมาตรการในการอนุรักษ์พะยูนและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล (ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน) ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การสำรวจพะยูนและประเมินความสามารการรองรับหญ้าทะเลให้เป็นปัจจุบัน 2.ประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ 3.ช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและการให้อาหารทดแทน เป็นส่วนสำคัญที่สุดเพิ่อให้พะยูนอยู่รอดอย่างปลอดภัยได้ก่อน ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่ง 4.ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลซึ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี

Advertisement

แชร์
หญ้าทะเล ระบบนิเวศสำคัญ แหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด