Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สแกนกฎหมาย “ฟ้องชู้”  ฉบับเท่าเทียม

สแกนกฎหมาย “ฟ้องชู้” ฉบับเท่าเทียม

24 ม.ค. 68
00:00 น.
|
140
แชร์

เปิดสาระกฎหมายฟ้องชู้ฉบับเท่าเทียม อะไรที่เปลี่ยนไป รองรับความเท่าเทียมจริงหรือไม่ จุดเด่น - จุดด้อย พร้อมส่องนานาชาติฟ้องชู้แบบไหน

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523  และมาตรา 1516  ที่มีสาระว่าด้วยการ “ฟ้องชู้” และ ฟ้องหย่า”  เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ปกป้องสิทธิของคู่สมรสที่ถูกกระทำผิดในกรณีที่มีการนอกใจ

ล่าสุดได้มีการปรับปรุงใหม่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม โดยกฎหมายก็จะล้อไปกับ  พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา   และ “กฎหมายฟ้องชู้” ฉบับเท่าเทียมก็มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน

เราลองมาดูกันว่า กฎหมายฉบับเดิม กับฉบับใหม่ต่างกันอย่างไร เริ่มที่ มาตรา 1523 ที่เป็นเรื่องการ ”ฟ้องชู้”  เดิมใช้คำว่า  (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

 

แต่ฉบับใหม่จะเปลี่ยนคำว่า “สามีหรือภริยา” เป็น “คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

 

และในวรรคถัดมาจะใช้คำว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้”

แต่ฉบับใหม่จะใช้คำว่า  “ชู้” แทนคำว่า “ชู้สาว”  ซึ่งแปลว่าไม่จำเป็นจะเป็นเฉพาะสองเพศเท่านั้น

 

ขณะที่ มาตรา 1516 ซึ่งว่าด้วยการ “ฟ้องหย่า”  เดิมระบุว่า “สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

 

คราวนี้ฉบับใหม่ใช้ถ้อยคำว่า  “กรณีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

 

จะเห็นว่าเบื้องต้นมีความแตกต่างคล้ายเรื่องการฟ้องชู้ คือ ใช้ว่าว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีหรือภริยา”

แต่ที่น่าสนใจคือ เดิมระบุเพียงว่า “ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ”  แต่กฎหมายใหม่เพิ่มคำว่า “หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ”

 

ซึ่งการเขียนเช่นนี้เป็นการตีความอย่างกว้างว่า การ “ฟ้องชู้” อาจไม่ได้มีเหตุผลเรื่องการร่วมประเวณีเพียงอย่างเดียว แต่ หมายรวมถึงการสนอความใคร่ของตนหรือผู้อื่นด้วย

 

//////

 

            หลักในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มุมหนึ่งถูกมองว่า เป็นเรื่องของความเสมอภาค และความหลากหลายทางเพศ  โดยคำว่า “คู่สมรส” หมายถึงทั้งสองฝ่ายเป็นเพศอะไรก็ได้ ตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

อย่างไรก็ตามยังมีอีกมุมมอง ที่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ โดย  นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ และประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรม ได้ให้ความเห็นว่า  การเพิ่มคำว่า “กระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ“  อาจเป็นการตีความอย่างกว้าง  เพราะเดิมต้อง ร่วมประเวณี หรือหากเป็นภาษาง่ายๆก็คือ “มีเพศสัมพันธ์”  แต่ความหมายของคำใหม่ อาจตีความได้กว้างไกลเช่น ถ้าผู้ชายไปดูบอลบ้านเพื่อนผู้ชายจะโดนภรรยาฟ้องไหม ถ้าภรรยาสงสัยว่าสามีไปอยู่บ้านเพื่อนผู้ชาย แล้วเอามาเป็นเหตุฟ้องได้ไหม เพราะก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ในกรณีมีผู้หญิงไปฟ้องสามีว่าไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันและมันฟ้องไม่ได้ จนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

 

“ผมถามย้อนกลับไปว่า วันหนึ่งไปเที่ยวกับเพื่อนชายด้วยกันจะโดนภรรยาสงสัยไหม คดีผัวเมียคำว่าสงสัยมันไปไกลกว่าหลักฐาน มันทำให้บ้านแตกได้เหมือนกัน”

 

ขณะที่กรณีเป็นชายกับหญิง เราต้องยังพิสูจน์ว่ายกย่องหญิงอื่นหรือไม่ เปิดเผยออกหน้า ออกตา ทางโซเชียลมีเดียหรือไม่ พอเปลี่ยนกฎหมายเป็นคู่สมรส ไม่ได้ระบุเพศมา สมมติว่าไปซาวน่าด้วยกัน จะโดนฟ้องไหม จากเดิมไปปกติ แต่พอมีกฎหมายใหม่ และภรรยาสงสัย เขามีสิทธิในการสงสัยและยื่นฟ้องถ้ามีหลักฐาน

 

นายรณณรงค์ กล่าวด้วยว่า ฝากบอกผู้ร่างกฎหมายช่วยกำหนดคำนิยามให้ไม่ต้องตีความ และไม่ต้องมาตีกันในอนาคต เวลาทำคดีฟ้องชู้ โลกความเป็นจริง เวลาผัวเมียมาหา ต้องนำหลักฐานมาส่วนหนึ่ง หลักฐานจะมีมากมีน้อยเท่านั้นเอง มีมากก็ชี้ชัดได้ มีน้อยก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่กล้าฟ้อง และถ้าไปฟ้องและพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขาไปดูบอลกันจริง เขาไม่ได้มีอะไรกัน มันจะเป็นภาระที่จะต้องมาแก้ต่างในศาล

/////

 

กฎหมาย การฟ้องชู้ – การหย่าร้าง ในต่างประเทศ

 

กฎหมายการฟ้องชู้หรือการหย่าร้างในต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและวัฒนธรรมของแต่ละที่ โดยปกติแล้วหลักการฟ้องชู้หรือการหย่าในต่างประเทศจะมีเงื่อนไขหรือขั้นตอนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายข้อบังคับของประเทศนั้นๆ

 

ประเทศจีน

การฟ้องชู้ในจีนจะไม่ได้รับการพิจารณาเป็นคดีทางแพ่งที่สามารถดำเนินการได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้สามารถมีผลกระทบในด้านการหย่าร้าง การแบ่งทรัพย์สิน และการดูแลเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องหลักที่ศาลจะพิจารณาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจ

 

ประเทศเกาหลีใต้

            ในเกาหลีใต้สามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะของการฟ้องร้องทางอาญาหรือการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคู่สมรสที่ได้รับผลกระทบจากการนอกใจ และยังสามารถมีผลต่อการหย่าร้างและการแบ่งทรัพย์สินในกรณีที่มีการนอกใจเกิดขึ้น

 

ประเทศญี่ปุ่น

การฟ้องชู้ไม่ได้เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องโดยตรงในฐานะคดีทางอาญา แต่สามารถฟ้องร้องในฐานะการเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เป็นชู้ หรือในกรณีการหย่าร้าง การนอกใจสามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คู่สมรสฟ้องหย่าและอาจส่งผลต่อการแบ่งทรัพย์สินหรือการดูแลเด็ก

 

ประเทศอังกฤษ

 

ในอังกฤษการฟ้องชู้โดยตรงในฐานะคดีแพ่งหรืออาญาไม่สามารถทำได้เหมือนในบางประเทศ แต่การนอกใจยังคงเป็นเหตุผลที่สามารถใช้ในการยื่นฟ้องหย่าได้ หากคู่สมรสที่ถูกนอกใจต้องการหย่าร้าง ศาลจะพิจารณาจากหลักการความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลเด็ก แต่จะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากการมีชู้ตามกฎหมายอังกฤษ

 

ประเทศฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสมีการเน้นการประนีประนอม ในกรณีการหย่าร้าง และศาลมักสนับสนุนให้คู่สมรสแก้ปัญหาผ่านการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยก่อน การมีชู้อาจถูกมองในเชิงศีลธรรม แต่ไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะฟ้องร้องทางแพ่งหรืออาญาต่อบุคคลที่สาม (ชู้) โดยตรง

 

ประเทศแคนาดา

 

ในประเทศแคนาดาการฟ้องร้องเรื่องชู้หรือการมีความสัมพันธ์นอกสมรส ไม่ถือว่าเป็นคดีความในแง่กฎหมายครอบครัวหรืออาญาเหมือนในบางประเทศ แคนาดามีระบบกฎหมายที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายที่ตรงกับเรื่องชู้หรือการนอกใจโดยตรง อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์นอกสมรสอาจส่งผลต่อคดีความอื่นๆ เช่น หากคู่สมรสมีการทำข้อตกลงก่อนสมรส และมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการนอกใจ การมีชู้อาจถือเป็นการละเมิดสัญญา และคู่สมรสที่ถูกละเมิดอาจเรียกร้องค่าชดเชยได้

/////

Advertisement

แชร์
สแกนกฎหมาย “ฟ้องชู้”  ฉบับเท่าเทียม