Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"ยายแฟง" ตำนานโสเภณีสร้างวัด แม่เล้าผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

"ยายแฟง" ตำนานโสเภณีสร้างวัด แม่เล้าผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

6 ก.พ. 68
23:30 น.
|
31
แชร์

"ยายแฟง" ตำนานโสเภณีสร้างวัด แม่เล้าผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา จนเก็บเงินสร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล ที่อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

ชื่อของ "ยายแฟง/ย่าแฟง" ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งจากละครที่นางเอกย้อนเวลามาเป็นนางคณิกาตัวท็อปแห่งโรงแม่แฟง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มาของตำนานโสเภณีสร้างวัดคณิกาผล หรือ วัดใหม่ยายแฟง วัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี ที่ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

ยายแฟง/ย่าแฟง คือใคร?

ยายแฟงหรือบางคนเรียกย่าแฟง แม่เล้าเจ้าของโรงโสเภณี ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ย่านตรอกเต๊า เยาวราช หญิงที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จนเก็บหอมรอมริบและชวนหญิงคณิกาในสังกัดโดยหักเงินค่าตัวเก็บเงินสร้างวัด ด้วยความเฟื้องฟูของโรงโสเภณีในสมัยนั้นทำให้ยายแฟงสามารถสร้างวัดได้สำเร็จ ชื่อว่า วัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล ในปัจจุบันนี้

พระครูปลัดประยูร สมจิตโต แห่งวัดคณิกาผล เล่าว่า วัดคณิกาผลแห่งนี้ แต่ก่อนชื่อวัดใหม่ยายแฟง สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2376 ช่วงยุคปลายรัชกาลที่ 3 สันนิษฐานได้จากตระกูลเปาโลหิตย์ น่าจะสร้างวัดเปาโลหิตอยู่ฝั่งธน หลังจากนั้นคุณยายแฟงก็มาสร้างวัดฝั่งพระนคร ต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดคณิกาผล ในช่วงรัชกาลที่ 4 ถือว่าวัดคณิกาผล ก็คือผลจากหญิงคณิกาหรือหญิงงามเมือง

ยังมีเรื่องเล่าต่ออีกว่าหลังวัดสร้างเสร็จ ย่าแฟงได้นิมนต์ หลวงพ่อโต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ให้มาเทศน์ฉลองวัด ซึ่งในครั้งนั้นหลวงพ่อโตได้บอกกับย่าแฟงว่าการสร้างวัดของย่าแฟง ได้อานิสงค์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนทำบุญ 1 บาท แต่ได้บุญเพียง 1 สลึงเฟื้อง เพราะว่าเงินจากหญิงคณิกาที่คุณย่าแฟงหักออก บางคนก็เต็มใจบ้างไม่เต็มใจบ้าง แต่คุณย่าแฟงก็หักทุกครั้งที่ให้บริการแล้วเก็บไว้เพื่อที่จะสร้างวัด

พระครูปลัดประยูรเปิดเผยว่า เริ่มมีผู้คนมากราบไหว้ย่าแฟงในปี 2559 แต่ทุกวันนี้คนมาไหว้เยอะมาก คุณย่าแฟงขอได้ทุกเรื่อง ทั้งความรัก หน้าที่การงาน สุขภาพ แต่ก็อยากฝากไว้ว่า ถ้าขอได้แล้ว คุณย่าแฟงชอบแบ่งปัน ขอได้แล้วก็อยากให้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป

แม้เรื่องราวของยายแฟง แม่เล้าเจ้าของโรงโสเภณีย่านตรอกเต๊า เยาวราช จะผ่านมาเกือบ 200 ปีแล้ว แต่ทว่าผู้สืบทอดเชื้อสายของยายแฟงยังคงหลงเหลืออยู่ หนึ่งในนั้นคือ "ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ" ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ผมเรียกท่านว่าท่านแฟงก่อนก็แล้วกันนะครับ เพราะว่าหมดคำศัพท์ที่จะเรียกลำดับญาติจนถึงชั้นที่เป็นผม โดยเบื้องต้นก็อยากเรียนว่าห่างกันสัก 6 ชั่วคน ท่านแฟงมีชีวิตอยู่ประมาณรัชกาลที่ 2,3,4 ท่านเป็นคนไทย แต่ว่าแต่งงานกับคู่ชีวิตของท่านคือเจ้าสัวเอี๋ยน คำว่าเจ้าสัวก็น่าจะบอกได้ว่าเป็นคนมีฐานะมีสตางค์มากพอสมควร และก็บอกได้ด้วยว่าเป็นคนเชื้อสายจีน แต่เราไม่มีหลักฐานว่าจีนอะไร ท่านมีลูกสาวอยู่ 2 คน คือท่านเอมกลับท่านกลีบ

ท่านเอมพอเป็นสาวขึ้นก็แต่งงานกับพระมหาราชครูมหิธร (นิล) ข้าราชการด้านกฎหมายในสมัยโน้น ตำแหน่งพระมหาราชครูมหิธร น่าจะกล่าวว่าเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ตามสมควร แล้วท่านเป็นลูกใคร ท่านเป็นลูกพระมหาราชครูปุโรหิตาจารย์ ชื่อ บุญรอด ด้วยซ้ำไป ท่านพระมหาราชครูมหิธรท่านชื่อนิล ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ก่อน การที่ท่านแฟงและท่านเจ้าสัวเอี๋ยนยกลูกสาวให้แต่งงานกับลูกมหาราชครูปุโรหิตาจารย์ แปลว่าการสมรสหนนั้นต้องนึกถึงความพอเหมาะพอสม ฐานานุรูป การยอมรับของสังคมด้วย ถ้าเราจะกล่าวล่วงหน้าไปสักนิดว่าท่านแฟงเป็นเจ้าของกิจการโรงโสเภณี แต่ค่านิยมในสมัยนั้นไม่มีข้อรังเกียจนะ การที่ลูกสาวบ้านนี้แต่งงานกับลูกชายบ้านนู้น แล้วลูกชายบ้านนู้นเขาเป็น ขุนศาลตุลาการผู้ใหญ่ ถึงขั้นพระมหาราชครูปุโรหิตาจารย์ ลูกเขาเป็นมหาราชครูมหิธร ต้องมีความสมน้ำสมเนื้อกันตามสมควร

พระมหาราชครูมหิธรที่ชื่อนิล กับ ท่านเอม แต่งงานกัน มีลูกชายเพียงแค่คนเดียวชื่อขุนศรีธรรมราช เป็นสายงานตุลาการเหมือนกัน ขุนศรีธรรมราชที่ว่านี้ก็แต่งงานกับท่านน้อย มีลูกสามคนคือ คุณหญิงชุ่ม ท่านแต่งงานกับผู้พิพากษาเหมือนกันคือท่านพระยาธรรมศาสตร์นาถประนัย ท่านชุ่มที่ว่านี้เป็นย่าของแม่ผมโดยตรง

ท่านที่สองคนกลาง เจ้าพระยามุขมนตรี ชื่อ อวบ เปาโรหิตย์ ท่านเป็นเทศาภิบาล เป็นเจ้าพระยารุ่นท้ายๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 แล้วก็คนสุดท้ายชื่อหม่อมแช่ม เป็นหม่อมของหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยคุณหญิงชุ่มท่านมีลูกคือ คุณพระประมวล วินิจฉัย เป็นผู้พิพากษา แล้วก็เป็นแม่ผม เป็นผม แต่นับว่า 6 ลำดับชั้นขึ้นไป

เรื่องอย่างนี้ถามว่าผมรู้ได้อย่างไร เนื่องจากครอบครัวที่ผมได้ออกนามท่านทั้งหลายมาแล้ว โดยมากมีตำแหน่งแห่งหนรับราชการ แต่งงาน สัมพันธ์เชื่อมโยงกับครอบครัวใหญ่ครอบครัวสำคัญทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราก็เรียกเป็นมุขปาฐะ มีเรื่องเล่าในครอบครัว มีการจดไว้ด้วยว่าเรื่องราวเป็นเช่นไร เพราะฉะนั้นก็ยังนับได้ว่าใครเป็นใคร

ยายแฟงกับการสร้างวัด

พอพูดถึงวัดคณิกาผลหรือวัดใหม่ยายแฟง ก็มีวัดเยอะมากเลยที่เกี่ยวข้อง พระมหาราชครูปุโรหิตาจารย์ ท่านสร้างวัดอยู่แถวๆ บางพลัด ชื่อวัดเปาโรหิตย์ แล้วก็มีคุณกลีบที่มีลูกชื่อกัน (กัน สาครวาสี) ท่านสร้างวัดอยู่ไม่ไกลวัดใหม่ยายแฟง ชื่อวัดกันมาตุยาราม เพราะฉะนั้นวัดเหล่านี้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันอยู่

คณิกาเป็นคำไพเราะ ถ้าพูดในภาษากลางๆ ปัจจุบันก็คือโรงโสเภณี ถ้าปัจจุบันเราพูดถึงการทำมาหากินในแนวทางอย่างนี้หรือที่เรียกว่าการขายบริการ ก็ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่หลายคนตะขิดตะขวงใจว่าจะทำได้หรือ จึงเป็นค่านิยมในอดีตกาล ถูกแหละมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ได้แปลว่าความผิดความถูกมันจะคงที่อยู่ตลอดไป

แต่กลับมาพูดถึงสมัยรัชกาลที่ 2,3,4 ถึงแม้จะไม่ใช่อาชีพซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นที่ยกย่อง แต่ก็ไม่ได้ต้องห้ามตามกฎหมายในสมัยนั้น ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ห้ามปรามแต่อย่างใด ที่น่าสังเกตุก็คือว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคสมัยที่การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นยุคสมัยที่มีความรุ่งเรืองมาก แปลว่าบ้านเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองค่อยสงบสุขขึ้นนะ ในสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างวัดไว้เยอะ แต่อันนั้นพระเจ้าแผ่นดินสร้าง วัดที่เป็นราษฎรสร้างมาเพิ่มเติมขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองค่อยสงบเรียบร้อยขึ้น ท่านแฟงก็คงจะเก็บหอมรอมริบ มีสตางค์จากการมีสำนักโสเภณีที่ว่า ถ้าเป็นปัจจุบันเราอาจจะนึกถึงค่านิยมปัจจุบันขึ้นต้นคนมีสตางค์ ไม่ว่าจะได้มาจากทางใดก็แล้วแต่ เขาสร้างบ้านหลังใหญ่ ซื้อรถยนต์ราคาแพง นี่ก็เป็นคุณค่าของสังคมในปัจจุบัน

แต่เราสังเกตไหมครับว่าในสังคมเมื่อเกือบ 200 ปีมาแล้ว ไม่มีคนพูดว่าบ้านของคุณยายแฟงอยู่ตรงไหน ใหญ่โตแค่ไหน แต่ท่านสร้างวัด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจีรังยั่งยืนมากกว่า วัดที่ทำแล้วก็ไม่ใช่ของส่วนตัว ใครต่อใครก็เข้าไปทำบุญทำกุศลที่วัดนั้นได้ ผมเชื่อว่าท่านแฟงท่านก็เดินตามค่านิยมในสมัยนั้น คือมีสตางค์มาแล้วก็นำไปสร้างวัด ส่วนการจะแปรความไปอีกบรรทัดหนึ่งว่าเป็นการชดเชย เป็นการบกพร่องต่อศีลธรรม ผมไม่มีหลักฐานใดๆ ก็เป็นสิ่งที่เราพูดกัน ซึ่งอาจจะเป็นข้อสันนิษฐาน ใช่หรือไม่ใช่ผมก็ไม่สามารถยืนยันได้เช่นกัน

แม่เล้า-โสเภณีสร้างวัด เป็นที่ภูมิใจมากกว่าตะขิดตะขวงใจ

ผมไม่รู้สึกลำบากใจอะไรกับเรื่องเหล่านี้นะครับ ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ เรานำเอาค่านิยมปัจจุบันไปวินิจฉัยคุณค่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีมาแล้ว มันก็ดูจะไม่เป็นธรรมสำหรับทุกคน ไม่เป็นธรรมสำหรับตัวเราเองด้วย ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้คนในยุคสมัยนั้นด้วย ผมคิดว่าอยู่ที่มุมมองมากกว่า อย่างที่บอกการมีสำนักโสเภณี การมีอาชีพเช่นว่านี้ การเป็นเจ้าของธุรกิจแบบนี้ในเวลานั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้เป็นที่เชิดชูยกย่อง ผมคิดว่าเราก็รับรู้ความจริงข้อนั้น แต่ในสถานการณ์ซึ่งซ้อนทับกันอยู่ คือการสร้างวัด การที่บำเพ็ญกุศลสำคัญต้องใจเด็ดพอสมควรนะ จะเก็บไว้กินไว้ใช้ก็ได้นะ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เก็บหอมรอมริบไว้ในแวดวงลูกหลานครอบครัวท่าน การสร้างวัดไม่ใช่ของง่าย ต้องมีกำลังศรัทธามีกำลังทรัพย์ มีองค์ประกอบอื่นอีกเยอะในการที่จะสร้างวัดขึ้นมา สร้างแล้วก็ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของท่าน ทุกวันนี้ใครไปพลับพลาไชยก็ไปวัดที่ว่านี้ได้ ผมอยากจะมองในมุมนี้ เป็นความภาคภูมิใจไม่ได้มองว่าเป็นความตะขิดตะขวงใจอะไร

ผู้คนทั้งหลายในสมัยนี้ ก็นิยมไปกราบไหว้ สักการะ บูชาขอพรจากท่าน ส่วนท่านจะให้ได้มากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้นะ แต่สำหรับผมเมื่อมีวาระโอกาสสำคัญ ผมก็ไปเคารพกราบไหว้ เพราะท่านเป็นบรรพบุรุษของเราคนหนึ่ง ก็สำนึกในพระคุณท่านที่ตั้งหลักปักฐานสร้างครอบครัว เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาจนถึงตัวเราได้ครับ

ผมมีข้อฝากสักสองเรื่อง หนึ่งก็คือรูปเคารพของท่านที่อยู่ท้ายพระอุโบสถ ในช่วงท้ายผมเข้าใจว่าท่านปฏิบัติธรรมนะ รูปที่ท่านเป็นอุบาสิกา ถึงแม้จะไม่ได้เห็นนุ่งขาวห่มขาว แต่ควรสันนิษฐานได้ว่านุ่งขาวห่มขาวอยู่นะ ถ้าท่านมีศรัทธาอยากจะไปเซ่นสรวงบวงพลี ไปสักการะด้วยของสวยของงามต่างๆ ก็วางไว้เถิด ไม่จำเป็นต้องไปประดับไปสวม มันอาจจะฝืนกับรูปที่ท่านแต่งกายเป็นอุบาสิกาอยู่

ข้อฝากที่สอง เมื่อไปเคารพกราบไหว้แล้ว ผมอยากจะชวนท่านคิดว่าคุณยายแฟงท่านไม่ได้มีฐานะมีชื่อเสียงเพียงประเด็นเดียวว่าเป็นเจ้าของสำนักบริการ ท่านมีชื่อเสียงที่ยิ่งกว่านั้นคือการเป็น "คนสร้างวัด" เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่บำเพ็ญกุศล สิ่งเหล่านี้ไปถึงตรงนั้นแล้ว ถ้าหากนึกถึงว่าจริยวัตร ความประพฤติของท่านในส่วนนี้แล้วก็เดินตามสิ่งที่ท่านทำ ซึ่งผมคิดว่าเป็นมุมบวกนะ เป็นสิริมงคลกับการไปกราบไหว้แล้วก็ทำบุญด้วย ไม่ควรจะจบแค่การไปไหว้ท่านแฟงหรอก จะทำบุญที่วัดนั้นเองหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าถ้าท่านทราบได้ ท่านก็จะอนุโมทนา

อย่าไหว้ด้วยความโลภ หากมีอยากให้แบ่งปัน

พระครูปลัดประยูร สมจิตโต แห่งวัดคณิกาผล กล่าวว่าบุญคือความสุขความสบายใจของเรา เราสร้างแล้วมีความสุขความสบายใจนั่นแหละคือบุญ บุญกุศลในการสร้างวัดอยู่จนถึงวันนี้ วัดคณิกาผลถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ในย่านนี้เลย เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้อยู่กับประเทศไทยของเรา พระท่านก็สอนไว้ มาไหว้คุณย่าแฟงอย่ามาเพราะความโลภ เพราะคุณย่าแฟงไม่ชอบความโลภ เพราะความโลภจะทำให้คนเราเปลี่ยน ความโลภมา ความโกรธ ความหลง สามอย่างนี้จะทำให้คนเราเปลี่ยนแล้วโลกก็จะเปลี่ยน

Advertisement

แชร์
"ยายแฟง" ตำนานโสเภณีสร้างวัด แม่เล้าผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา