Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สรุปดรามาตัดงบประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม.

สรุปดรามาตัดงบประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม.

3 เม.ย. 68
11:43 น.
แชร์

สรุปดรามาตัดงบประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม. เมื่อครั้ง เนอส ภัทราภรณ์ ส.ก.เขตบางซื่อ เคยเสนอแต่ถูกตีตกสภาฯ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ขณะเดียวกันก็มีการเปิดเผยคลิปการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2568 วาระที่ 2-3 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ ส.ก.เนอส ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน เคยนำเสนอโครงการค่าจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร มูลค่าโครงการ 9 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณ

โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพมหานคร แต่ทว่าถูกสภาฯ ตีตก โดยให้เห็นผลว่า โครงการไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ขอ และสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหว คณะกรรมการวิสามัญจึงมีข้อมติให้ไม่ผ่าน

"การเสนอของ ส.ก. เนอส ภัทราภรณ์"

- โครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร หลายท่านอาจจะมองว่าโครงการจ้างที่ปรึกษาเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่จำเป็น หลายครั้งเป็นช่องทางในการทุจริตอย่างง่าย แต่อยากให้พิจารณาในความเป็นจริง หลายโครงการจำเป็นจะต้องจ้างที่ปรึกษา เนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะทางที่ฝ่ายบริหารเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญ

- แผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ในประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้บนตึกสูงในกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์นี้กระทบตึกสูงในย่านธุรกิจ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่กังวลว่าอาคารจะปลอดภัยหรือไม่ โรงพยาบาลต้องอพยพผู้ป่วยออกอย่างโกลาหล ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนกรุงเทพฯ แต่อย่างใด

- ประเทศไทยมีกฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 2550 และออกฉบับใหม่ในปี 2564 เรื่องกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว จากข้อมูลในปี 2566 กรุงเทพมหานครมีอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์บังคับเรื่องแผ่นดินไหวเพียง 3,028 อาคาร ในขณะที่อาคารเก่าที่สร้างโดยไม่รองรับแผ่นดินไหวมีมากถึง 10,386 อาคาร

- โครงการนี้เป็นการจ้างที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านแผ่นดินไหว เพื่อมาประเมินตรวจสอบแต่ละอาคารโดยเฉพาะ เนื่องจากโครงสร้างและรูปแบบอาคารแต่ละหลังต่างกัน รวมถึงต้องติดตั้งเครื่องมือวัดสมรรถนะโครงสร้างอาคารแบบต่อเนื่อง เครื่องมือนี้จะวัดการตอบสนองของโครงสร้างอาคารต่อการสั่นสะเทือนตลอดเวลา เพื่อประเมินกำลังต้านทานแผ่นดินไหว และเมื่อเครื่องมือสามารถบอกผลได้อย่างเรียลไทม์ กรุงเทพมหานครก็จะสามารถสื่อสารได้กับพี่น้องประชาชนได้ทันที ว่าอาคารนั้นมีความแข็งแรงมากพอที่จะกลับเข้าไปหรือไม่

- จะมีการติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวทั้งหมด 6 อาคาร นำร่อง ได้แก่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง, อาคาร 72 พรรษา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลตากสิน, อาคารธนบุรีศรีมหาสมุทร โรงพยาบาลตากสิน, อาคารเพชรรัตน์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และอาคารคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

- งบประมาณ 9 ล้านบาท ไม่ใช่งบผูกพัน เป็นงบประมาณปีเดียว นอกจากค่าจ้างบุคลากร ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของโครงการ จำนวน 5,479,000 ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นการซื้อขาดและติดไว้กับตัวอาคารอย่างถาวร ต่อให้โครงการจ้างที่ปรึกษานี้จบไปในปีงบประมาณ กรุงเทพมหานครก็สามารถติดตามสมรรถนะโครงการของโครงสร้างอาคารได้เองต่อ หากโครงการนี้ผ่าน กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นต้นแบบให้อาคารสูงในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งนั่นหมายความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนนอกกรุงเทพมหานคร

"สภาฯ ตีตก เพราะงบฯ ไม่สมเหตุสมผลกับโครงการ และกทม. ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว"

นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญร่างงบประมาณฯ ในตอนนั้น ลุกขึ้นกล่าวสรุปตัดโครงการดังกล่าว เนื่องจากงบประมาณไม่สมเหตุสมผล และความเหมาะสมของโครงการกับสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหว

- ชื่อโครงการค่าจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทาน แรงแผ่นดินไหว อาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 9 ล้านบาท ชื่อโครงการก็บอกแล้วว่าเป็นโครงการค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาประเมิน คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ตัดทั้งรายการ เนื่องจากความเหมาะสมของโครงการกับสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหว ถ้าเทียบกับจังหวัดในภาคเหนือ หรือภาคตะวันตก ที่อยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวสำคัญ

- การลงทุนในโครงการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน หรือจำเป็นเทียบเท่ากับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาจราจรที่เป็นปัญหาชิ้นใหญ่ ความคุ้มค่าของงบประมาณโครงการมูลค่า 9 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจและงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้กับโครงการอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า เช่นการปรับปรุงระบบระบายน้ำ หรือ การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างในสถานการณ์ที่ทรัพยากรมีอย่างจำกัด

- ความชัดเจนในการดำเนินโครงการ ทั้งในแง่ของวัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินงานที่คาดหวังว่าจะได้จากการจ้างที่ปรึกษามาประเมินอาคาร ไม่ชัดเจน ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าผลลัพธ์จากการประเมินนี้ จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงหรือป้องกันในรูปแบบใด จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร

- การประสานงานระหว่างหน่วยงาน อาจต้องอาศัยการประสานงานร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานโยธา สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานด้านการป้องกันภัยพิบัติ อาจขาดความพร้อมในการทำงานร่วมกัน และองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการวิสามัญได้มีข้อถกเถียงกันในที่ประชุม ได้มีข้อมติให้ไม่ผ่านโครงการนี้

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568 หลายอาคารในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ภาพหมอ-พยาบาล เข็นผู้ป่วยออกจากอาคารอย่างทุลักทุเล ทำให้สังคมยิ่งกลับไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตัดงบฯ หนาหู นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายญัตติด่วนถึงประเด็นเคยมีมติตัดงบฯ ประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม. ในปี 2567

ส.ก.เพื่อไทยออกมาโต้ ตัดงบเพราะโครงการไม่ชัดเจน หวั่นไม่เกิดประโยชน์ได้จริง

- ประชาชนหลายคนเกิดความเข้าใจผิด ในฐานะที่เป็น ส.ก.ตัวแทนของประชาชนชาวดอนเมือง ประเด็นสำคัญในการพิจารณางบประมาณของกรุงเทพมหานคร เราพิจารณาเพื่อความปลอดภัย ความสะดวกสบาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน เราให้ความสำคัญกับปัญหาแผ่นดินไหว สิ่งที่เกิดขึ้นพวกเราเสียใจและไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

- วันนั้นดิฉันเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 จึงต้องทำหน้าที่รายงานทุกโครงการที่ผ่านและไม่ผ่านการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สภาฯ ได้พิจารณา เรื่องที่ทุกคนพูดถึงคือเรื่องจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวในอาคารสูงสังกัด กทม. ผ่านอนุกรรมการวิสามัญโยธา และเมื่ออนุกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเรื่องรายงานสู่คณะกรรมการวิสามัญ ที่ประกอบตัวแทนของผู้ว่าฯ และส.ก. หลายสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสังกัดอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย

- เหตุผลที่ทางคณะอนุกรรมการได้พิจารณา เห็นว่าโครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและ TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไรในเชิงนโยบายและการปฏิบัติงาน คณะกรรมการจึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไร อีกข้อหนึ่งของความไม่ครอบคลุมคือ ในเอกสารฉบับนี้ วัตถุประสงค์พูดอย่างเดียวคือเรื่องจ้างที่ปรึกษา ส่วนเรื่องลักษณะงานก็จ้างที่ปรึกษาอีกเช่นกัน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับก็มีแต่รายงาน

- งบประมาณ 9 ล้านบาท เป็นเรื่องบุคลากรเกือบ 40% ตีเป็นยอดเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท เป็นอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้าน ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้าน และค่าจัดทำรายงาน 79,000 บาท รวมแล้ว 9 ล้าน

- อุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนราคาประมาณ 3 ล้าน เป็นเครื่องที่ไม่มีขาย ต้องประดิษฐ์ขึ้นมา และการติดตั้งเครื่องไม่ได้บอกว่าเป็นการแจ้งเตือนว่าอีก 3 หรือ 5 นาที จะแผ่นดินไหว เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือน ซึ่งถ้าหากมีแผ่นดินแน่นอนว่าทุกคนต้องอพยพหนี คงไม่มีขอไปดูเครื่องนี้ก่อนว่ามันจะถล่มหรือไม่

- เวลาเราพิจารณางบประมาณฯ เราพิจารณาตามเอกสารที่ส่งมา เมื่อเราเห็นแล้วก็ต้องมั่นใจเพราะสมาชิกเป็นผู้พิจารณาทั้งนั้น โดยเฉพาะประธาน เพราะเรื่องนี้ผ่านประธานอนุกรรมการวิสามัญโยธาซึ่งท่านเป็นประธานคณะกรรมการสามัญโยธาของกรุงเทพมหานคร

- อยากเรียนทุกท่านว่ามันไม่ใช่เครื่องแจ้งเตือน แต่เป็นเครื่องที่ไว้วัดการสั่นสะเทือน ณ นาทีในปี 2567 ที่มีการพิจารณางบประมาณ อยากให้เข้าใจตามนี้ โครงการที่จะใช้ก็ขอเป็นโครงการป้องกันและบรรเทา แผ่นดินไหว ควรเป็นโครงการที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งบรรเทาและป้องกันภัย อีกทั้งควรถูกบังคับใช้ในวงกว้างมากกว่าโครงการที่กล่าวถึง

- การพิจารณางบประมาณเรานึกถึงความสำคัญความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เช่น โครงการติดตั้งไฟแสงสว่าง ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ขอเสนอใช้งบประมาณเยอะมาก เราเห็นด้วยก็ผ่านให้ในทุกๆ โครงการที่เป็นความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน การรักษาพยาบาลรวมถึงการสร้างโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยต่างๆ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครด้วย แต่เงินที่ใช้มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน ต้องเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ และที่สำคัญต้องโปร่งใส

- ขอยืนยันว่าวันนั้นได้ทำหน้าที่รายงานสู่สภาแห่งนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณ หากพี่น้องประชาชนที่ไม่เข้าใจหรืออยากทราบรายละเอียดสามารถตรวจสอบและติดต่อได้ที่สภาแห่งนี้ เชื่อว่าทุกคนยินดีให้ความเข้าใจมากกว่าที่จะใช้การสื่อสารทางการเมืองที่มุ่งเน้นในการที่จะทำลายสภาแห่งนี้ รวมถึงความตั้งใจของสมาชิกสภาแห่งนี้ ที่จะให้เกิดผลประโยชน์โดยทั่วกัน

Advertisement

แชร์
สรุปดรามาตัดงบประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม.