Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
‘ทุนสีเทา’ สู่เส้นทางทุจริตการนำเข้าอาหาร

‘ทุนสีเทา’ สู่เส้นทางทุจริตการนำเข้าอาหาร

11 เม.ย. 68
12:03 น.
แชร์

ปัจจุบัน คนจีนรุ่นใหม่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห้วยขวาง ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ หากมองอย่างผิวเผินก็อาจเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนจีนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ มีการใช้คนไทยเป็นนอมินีและหลีกเลี่ยงกฎหมายของไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือเรียกว่า “ทุนสีเทา” โดยปัญหาของการทุจริตนี้สะท้อนผ่านอาหารที่ไม่มีฉลากภาษาไทยจำนวนมาก ซึ่งกำลังวางขายเกลื่อนเมือง และการนำเข้าอาหารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐานและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 ชี้ให้เห็นปัญหา “ทุนสีเทา” กับเส้นทางทุจริตการนำเข้าอาหารที่ผิดกฎหมาย ไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่แสดงฉลากภาษาไทย พร้อมตั้งคำถามถึงระบบสุ่มตรวจอาหารนำเข้าของประเทศว่ามีอะไรเป็นช่องโหว่ เราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร และทุนสีเทาที่เข้ามากำลังทำลายระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างไร

เส้นทางทุจริตการนำเข้าอาหาร

ปฏิบัติการ ‘บุก ตรวจ จับ’ ขบวนการลักลอบนำเข้าอาหารผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสินค้าจีนหนีภาษีไม่ขอ อย. นั้น มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2566 สภาผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนว่าพบร้านขายอาหารต่างประเทศที่นำเข้ามาจำหน่ายโดยไม่แสดงฉลากภาษาไทย จากนั้นมีการลงพื้นที่ย่านห้วยขวางและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหาร พร้อมทำหนังสือถึง เลขาธิการ อย. เรื่องการควบคุมการกำกับดูแลฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต่างประเทศที่นำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย และขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกร้านค้าในไทยที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ผลพวงครั้งนั้น ทำให้ตลอดปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ปูพรม ตรวจสอบ เฝ้าระวังร้านค้าจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคผิดกฎหมายหลายสาขาทั่วกรุงเทพ โดยตลอดระยะเวลา 4 เดือน (ก.ค. - พ.ย. 67) รวม 47 แห่ง เจ้าหน้าที่พบผลิตภัณฑ์แสดงฉลากไม่ถูกต้องหลายร้อยรายการ และยึดของกลาง รวมทั้งสิ้น 94,476 ชิ้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายว่าการทำงานขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลกจะใช้วิธีแบบเดียวกันนั่นก็คือการสุ่มตรวจสินค้าตามท้องตลาด ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีอำนาจในการสั่งสุ่มตรวจสินค้านำเข้าตามด่านชายแดน โดยวิธีการที่นานาประเทศทำกันคือเมื่อมีการสุ่มตรวจตามท้องตลาดแล้วพบสินค้าอาหารไม่ปลอดภัย ผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการจะต้องนำอาหารออกจากท้องตลาดทันที โดยไม่มีข้อโต้แย้ง อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีระบบการนำอาหารออกจากท้องตลาด ขณะที่ในยุโรปหากตรวจเจออาหารไม่ปลอดภัยภายใน 24 ชั่วโมง ต้องนำอาหารนั้น ๆ ออกจากท้องตลาดทันที โดยผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่ทิ้งให้เป็นภาระหน่วยงานรัฐแบบไทย นั่นจึงเป็นที่มาของการเสนอให้มีการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ภายหลังบังคับใช้มา 46 ปี ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐไม่ครอบคลุม และไม่เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้น

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร แต่ก็มีนำเข้าอาหารไม่น้อย อาทิ พืช ผัก ผลไม้ สะท้อนจากด่านเชียงของที่มีสินค้านำเข้าวันละหลายร้อยตัน ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งคำถามถึงระบบตรวจสอบ ระบบสุ่มตรวจของไทย เป็นระบบอย่างไร ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ เนื่องจากระบบสุ่มตรวจที่เป็นมาตรฐาน จะเป็นเหมือนการรับรองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการขยายผลสืบหาผู้เกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบนำเข้าอาหารผิดกฎหมาย และติดตามตรวจสอบเครือข่ายอื่น ๆ ที่อาจมีพฤติการณ์เดียวกันนั้น หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารมีการเอาจริงเอาจัง และมีการสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเดินหน้าตรวจสอบซูเปอร์มาร์เก็ตและมินิมาร์ททั่วประเทศ เพื่อกวาดล้างและปราบปรามการจำหน่ายอาหารผิดกฎหมาย พร้อมประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการป้องกันอาหารผิดกฎหมายทะลักเข้าสู่ตลาดในประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อไม่ให้สินค้าดังกล่าวมาทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็มีข้อสังเกตที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการลักลอบนำเข้าอาหารผิดกฎหมายย่อมไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย ๆ และการทะลักเข้ามาของอาหารที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่แสดงฉลากภาษาไทยที่วางขายเกลื่อนเมืองนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการละเลยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงขบวนการสินบนที่อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

แล้วขบวนการลักลอบนำเข้าอาหารผิดกฎหมายจากจีนถูกนำเข้ามายังประเทศไทยได้อย่างไร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีซูเปอร์มาร์เก็ตจีน 8 แห่ง ที่ลักลอบขายสินค้าอุปโภคบริโภคผิดกฎหมาย สังคมไทยจึงพอมองเห็นเส้นทางการลักลอบนำเข้าอาหารผิดกฎหมายจากจีนที่ขนมาทางบก โดยการใช้รถบรรทุกขนผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ก่อนนำเข้ามาเก็บในโกดังแถวจังหวัดปริมณฑล แล้วกระจายขายต่อในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ

เรื่องดังกล่าวสอดรับกับ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่าผู้ประกอบการไทยได้มีการร้องเรียนว่า พบสินค้าที่ถูกนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายตามตะเข็บชายแดน โดยมีการจ่ายสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ การตรวจสอบสินค้าแบบเปิดตู้คอนเทนเนอร์ และไม่เปิดตู้คอนเทนเนอร์ในอดีตเคยจ่ายอยู่ที่ 6,000 - 7,000 บาทต่อตู้ ปัจจุบัน เมื่อมีความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น ค่าไม่เปิดตู้ขยับขึ้นไปสูงถึง 10,000 บาทต่อตู้

นายแสงชัยระบุว่า การเข้ามาของทุนข้ามชาติในสายตาภาคธุรกิจนั้นไม่ได้มีการมองแค่จีนประเทศเดียว เพราะยังมีทุนรัสเซียหรือทุนจากประเทศอื่น ๆ อีก ที่เป็น “ทุนเทา” เข้ามาทำธุรกิจแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน โดยจะพบทุนรัสเซียอยู่แถบภาคตะวันออกอย่างพัทยาของชลบุรี ทุนจีนเน้นอยู่ย่านเศรษฐกิจ บางโซนของกรุงเทพ และตามหัวเมืองใหญ่ ๆ

ข้อมูลจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยแสดงตัวเลขให้เห็นชัดว่า ภาคการค้ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.3 ล้านราย และทำให้เกิดการจ้างงาน 4.3 ล้านราย โดยเอสเอ็มอีกลุ่มการค้า แบ่งได้ 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคานต์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ และร้านค้าปลีกสินค้าอื่น ๆ ในร้านค้าทั่วไป ซึ่งจะเห็นว่า 99% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ฉะนั้น ขีดความสามารถในการแข่งขันกับทุนต่างชาติย่อมต่ำกว่า ทั้งในเรื่องแหล่งวัตถุดิบราคาถูก เพราะการซื้อจำนวนน้อยทำให้อำนาจต่อรองต่ำ ปัญหาการบริหารสินค้าคงคลัง ไม่มีซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการบริหารชั้นวางและความสวยงาม ซึ่งเป็นข้อจำกัดเอสเอ็มอีในภาคการค้าปลีกที่มีมากกว่า 400,000 รายทั่วประเทศ

“ผู้ประกอบการไทยเรายินดีต้อนรับนักธุรกิจนักลงทุนที่เข้ามาอย่างถูกต้อง เข้ามาทำธุรกิจด้วยมิตร แต่เรามองว่าการที่เข้ามาทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เอาเปรียบ และเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยและแรงงานไทยได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของการมีนอมินี ทัวร์ศูนย์เหรียญ เรื่องของล้ง เรื่องของค้าปลีก เรื่องของโรงงานผลิตสินค้า

ที่ประเทศไทยได้เฉพาะค่าเช่ากับค่าสาธารณูปโภค แต่ทุกอย่างที่เหลือนำเข้ามาเองหมด แล้วถ้าวันนี้เราบอกว่าทุกอย่างเสรี เราต้องการความเป็นเสรี เปิดการแข่งขัน แต่การแข่งขันนั้นจะเป็นมือใครยาวสาวได้สาวเอาใครตัวใหญ่ทุบตัวเล็ก เราจะเอาแบบนั้นหรือเปล่า นโยบายในการปกป้องธุรกิจผู้ประกอบการไทย แรงงานไทย ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องกฎหมายระเบียบต่าง ๆ ในการที่จะส่งเสริมธุรกิจของคนไทย แล้วก็ปกป้องจากทุนข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เราต้องมีกระบวนการในการดูแล ป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชัน การดำเนินธุรกิจของทุนเทาอย่างเร่งด่วน แต่วันนี้ภาพนั้นยังไม่ชัด” นายแสงชัยกล่าว

จากพื้นที่เล็ก ๆ ย่านห้วยขวางสู่มาตรการในการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย จึงเป็นเรื่องของความโปร่งใส การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อคุ้มครองคนไทยจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่การเข้ามาตีตลาดของสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนและการเข้ามาของทุนเทา นอกจากจะกดดันความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ซึ่งกำลังรอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะแย่ลงไปกว่าเดิม

Advertisement

แชร์
‘ทุนสีเทา’ สู่เส้นทางทุจริตการนำเข้าอาหาร