Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แผ่นดินไหว งานแฟร์ก็ยังไหว บ้านและสวนจัดการยังไงในสถานการณ์วิกฤต
โดย : ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย

แผ่นดินไหว งานแฟร์ก็ยังไหว บ้านและสวนจัดการยังไงในสถานการณ์วิกฤต

3 เม.ย. 68
17:20 น.
แชร์

ไม่ว่าจะเป็นงานงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ครั้งที่ 53 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานมอเตอร์โชว์ 2025 ที่เมืองทองธานี งานบ้านและสวนแฟร์ Select 2025 ที่ไบเทคบางนา รวมไปถึงงานจัดแสดง การประชุม หรือกิจกรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่คนกรุงเทพฯเผชิญกับแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งบรรยากาศในฮอลล์ที่จัดงานต่างๆเต็มไปด้วยสินค้า ป้ายไวนิลที่ส่ายไปมา และผู้คนจำนวนมากต่างมุ่งหาทางออก

แต่สำหรับในมุมผู้จัดงาน การต้องรับผิดชอบชีวิตและความปลอดภัยของคนจำนวนมาก ต้องมีการวางแผน และกระบวนการคิดอย่างไรบ้าง? Spotlight มีโอกาสพูดคุยกับ เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ AMARIN Group และผู้จัดงาน “บ้านและสวนแฟร์” 

Q: แผ่นดินไหวที่ไม่มีใครพร้อม งานบ้านและสวนแฟร์เตรียมตัวไว้บ้างหรือไม่?

“เตรียมตัวยังไงก็ไม่มีทางดีได้เท่าที่พอใจ และมันไม่มีอะไรเลยที่เราจะเตรียมพร้อมได้สำหรับความเสียหายแมกนิจุดนี้ ความโชคดีคือเราทำงานแบบ ‘เป๊ะ’ เรามีการจำกัดความสูงของบูธที่สร้าง ถ้าสูงเกินเท่านี้ต้องมีวิศวกรเซ็นรับรอง หรือการวางของ ห้ามเลยเส้นโฉนดที่เราทำให้ หากต้องอพยพจะได้ไม่ขวางทางกัน เราวางทางเดินให้ตรงพอดีกับทางออก และเลือกสถานที่จัดที่มีความรับผิดชอบตลอด โดยที่เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม หรือยิงกัน หรือไฟไหม้  แต่สถานที่แบบนี้สามารถจัดการได้ดีกว่าสถานที่ลักษณะแปลกๆ พวกนี้ล้วนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ”

แม้ในประเทศไทยเรามีกฎระเบียบ ข้อบังคับมากมายที่อาจเรียกได้ว่าออกแบบมาดี เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งาน และคำนึงถึงความปลอดภัย ตัวอย่างหนึ่งคือ คู่มือการจัดแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปี 2562 ที่ได้กำหนดมาตราฐานการดำเนินงาน อาทิ การควบคุมการก่อสร้างและตกแต่ง การรักษาความปลอดภัย การเตรียมการด้านสถานที่ หรือคู่มือสำหรับการจัดงานของแต่ละโอกาส แต่อีกสิ่งที่คุณเจรมัยชี้ว่ามีความสำคัญสำหรับผู้จัดงานคือการคำนึงถึงผู้เข้าร่วมงานที่หลากหลาย

“วันนั้น [28 มีนาคม 68] เรา [AME] มี 3 งาน มีคนเดินคนละแบบกัน มีงานบ้านและสวนแฟร์ บ้านและสวน Pet Fest ที่คนมากับสัตว์เลี้ยง มีคนกินชีวจิตที่เป็นผู้ใหญ่ มีอมรินทร์ Baby and Kids แฟร์ ที่มีแม่ เด็ก คนท้องมา การที่เราจะจัดการกับสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะเรื่องการอพยพ จะไปนึกเอาว่าทุกคนเป็นคนสุขภาพแข็งแรงดี เป็นชายวัยกลางคนที่วิ่งออกไปได้ คิดอย่างนั้นมันไม่ได้” คุณเจรมัยกล่าว และชี้ว่าเราควรคำนึงถึงความสะดวกของกลุ่มเปราะบางด้วย ไม่ว่าจะในระหว่างกระบวนการอพยพหรือหลบภัย

Q: แผ่นดินไหวเพียงวันเดียว งานจัดแสดงก็เดินหน้าต่อ มุมมองอดีตสถาปนิกคิดยังไง?

“จริงๆ กรุงเทพฯ เราไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม ห้าง หรือศูนย์ประชุม (ยกเว้นตึกเดียวที่มีประเด็น)  เรามีมาตราฐานค่อนข้างดี มี operator ระดับ world class พวกห้าง โรงแรม ศูนย์จัดแสดงสินค้าเรามีคุณภาพมาก” คุณเจรมัยกล่าว และชี้ว่าอย่างไรก็ตาม การสร้างตึกในประเทศไทยมีมาตราฐานและการตรวจสอบดูแลที่หลากหลาย เพื่อความแน่ใจอาจใช้เวลาราว 1 เดือน เป็นช่วงเวลาระมัดระวังและสังเกตุการณ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้งานได้อย่างสบายใจ 

Q: วินาทีหลังแผ่นดินไหว ผู้จัดงานคิดยังไงถึงตัดสินใจจัดงานต่อ?

“การตัดสินใจว่าจะจัดงานไหม สิ่งที่เราทำอย่างแรกคือต้องคอนเฟิร์มกับสถานที่จัดงาน ซึ่งต้องได้คำตอบกลับมาเป็น engineering inspection report [รายงานการตรวจสอบทางวิศวกรรม] ว่าไม่ใช่แค่พร้อมจะเข้าไปวันนี้ แต่ยังควรพิจารณาว่าจะจัดต่อไหม ซึ่งเราใช้เวลารอ 3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ข้อความออกไปแล้วทำให้คนสับสน ว่าจะปิดหรือไม่ปิด เข้าได้หรือไม่ได้”

“เราต้องอยู่ในที่ปลอดภัยไว้ก่อน รอฟังทางราชการว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกไหม รอรายงานทางวิศวกรรมจากศูนย์ [สถานที่] ว่าปลอดภัยไหมที่จะกลับเข้าไป แล้วจากนั้นถามความสมัครใจของคน อยากเข้าไปจัดงานต่อ ซื้อของต่อไหม สามอย่างนี้ต้องมี yes yes yes เราถึงจะไปต่อ หากมีแม้แต่ no เดียวเราจะไม่ไปต่อ และอีก 2 ข้อที่เป็นเกณฑ์ แต่ไม่ควรจะมาก่อนคือเรื่องของภาพลักษณ์ และ กำไรขาดทุน สองอย่างนี้ไม่ควรถูกนำมาพิจารณาก่อน”

5 เกณฑ์ที่คุณเจรมัยแนะนำไว้เป็นแนวทางการตัดสินใจสำหรับผู้จัดงานในสถานการณ์วิกฤตอย่างแผ่นดินไหวสรุปได้ว่า:

1. ความปลอดภัยต้องมาก่อน

  • ตรวจสอบความมั่นคงของสถานที่และยืนยันด้วยเอกสารจากวิศวกรและเจ้าของศูนย์
  • ประเมินความเสี่ยงจากอาฟเตอร์ช็อกหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ตามข้อมูลของราชการ

2. ปฏิบัติตามข้อกำหนดภาครัฐ

  • ปฏิบัติตามคำสั่งและข้อแนะนำของหน่วยงานรัฐอย่างเคร่งครัด

3. ความพร้อมของผู้เข้าร่วมงาน

  • หากคนเดินงาน พนักงาน หรือผู้แสดงสินค้าไม่รู้สึกปลอดภัย ให้เลื่อนหรือปิดงานอย่างน้อยหนึ่งวัน

4. ภาพลักษณ์และความรับผิดชอบ

  • ตัดสินใจโดยยึดข้อมูลจากสามข้อแรกเป็นหลัก เพื่อรักษาความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ไม่ใช้อารมณ์

5. ผลกระทบทางการเงิน สำคัญแต่ไม่ควรมาก่อน

  • พิจารณาค่าใช้จ่ายในการยกเลิกหรือเลื่อนงาน และความเสียหายทางธุรกิจของคู่ค้าผู้ออกร้านในงานเรา แต่ไม่ให้น้ำหนักมากเท่าความปลอดภัย

Q: นอกจากการส่งต่อความรู้ มีการเตรียมความพร้อมแบบไหนอีกที่ผู้จัดงานฯ ควรคำนึงต่อจากนี้

“มีแน่ๆ เลยก็คือการเลือกสถานที่ ต้องปลอดภัยก่อนอันดับแรก  การวางเลย์เอ้างานต้องสามารถอพยพคนและหลบภัยได้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่อพยพออกอย่างเดียว แปลว่าการออกแบบ การเลือกสถานที่เพื่อรองรับภัย ไม่ว่าจะเป็น กรณีเหตุจาก ไฟ แผ่นดินไหว หรือการยิงกัน ต้องวางแผนให้ชัดเจน และให้ดีขึ้น”

“อย่างที่สองคือการเทรนหรือการฝึกซ้อม ต้องเทรนทั้งสตาฟทุกระดับ ผู้จัดนิทรรศการ คู่ค้าของเรา รวมถึงมีข้อมูลให้คนมาเดินงานได้เข้าใจด้วยว่าเส้นทางหลบภัยในงานเราเป็นยังไง” คุณเจรมัยกล่าว

“ต่อมาคือเรื่องกฎหมายใหม่ๆ ที่ควรจะมีออกมาหลังจากนี้ และสุดท้ายคือการปกป้องตัวเองในทางผลกระทบด้านการเงิน เช่น การซื้อประกันต้องทำให้จริงจัง ครอบคลุม และสัญญาที่เราจะเซ็นระหว่างเรากับสถานที่ก็ต้องยืดหยุ่นมากพอให้ดูแลความเสียหายได้ ไม่มีใครเอาเปรียบใครได้ แม้จะไม่ได้ผิดทั้งคู่ รวมถึงสัญญาที่ยืดหยุ่นระหว่างผู้จัดงานกับผู้ซื้อบูธด้วย”

นี่เป็นความเห็นของคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ AMARIN Group และผู้จัดงานบ้านและสวนแฟร์  งานแฟร์สำหรับครอบครัวที่ที่จัดตั้งแต่ปี 2543 เป็นงานแฟร์ที่จัดต่อเนื่องมายาวนานที่สุด สะท้อนความแข็งแกร่งของนิตยสารบ้านและสวนที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2519 

ที่ได้สะท้อนแนวคิดการบริหารจัดการงานภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่ทุกคนอาจนำไปปรับใช้ เป็นพื้นฐานได้กับกิจกรรมรูปแบบอื่นที่ใกล้เคียงกัน

“ดีใจที่งานของเราไปต่อได้ แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายตึกที่ยังต้องระวังอยู่ ในฐานะที่เป็นบ้านและสวนด้วย เป็นอดีตสถาปนิกด้วย ผมคิดว่าต้องดูให้ครบเดือน รอดูคำประกาศ คำยืนยันการตรวจสอบอาคารต่างๆให้ชัดเจน และหวังว่าราชการก็จะมีพัฒนาการเรื่องการสื่อสาร การรับมือวิกฤตได้ดีขึ้น” คุณเจรมัยกล่าวทิ้งท้าย


แชร์
แผ่นดินไหว งานแฟร์ก็ยังไหว บ้านและสวนจัดการยังไงในสถานการณ์วิกฤต