ธุรกิจการตลาด

เตรียมกินซูชิแพงขึ้น! คว่ำบาตรรัสเซียสะเทือนร้านซูชิญี่ปุ่น แซลมอน ปู เมนไทโกะ ราคาพุ่ง

14 มี.ค. 65
เตรียมกินซูชิแพงขึ้น! คว่ำบาตรรัสเซียสะเทือนร้านซูชิญี่ปุ่น แซลมอน ปู เมนไทโกะ ราคาพุ่ง

คนญี่ปุ่นเตรียมกินซูชิแพงขึ้น หลังการคว่ำบาตรทางการค้ารัสเซียส่งผลให้อาหารทะเลหลายรายการมีราคาสูงขึ้น และมีปริมาณในตลาดน้อยลง ซ้ำร้าย การปิดน่านฟ้ายังกระทบเส้นทางการขนส่งของสดทางเครื่องบินด้วย

ซูชิ และ ซาชิมิ อาหารโปรดของคนไทย อาหารประจำชาติของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีวัตถุดิบเป็นเนื้อสัตว์จากทะเล กำลังได้รับผลกระทบจาก “สงครามรัสเซีย - ยูเครน” ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 8,000 กิโลเมตร เนื่องจากความพยายามของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ที่ทำการ “คว่ำบาตร” ทางการค้ากับรัสเซีย กำลังเป็นดาบสองคม ทำร้ายเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองเช่นกัน และประชาชนชาวญี่ปุ่นก็กำลังจะเผชิญกับผลกระทบเหล่านั้น ผ่านราคาอาหารที่จะปรับตัวสูงขึ้นในไม่ช้า

 

(s)000_324c6pn

 

ราคาปูพุ่งกว่า 20% เหตุพึ่งพิงการเข้าจากรัสเซีย



แต่ละปี ญี่ปุ่นนำเข้าปูจากรัสเซียมากถึง 60% ของปริมาณปูนำเข้าทั้งหมด สำนักข่าวนิกเกอิอ้างแหล่งข่าวซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายอาหารทะเลในประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า นับตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคมที่ผ่านมา ราคาปูนำเข้าพุ่งขึ้นไปแล้วกว่า 20% ซึ่งส่งผลต่อราคาปูในประเทศเช่นกัน

นอกจากปูแล้ว ญี่ปุ่นยังพึ่งพาการนำเข้าปลาแซลมอน ปลาคอด และหอยเม่นจากรัสเซียอีกด้วย โดยไข่ของปลาคอดจะถูกนำมาเนรมิตเป็นเมนู “เมนไทโกะ” ส่วนหอยเม่นก็จะตัดแต่ง ถูกเสิร์ฟเป็นเมนู “อูนิ” ที่หลายคนชื่่นชอบ โดยสัดส่วนการนำเข้าปลาแซลมอนและปลาคอดจากรัสเซียในปี 2020 คิดเป็น 9.5% และ 7.1% แม้ในตอนนี้จะยังไม่เกิดปัญหา แต่หากสงครามยังคงยืดเยื้อ ราคาของ เมนไทโกะ อาจได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนหอยเม่นที่นำเข้าจากรัสเซียนั้น แหล่งข่าวระบุว่าหาได้ยากแล้วในตลาดตอนนี้

 

istock-1144614720


 
ร้านซูชิเตรียมหาเมนูใหม่ทดแทน พึ่งพาอาหารทะเลน้อยลง



นอกเหนือจาก ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ต่อการนำเข้าอาหารทะเลในช่วงนี้ ร้านซูชิในญี่ปุ่นหลายร้านยังต้องหยุดให้บริการชั่วคราว จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ยังน่าเป็นห่วง ยิ่งไปกว่านั้น “ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สาหร่ายสีแดงขยายพันธุ์ปกคลุมพื้นที่ผิวน้ำ ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงพืชและปะการังบริเวณนั้น ทำให้สังเคราะห์แสงและผลิตออกซิเจนไม่ได้ ส่งผลให้พืชและสัตว์บริเวณนั้นทยอยตาย นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กระทบการทำประมงของญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้ ส่งผลทำให้อาหารทะเลที่ผลิตได้ในญี่ปุ่นมีน้อยลง ต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างชาติมากขึ้น

เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ ร้านซูชิบางร้านในญี่ปุ่น เช่น ร้าน Katuissen ในฮอกไกโด จึงกำลังมองหาวัตถุดิบใหม่ๆ นอกเหนือจากเมนูที่ต้องใช้สัตว์ทะเล เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และลดการพึ่งพิงอาหารทะเล ซึ่งกำลังขาดแคลน และมีราคาพุ่งสูงในขณะนี้

 

istock-1144614892(1)
 


มาตรการปิดน่านฟ้า ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง “อาหารทะเลสด”



จุดเด่นของอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะซูชิ และซาชิมิ คือความสดใหม่ของวัตถุดิบ ซึ่งแน่นอนว่าการจะรักษาความสดใหม่ของวัตถุดิบ ก็ต้องลดระยะเวลาการขนส่งให้สั้นที่สุด ด้วยการขนส่งผ่านเครื่องบิน

แต่มาตรการการปิดน่านฟ้า และสถานการณ์ที่ไม่สงบของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายสายการบินหลีกเลี่ยงการบินในเส้นทางบินที่ต้องผ่านบริเวณเรดโซนนี้ และลดจำนวนเที่ยวบินที่จะเดินทาง ซึ่งนั่น ส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล อย่างแน่นอน

ด้าน ประธานสมาคมผู้ส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่นอร์เวย์ส่งออกอาหารทะเลได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการบริโภคอาหารทะเลของชาวเอเชีย มากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 30% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

 

แต่สงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อสถิติดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อการขนส่งอาหารทะเล ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คือ การขาดแคลนและราคาอาหารที่สูงขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT