ตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจที่จำหน่ายสัตว์เลี้ยง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่มาแรงมากๆ ในปี2565 ที่ผ่านมา
โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่าปี 2565 มีนักธุรกิจชาวไทยแห่ลงทุนธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 91% ทำให้มีรายได้รวมและผลกำไรธุรกิจเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี สอดคล้องปริมาณขายอาหารสัตว์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ผลพลอยได้ จากปัจจัยบวก สังคมผู้สูงอายุ และโควิด-19 ระบาด ทำให้คนไทยหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2563 - 2565 ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 63 ราย ทุนจดทะเบียน 101.90 ล้านบาท
-ปี 2564 จัดตั้ง 68 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือร้อยละ 8) ทุน 119.13 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 17)
- ปี 2565 จัดตั้ง 130 ราย (เพิ่มขึ้น 62 ราย หรือร้อยละ 91) ทุน 210.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 91.22 ล้านบาท หรือร้อยละ 77)
ส่วนผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ มีดังนี้
-ปี2563 รายได้รวม 3,512.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 578.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 20) กำไร 46.31 ล้าน
- ปี2564 รายได้รวม 4,267.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 755.28 ล้านบาท หรือร้อยละ 22) กำไร 127.76 ล้านบาท
-ปี2565 มีจำนวน 562 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มีมูลค่าทุน 1,359.60 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ0.006 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในไทย
สำหรับพื้นที่ที่มีการลงทุนสูงสุด คือ
-กรุงเทพมหานคร จำนวน 243 ราย (ร้อยละ 43.24) ทุนจดทะเบียน 679.88 ล้านบาท (ร้อยละ 50.01)
- ภาคกลาง 130 ราย (ร้อยละ 23.13) ทุน 228.36 ล้านบาท (ร้อยละ 16.80)
-ภาคตะวันออก 49 ราย (ร้อยละ 8.72) ทุน 80.08 ล้านบาท (ร้อยละ 5.89)
-ภาคเหนือ 46 ราย (ร้อยละ 8.18) ทุน 68.90 ล้านบาท (ร้อยละ 5.07)
-ภาคใต้ 45 ราย (ร้อยละ 8.01) ทุน 236.60 ล้านบาท (ร้อยละ 17.40)
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 ราย (ร้อยละ 5.34) ทุน 39.20 ล้านบาท (ร้อยละ 2.88)
-ภาคตะวันตก 19 ราย (ร้อยละ 3.38) ทุน 26.58 ล้านบาท (ร้อยละ 1.95)
อย่างไรก็ตามธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.19 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5.15 ล้านบาท (ร้อยละ 0.38) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท (ร้อยละ 0.37) อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท (ร้อยละ 0.29) และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท (ร้อยละ 0.77)
จากการเติบโตดังกล่าวทำให้ปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณการขายอาหารสัตว์ในตลาดราว 929 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 8 และคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 8.4 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง แนะนำว่า ควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มช่องทางการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น การให้บริการโดยคำนึงถึงความสะอาด มีมาตรฐาน ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถติดตามสัตว์เลี้ยงได้ 24 ชั่วโมง มีบริการที่ครบวงจร และให้ความสำคัญกับการรักษาโรคของสัตว์เลี้ยงทั้งโรคทั่วไปและเฉพาะทาง รวมทั้งต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน ใส่ใจการบริการที่เป็นเลิศเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำ