ใกล้ช่วงเลือกตั้งเช่นนี้ TikTok และแพลตฟอร์มเชียลมีเดียอื่นๆ เสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเอนเอียง หรือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงข่าวปลอม ซึ่งจะส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อประชาชน และกระทบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ได้
ในฐานะหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้บริการหลายสิบล้านคน TikTok จึงได้เตรียมใช้นโยบาย หลักเกณฑ์ชุมชน และเครื่องมือด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ดังนี้
การทำให้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่ TikTok ให้ความสำคัญ จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มีข้อมูลที่บิดเบือนความจริงและเป็นอันตราย รวมถึงเนื้อหาที่ละเมิดกฎของชุมชนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือการนำเสนอแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งาน ในสถานการณ์สำคัญต่างๆ ของสังคม
บนแพลตฟอร์ม TikTok จะไม่มีการอนุญาตให้มีการโปรโมตหรือการทำโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทาง การเมืองโดยเด็ดขาด TikTok จึงได้มีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง (GPPPA: Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการไม่อนุญาตให้บัญชีประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok
หลักเกณฑ์สำหรับชุมชนของ TikTok มีไว้เพื่อป้องกันเนื้อหาหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีการบิดเบือนความจริงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การละเมิดสิทธิผู้อื่น พฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดความเกลียดชัง และแนวคิดที่สุดโต่งและรุนแรง โดย TikTok ได้มีการหารือกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพัฒนานโยบายบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดเสวนาในรูปแบบ Roundtable รวมถึงการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างๆ
ในปีนี้ TikTok มีการกำหนดกลยุทธ์และวางแผนการทำงานเพื่อต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสร้างแคมเปญสร้างการรับรู้ และการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดยมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบข้อมูล (Fact-Checking) ทั้งในระดับโลกและในประเทศ อาทิ สำนักข่าวAFP และหน่วยงานอย่าง Lead Stories รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับ โคแฟค (COFACT) ในการสร้างศูนย์รวมข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้แคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด
TikTok สร้างศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมือง และข้อมูลอื่นๆ โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย หรือ กกต. หน่วยงานหลักที่ควมคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยัน ในการส่งต่อเนื้อหานั้นๆ จะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ และหากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อรายงานเนื้อหาดังกล่าว
TikTok มีการปฏิบัติการแบบเชิงรุกกับเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน ผ่านระบบการจัดการเนื้อหา (Content Moderation) ที่มีการผสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยีและทีมปฏิบัติงานของ TikTok ที่คอยตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานที่พบเห็นเนื้อหาที่ละเมิดหรือมีความเสี่ยง สามารถรายงานเนื้อหาดังกล่าว ส่งให้ทีมปฏิบัติงานของ TikTok ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
TikTok มีการพัฒนาเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ โดยมีทั้ง Information Hub ที่เครื่องมือทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่นในช่วง COVID-19 TikTok มีการนำข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 มาไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงเครื่องมืออย่าง Information Tag และ Live Banner ที่จะปรากฏอยู่บนวิดีโอหรือไลฟ์สตรีมมิ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการได้
การทำให้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้งานได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่และปลอดภัย TikTok จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline) เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ว่าเนื้อหาแบบไหนที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม TikTok โดยมีหัวข้อหลัก อาทิ การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น เนื้อหาที่เป็นสแปม เนื้อหาที่เป็นเท็จและหลอกลวง หรือเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มในแง่มุมต่างๆ อย่างการสร้างความหวาดหลัว ความเกลียดชัง หรือสร้างอคติ เป็นต้น
คุณจิรภัทร หลี่ Product Policy Lead – Thailand, TikTok กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับเนื้อหาที่มีความบิดเบือน เป็นอันตราย และเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชนในแง่มุมต่างๆ ออกไปจากแพลตฟอร์ม TikTok อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าจะได้รับความปลอดภัยเมื่ออยู่บนแพลตฟอร์มของเรา
โดยจากข้อมูลรายงานการบังคับใช้หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline Enforcement Report) ครั้งล่าสุด ในระหว่างเดือนกรกฏาคม - กันยายน ปี 2565 พบว่ามีการลบวิดีโอออกในเชิงรุกบนแพลตฟอร์มมากกว่า 96.5% การลบออกภายใน 24 ชั่วโมงถึง 92.7% และมีการลบออกก่อนมียอดเข้าชมถึง 89.5% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทีมปฏิบัติงานและความร่วมมือจากผู้ใช้งาน TikTok ได้เป็นอย่างดี”