Kerry Express ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน พบไตรมาสล่าสุดขาดทุนสุทธิถึง 1,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบปีก่อน ดึงราคาหุ้นดิ่งไปแตะ 7.75 บาท/หุ้น ต่ำสุดตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาด
ราคาหุ้นของ Kerry หรือ KEX ขึ้นลงอยู่ในระดับ 7.8-8.05 บาทต่อหุ้นในวันนี้ (10 ส.ค.) คงระดับราคาต่ำต่อเนื่อง หลังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่ยังคงไม่สู้ดี จากรายได้ในการส่งของที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงโลว์ซีซัน ประกอบกับยอดซื้ออีคอมเมิร์ซที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจถึงผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B)
ยอดซื้อที่ลดลงนี้ทำให้บริษัทมีปริมาณจัดส่งพัสดุลดลง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ Kerry มีรายได้จากการขายและการให้บริการลดลง 6.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เหลือ 2,923.3 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น 2.4% ไปอยู่ที่ 3,814 ล้านบาท
โดยจากข้อมูลของ Kerry ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการที่บริษัทต้องจ้างรถขนส่งภายนอกและให้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเพราะขาดแคลนพนักงาน รวมไปถึงการต้องใช้เงินปิดสาขาที่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (one-time expenses)
วงการขนส่งไทยซบเซาลงต่อเนื่องหลังจากมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์หลังโควิด ทำให้คนกลับไปจับจ่ายใช้สอยข้างนอกมากขึ้น ทำให้ขนส่งหลายๆ เจ้าต้องเร่งปรับตัว ทั้งลดราคา พยายามลดต้นทุน จนมีการขาดทุน เพราะมีรายได้จากการส่งของน้อยลงจากทั้งอุปสงค์และราคาที่ลด
ด้าน Kerry เองประสบปัญหาขาดทุนมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และขาดทุนต่อเนื่องมาถึงไตรมาสปัจจุบัน เพราะยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณจัดส่งพัสดุขึ้นมาได้ โดยผลประกอบการ 7 ไตรมาสที่ผ่านมาของ Kerry เป็นดังนี้
อย่างไรก็ตาม Kerry คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นในช่วงปลายปี เพราะจะมีแคมเปญ 11.11 และ 12.12 ลดราคาสินค้าส่งท้ายปีที่จะทำให้มียอดส่งพัสดุสูงขึ้น และบริษัทยังมีแผนวางกลยุทธ์จัดกลุ่มผู้ใช้บริการ (Market Segmentation) เพื่อเสนอบริการที่เหมาะสม เน้นขยายตลาดระดับกลางถึงบน
นอกจากนี้ บริษัทยังจะร่วมมือกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง S.F. Holding เพื่อปรับโครงสร้างเครือข่ายการดําเนินงาน การลงทุนในเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติต่างๆ การพัฒนาด้านดิจิทัลและพัฒนาด้านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงาน
Kerry ตั้งเป้าหมายว่าจะพลิกกลับมามีกําไรจากการดําเนินงานรายเดือนภายในปี 2567 จากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าผลดำเนินการของ Kerry มีแววย่ำแย่นาน เพราะยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือเร็วๆ นี้ อีกทั้งตลาดขนส่งยังเป็น Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูง ทำให้อาจต้องขยายตลาดไปตลาดข้างเคียงเพื่อหารายได้เพิ่ม
นักวิเคราะห์ของ Krungsri Securities Research มองว่า Kerry จะขาดทุนต่อเนื่องและขาดทุนถึง 3 พันล้านบาท ในปี 2023 เพราะยังมี downside อยู่มาก และแนะนำ ‘ขาย’ เพราะแม้ว่าราคาหุ้นจะร่วงลงมาแรงแล้วในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา KEX ยังคงมีผลขาดทุนต่อเนื่อง และขาดทุนหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวเลย
ส่วนทางด้านนักวิเคราะห์ของ Bualuang Securities มีมุมมองที่ดีกว่าเล็กน้อยเพราะ synergy ที่จะเกิดกับ Kerry และ SF Express น่าจะช่วยให้ต้นทุนสามารถปรับตัวลงได้อีกในอนาคต ในไตรมาสที่ 3 คาดจะเห็น volume ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจผู้บริโภคถึงผู้บริโภค หรือ C2C และหากบริษัทสามารถเป็นผู้เหลือรอดคนสุดท้ายในสงครามด้านราคาได้ จะเป็นอัพไซด์อย่างมากในอนาคต
ดังนั้นบัวหลวงจึงแนะนำให้นักลงทุน ‘ถือ’ ไว้ก่อน เพื่อรอให้ Kerry กลับมาทำกำไร โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุด Kerry น่าจะกลับมาทำกำไรได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567