ธีม Regulatory unwind ถูกจุดขึ้นมาตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ เริ่มหาเสียงในงาน Bitcoin Conference ปี 2024 พร้อมคีย์เวิร์ดกับคำว่าจะใช้ Bitcoin เป็น Strategic reserve ของประเทศ และต้องการให้สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัล
การกระทำดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโทฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคหน่วยงานกำกับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้การนำของรัฐบาลที่นำโดยทรัมป์ในปี 2025 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลเดิมของไบเดนในปี 2024 จากหน้ามือเป็นหลังมือ เริ่มตั้งแต่การถอนรากถอนโคนผู้ที่ต่อต้านคริปโทฯ อย่าง แกรี่ เกนสเลอร์ ประธาน ก.ล.ต. คนเก่าออก และแต่งตั้ง พอล แอตกินส์ ที่สนับสนุนคริปโทฯ เข้ามาแทน พร้อมกับการจัดตั้ง Crypto 2.0 Task Force หรือหน่วยงานเฉพาะกิจที่ออกแบบมาเพื่อปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนและเอื้อต่ออุตสาหกรรมคริปโทฯ มากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหามีทั้งหมด 10 ข้อด้วยกันคือ
- ชี้แจงสถานะของสินทรัพย์ดิจิทัล: กำหนดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดถือเป็นหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ
- ระบุขอบเขตอำนาจของ SEC: พิจารณาว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกิจกรรมใดที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ SEC
- พิจารณา Safe Harbor: สำรวจความเป็นไปได้ในการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับการเสนอขายโทเคนหรือเหรียญบางประเภท
- แนวทางการจดทะเบียนสินทรัพย์ดิจิทัล: ค้นหาวิธีการที่เป็นไปได้ในการจดทะเบียนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์
- ปรับปรุงแนวทางสำหรับ Broker-Dealers: ปรับปรุงจดหมายไม่ดำเนินคดี (no-action letters) สำหรับโบรกเกอร์-ดีลเลอร์ที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล
- กฎการเก็บรักษาสำหรับที่ปรึกษาการลงทุน: จัดทำกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับที่ปรึกษาการลงทุน
- ความชัดเจนเกี่ยวกับการให้กู้ยืมและการ staking: ชี้แจงการใช้กฎหมายหลักทรัพย์กับการให้กู้ยืมและการ staking ของสินทรัพย์ดิจิทัล
- การอนุมัติผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับคริปโต: ชี้แจงแนวทางในการพิจารณาอนุมัติผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล
- กฎสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ทำงานเกี่ยวกับกฎที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน clearing agencies และ transfer agents ในบริบทของสินทรัพย์ดิจิทัล และ
- Sandbox ข้ามพรมแดน: พิจารณาวิธีการสร้างสภาพแวดล้อมการทดสอบสำหรับโครงการคริปโตระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทรัมป์ยังได้เซ็นต์คำสั่งบริหาร (Executive order) จัดตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ (Digital asset working group) โดยจุดประสงค์เพื่อผลักดันการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับคริปโทฯ ดังนี้
- สรุปความชัดเจนและคอนเซปต์ของ Bitcoin Strategic Reserve
- สรุปความชัดเจนของกฎหมาย Stablecoin โดยจะสนับสนุน Stablecoin ที่ค้ำโดยสกุลเงินดอลลาร์เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
- แยกประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลว่าประเภทไหนถูกจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และถูกกำกับโดย CFTC หรือ ถูกจัดเป็นหลักทรัพย์ และถูกกำกับโดย SEC
- ต่อต้านการใช้ CBDC
- สนับสนุนให้ธนาคารสามารถจัดเก็บคริปโทฯ ได้
โดยคณะทำงานมีกำหนดเวลาชัดเจนในการส่งมอบงาน ดังนี้ (1) วันที่ 22 ก.พ. 2025 กำหนดให้นำเสนอแบบร่างกฎหมายที่จะเปลี่ยนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ (2) วันที่ 24 มี.ค. 2025 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบและปรับแก้กฎหมายตามความเหมาะสม และ (3) วันที่ 22 ก.ค. 2025 กำหนดให้นำส่งกฎหมายเวอร์ชั่นสุดท้ายแก่ประธานาธิบดี เพื่อทำการผลักดันใช้กฎหมายต่อไป
จากข้อกฎหมายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันข้างต้น เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ กำลังทำให้กฎหมายที่เคยคลุมเครือมีความชัดเจน และดันให้สินทรัพย์ดิจิทัลถูกยอมรับในฐานะสินทรัพย์ชนิดนึง ไม่ต่างจากหุ้น ทองคำ หรือน้ำมัน จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยจากเดิมที่ผู้ประกอบการต่างหวาดระแวงในการทำธุรกิจเนื่องจากเสี่ยงถูกฟ้องร้อง หลังจากทุกอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เราคาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ในคริปโทฯ มีดังนี้
อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากคริปโทฯ
- เหรียญที่มีมูลค่าตลาดสูง (Big cap) จะมีเม็ดเงินจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันไหลเข้ามากยิ่งขึ้น จากการปลดล็อคกฎเกณฑ์การทำกองทุน ETFs จากก่อนหน้าหลายเหรียญอาจเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ไม่จดทะเบียน ทำให้กองทุน ETF กระจุกอยู่ในเหรียญแค่ 2 เหรียญคือ BTC และ ETH โดยหากกฎเกณฑ์มีการผ่อนคลาย คาดจะเห็นเหรียญกลุ่ม Big cap ได้รับการทำ ETFs อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
- เหรียญกลุ่มเครือข่ายบล็อกเชน จากอาจมีการปลดล็อคการทำ Staking product ETFs เช่นการถือ ETH และได้รับ Yield จากการเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม (Staking) ที่ 3-4% ไปด้วยคล้ายเงินปันผล
- เหรียญกลุ่ม Real-world asset (RWA) หรือการนำสินทรัพย์ในโลกความเป็นจริง ผ่านกลไก Tokenization แปลงเป็นเหรียญและสามารถเข้าถึงสภาพคล่องใหม่ ๆ ได้ในโลกบล็อกเชน แต่กระบวนการดังกล่าวมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เหรียญที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือเหรียญที่เป็น Partners กับกลุ่มนักลงทุนสถาบันเช่น BlackRock, JPMorgan หรือ MorgenStanley เป็นต้น โดยกลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มที่มี Know-how ด้านกฎหมายและ Connection กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้เปรียบโปรเจกต์ No name อื่น ๆ และ
- เหรียญกลุ่ม Decentralized Finance (DeFi) เป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากธีม RWA ที่ผู้ใช้มักจะนำสินทรัพย์ที่ Tokenized มาในบล็อกเชนแล้ว ไปใช้งานต่อ เช่นการฝากให้กู้ (Lending) หรือการฟาร์ม (Yield farming) เป็นต้น
หมายเหตุ : คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ผู้เขียน : นายธนลภย์ ปรีดามาโนช
ผู้จัดการเงินทุน บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด
Sources:
https://www.hklaw.com/en/insights/publications/2025/02/at-the-same-time-division-of-enforcements-own-crypto-unit
https://www.jdsupra.com/legalnews/trump-2-0-a-new-era-for-the-regulation-4368398/
https://www.wiley.law/alert-President-Trumps-Crypto-Czar-Outlines-Federal-Governments-New-Approach-to-Digital-Assets