ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเปิดฉากการเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการกับทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความเห็นต่อกรอบแนวทาง 5 ข้อของรัฐบาลไทยที่เตรียมใช้ในการเจรจา โดยระบุว่า ข้อเสนอของไทยสามารถช่วยตอบสนองข้อกังวลของสหรัฐฯ ได้บางส่วน โดยเฉพาะในประเด็นการลดการเกินดุลการค้าซึ่งเป็นข้อกังวลใหญ่ของสหรัฐฯ
จากข้อมูลที่รัฐบาลเปิดเผยแก่สื่อมวลชน กรอบการเจรจาที่รัฐบาลไทยเตรียมหยิบยกไปพูดคุยสหรัฐฯประกอบด้วย 1) การส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 2) การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ผ่านโควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น 3) การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากสหรัฐฯ เช่น ก๊าซธรรมชาติและเครื่องบินพาณิชย์ 4) การคัดกรองสินค้าส่งออกเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม และ 5) การสนับสนุนการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ดร. สมเกียรติเน้นย้ำว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้กำหนดทิศทางเชิงนโยบายที่ให้ประโยชน์ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงเพื่อบรรเทาวิกฤตเฉพาะหน้า พร้อมเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อยกระดับความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลไทยเตรียมเสนอในการเจรจากับทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วันที่ 23 เมษายนนี้ คือการเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้าวโพด ผ่านระบบ “โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น” เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
อย่างไรก็ตาม ดร. สมเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่า การผลิตข้าวโพดในไทยเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นกิจกรรมที่ขัดกับข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ต้องพึ่งพาระบบโควตาซึ่งขาดความโปร่งใส และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ มากกว่าจะส่งเสริมความยั่งยืนให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ การขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเผาแปลงเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ธนาคารโลกเคยประเมินว่า ความเสียหายด้านสุขภาพจากฝุ่นพิษในไทยมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3.9% ของ GDP
ดร. สมเกียรติจึงเสนอให้รัฐบาลยกเลิกระบบโควตานำเข้า และเปลี่ยนเป็นระบบภาษีนำเข้าแทน ซึ่งโปร่งใสกว่า ลดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดสรรโควตา และยังช่วยสร้างรายได้ให้รัฐ พร้อมกันนี้ควรมีมาตรการรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างโดยกลุ่มผลประโยชน์ในการคัดค้านการปฏิรูป
เขาย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเด็นนี้จะไม่เพียงช่วยลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่ยังเอื้อต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งด้านอุตสาหกรรมปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
ในแนวทางการเจรจาการค้ากับทีมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รัฐบาลไทยระบุว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยเน้นการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต พร้อมยึดหลักความโปร่งใสตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
ดร. สมเกียรติ เห็นด้วยว่าปัญหาการสวมสิทธิ์ในการส่งออกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และตกเป็นเป้าหมายของการเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การคัดกรองสินค้าส่งออกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และยังเสี่ยงต่อการทำให้การส่งออกโดยรวมล่าช้า หากเลือกใช้เฉพาะกับตลาดสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าในตลาดอื่น เช่น ยุโรป ในอนาคต
ทางออกที่เหมาะสมกว่าในมุมมองของ ดร. สมเกียรติ คือการ “คัดกรองการลงทุน” จากต่างชาติที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพียงเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าจากประเทศปลายทาง โดยเฉพาะกรณีที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากประเทศที่สามมาประกอบเล็กน้อยในไทย แล้วส่งออกต่อไปยังสหรัฐ ซึ่งการลงทุนประเภทนี้บางส่วนยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านบัตรส่งเสริมการลงทุน
ดร. สมเกียรติเสนอให้สำนักงานบีโอไอปรับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยให้การส่งเสริมเฉพาะโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศอย่างแท้จริง เช่น สร้างงานคุณภาพและรายได้สูงให้กับคนไทย และคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่รัฐมอบให้
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบและเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ถูกใช้ในทางไม่เหมาะสม เช่น โรงงานที่มีเป้าหมายเพื่อสวมสิทธิ์สินค้า หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ตลอดจนเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานที่ผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ เช่น เหล็กไม่ได้มาตรฐานที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ดังที่ปรากฏในข่าวบ่อยครั้ง
ท้ายที่สุด ดร. สมเกียรติชี้ว่า แทนที่จะมุ่งคัดกรอง “สินค้าส่งออก” ไปสหรัฐอย่างเข้มงวดเพื่อเหตุผลทางการค้า รัฐบาลควรหันมาคัดกรอง “สินค้านำเข้า” ที่ไม่มีมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในประเทศ เช่น ผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน หรือสินค้าประเภทอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตไทยที่ต้องแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ดร.lสมเกียรติ ยังเสนอว่า แม้รัฐบาลไทยจะใช้รายงาน National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ เป็นพื้นฐานในการจัดทำกรอบการเจรจาการค้า ซึ่งถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งที่สามารถใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงโครงสร้างภายในประเทศให้เอื้อต่อการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ข้อเสนอสำคัญที่ ดร. สมเกียรติระบุ ได้แก่
ดร. สมเกียรติเห็นว่า หากรัฐบาลใช้สถานการณ์การเจรจาครั้งนี้เป็นโอกาสในการแก้ไขอุปสรรคเชิงโครงสร้างดังกล่าว จะไม่เพียงช่วยบรรเทาวิกฤติด้านการส่งออกที่ไทยกำลังเผชิญ แต่ยังจะเปลี่ยนภาวะกดดันจากภายนอกให้กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภายในที่ทำได้ยากในสภาวะปกติ