ในโลกที่ความสำเร็จและชื่อเสียงมักถูกยกย่อง ความล้มเหลวและด้านมืดของมนุษย์กลับเป็นสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ แต่แล้วเรื่องอื้อฉาวของบุคคลผู้เคยได้รับการยกย่องในวงการแพทย์ไทยก็ได้เผยโฉมหน้า สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของสังคม และตั้งคำถามถึงจริยธรรมของผู้คร่ำหวอดในวิชาชีพ
หมอบุญ วนาสิน ชื่อนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นดังสัญลักษณ์แห่งความหวัง ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่บัดนี้กลับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงประชาชน สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เรื่องราวของ "หมอบุญ" จึงเป็นดังกระจกสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ ความทะเยอทะยาน ความโลภ และการแสวงหาผลประโยชน์ ที่แม้แต่ผู้มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จก็ไม่อาจหลีกหนีพ้น
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นับเป็นวันแห่งความสั่นสะเทือนของวงการแพทย์ไทยและภาคธุรกิจ เมื่อนายแพทย์บุญ วนาสิน อดีตผู้ได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลสำคัญผู้บุกเบิกธุรกิจการแพทย์ ต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตครั้งร้ายแรงที่สุด นั่นคือการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน
จากอดีตอันหอมหวนในฐานะผู้สร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุข บัดนี้ นพ.บุญ กลับตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงครั้งมโหฬาร โดยมีผู้เสียหายปรากฏตัวแล้วกว่า 500 ราย ซึ่งล้วนระบุตรงกันว่าถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในโครงการด้านสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นไปในลักษณะการทำสัญญากู้ยืมเงินและออกเช็คให้กับผู้เสียหาย ครอบคลุมทั้งเช็คชำระหนี้เงินกู้และเช็คค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า ทว่าเมื่อถึงกำหนดชำระเงิน กลับปรากฏว่าเช็คดังกล่าวไม่สามารถขึ้นเงินได้
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของ นพ.บุญ ตลอดจนบั่นทอนความน่าเชื่อถือของวงการแพทย์ไทยโดยรวม ประชาชนทั่วไปต่างเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในจริยธรรมแห่งวิชาชีพแพทย์ และความโปร่งใสของธุรกิจด้านสุขภาพ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการติดตามตัว นพ.บุญ มาดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากตรวจพบว่า ได้หลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว คดีฉ้อโกงครั้งนี้ จึงกลายเป็นอุทาหรณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดของวงการแพทย์และตัณหาแห่งความโลภในจิตใจมนุษย์
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2481 นพ.บุญ ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจค้าขายข้าวและสินค้าเกษตร ชีวิตในวัยเยาว์หล่อหลอมให้ท่านซึมซับทักษะการค้ามาตั้งแต่ยังเด็ก เส้นทางการศึกษาของ นพ.บุญ เริ่มต้นที่รั้วโรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อนจะเบนเข็มสู่วิชาชีพแพทย์ ณ แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล
หลังสำเร็จการศึกษา นพ.บุญ เริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นแพทย์ทั่วไป แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความมุ่งมั่นที่จะยกระดับบริการทางการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับชั้น ท่านจึงก้าวเข้าสู่โลกแห่งการบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชน โดยยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะมอบบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2517 เมื่อ นพ.บุญ ตัดสินใจก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของ "ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)" อาณาจักรธุรกิจด้านสุขภาพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และบริการดูแลผู้ป่วยระยะยาว เครือข่ายธุรกิจของ THG ขยายตัวครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำความสำเร็จของ นพ.บุญในฐานะผู้นำแห่งวงการธุรกิจสุขภาพของไทย
ก่อนจะเกิดมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ นายแพทย์บุญ วนาสิน คือ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในวงการสาธารณสุขไทย ท่านมิได้เป็นเพียงผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นพ.บุญ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยการสนับสนุนวัคซีนทางเลือก และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก
วิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของ นพ.บุญ ยังผลักดันให้อุตสาหกรรมสุขภาพไทยก้าวสู่ระดับสากล ด้วยการขยายเครือข่ายธุรกิจของธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ไปยังต่างประเทศ เช่น เมียนมาและจีน พร้อมกับมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของประชาชน
จากโรงพยาบาลแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร THG เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีโรงพยาบาลในเครือข่ายมากถึง 18 แห่งทั่วประเทศไทย และขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่การบริบาลผู้ป่วยสูงวัย การจัดการสุขภาพในระดับชุมชน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ ความสำเร็จของ THG สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหาร และวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ นพ.บุญ
ในปี พ.ศ. 2560 THG ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพ และความน่าเชื่อถือขององค์กร อย่างไรก็ตาม ภายหลังความสำเร็จ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อ นพ.บุญ ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เหตุการณ์นี้ จึงกลายเป็นมลทินในชีวิตของ นพ.บุญ และเป็นเครื่องเตือนใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งความโกลาหล เมื่อโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 'นายแพทย์บุญ วนาสิน' ได้ปรากฏตัวขึ้นในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ขาดแคลนวัคซีนในประเทศไทย หมอบุญได้ใช้พื้นที่สื่อเป็นกระบอกเสียง ผลักดันการนำเข้าวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ และไบออนเทคจากประเทศเยอรมนี โดยอ้างว่า สามารถจัดหาวัคซีนได้ในราคาที่ต่ำกว่าข้อเสนอของรัฐบาล พร้อมประกาศแผนการนำเข้าวัคซีนจำนวน 20 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ความพยายามของหมอบุญกลับถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวในครั้งนี้
หมอบุญปรากฏตัวบนสื่อหลายครั้ง วิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าและการขาดความโปร่งใสในกระบวนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล โดยยืนยันว่า ภาคเอกชนมีความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทว่า กลับไม่มีหลักฐานยืนยันข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างหมอบุญกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ดังนั้น จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่า การประกาศตัวเป็นผู้จัดหาวัคซีนของหมอบุญนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ หรือเป็นเพียงการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ
ประเด็นที่ทำให้ หมอบุญ ตกเป็นเป้าแห่งข้อครหา คือ กรณีที่องค์การเภสัชกรรมเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีน โดยระบุว่าหมอบุญให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน และความสามารถในการจัดซื้อของภาคเอกชน กรณีนี้จุดประกายความเคลือบแคลงในสังคมว่าแท้จริงแล้ว หมอบุญเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนกันแน่
นอกจากประเด็นการจัดหาวัคซีน การขยายตัวของธุรกิจในเครือ THG ในช่วงวิกฤต ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการฉวยโอกาส และแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนแบบเสียค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งยิ่งตอกย้ำข้อสงสัยถึงจริยธรรม และธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของหมอบุญ
เส้นทางชีวิตของ นายแพทย์บุญ วนาสิน ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยขวากหนาม หลังจากเผชิญกับข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน บัดนี้ หมอบุญ ยังต้องรับมือกับบทลงโทษจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในความผิดฐานให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ก.ล.ต. มีคำสั่งลงโทษทางแพ่งแก่ นพ.บุญ ให้ชำระค่าปรับและชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,348,834 บาท พร้อมกับสั่งห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นระยะเวลา 42 เดือน สืบเนื่องจากนพ.บุญ ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่สาธารณชน โดยระบุว่า THG จะลงนามในสัญญาซื้อขาย และนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อ Pfizer จำนวน 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า THG ไม่ได้มีการทำสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด
วิกฤตศรัทธาของหมอบุญ ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบของ THG ได้ตรวจพบความผิดปกติ โดยบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้ปล่อยกู้เงินจำนวน 105 ล้านบาทให้กับบริษัทในกลุ่ม ‘ครอบครัววนาสิน’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ THG
ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างเดือนธันวาคม 2566 ถึงตุลาคม 2567 ยังมีผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนพ.บุญ กว่า 527 รายในข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีหลังจากไม่สามารถนำเช็คเงินสดของนพ.บุญ ไปขึ้นเงินกับธนาคารได้
จากกรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของนพ.บุญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาพลักษณ์ของวงการธุรกิจการแพทย์ไทยโดยรวม
ช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 'นายแพทย์บุญ วนาสิน' ได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท ใน 5 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโต ดังนี้
แผนการลงทุนอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ดึงดูดนักธุรกิจชั้นนำ และบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคน ให้เข้าร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญากู้ยืมเงิน โดยนพ.บุญ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนอย่างงาม พร้อมทั้งออกเช็ค 2 ฉบับให้กับผู้ลงทุน ได้แก่ เช็คสำหรับชำระหนี้เงินกู้ และเช็คสำหรับชำระดอกเบี้ยล่วงหน้า โดยมีจารุวรรณ วนาสิน และณวรา วนาสิน ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา
ในช่วงแรก นพ.บุญ จ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุนตามที่ระบุไว้ในสัญญา สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมลงทุน แต่ต่อมากลับไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามกำหนด และเช็คที่ออกให้ก็ไม่สามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ส่งผลให้ผู้เสียหายจำนวนมาก รวม 247 รายเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงถึง 7,564 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567)
กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของคดี และจำนวนผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยเร่งด่วนเพื่อติดตามนพ.บุญ มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากที่ปรากฏข่าวว่า นายแพทย์บุญ วนาสิน พร้อมบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามข่าวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนายแพทย์บุญเป็นอดีตประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG)
โดยในเบื้องต้นจากข้อมูลที่ปรากฏตามข่าว พบว่า นายแพทย์บุญได้กระทำในนามส่วนตัวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ THG จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งยังไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่มุ่งเน้นการทุจริตฉ้อโกงในบริษัทที่ออกเสนอขายหลักทรัพย์กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.จะติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยหากพบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก็จะเร่งดำเนินการและประสานงานกับพนักงานสอบสวนต่อไป
สำหรับกรณีบริษัท THG ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยของ THG ในการทำรายการให้กู้ยืมเงินให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มครอบครัววนาสิน รวมทั้ง การสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้รับมอบสินค้าจริงนั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันนายแพทย์บุญไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ก.ล.ต. ได้ขอให้พนักงานอัยการฟ้องนายแพทย์บุญต่อศาลแพ่ง กรณีเผยแพร่ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและราคา THG เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ได้ชี้แจงข่าวต่างๆ ดังนี้
ตามที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ว่า ศาลออกหมายจับ นายแพทย์บุญ วนาสิน ในข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน รวมถึง นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยาของนายแพทย์บุญ และนางสาวนลิน วนาสิน บุตรสาวของนายแพทย์บุญ และนางจารุวรรณ ซึ่งนางจารุวรรณ และนางสาวนลิน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พร้อมปฎิเสธข้อกล่าวหา โดยชี้แจงว่า ลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกปลอมแปลง บริษัทขอชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ และยังไม่แสดงเจตจำนงลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจากข้อเท็จจริง และตามหลักของกฎหมาย ไม่ได้ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมกาาร ซึ่งคณะกรรมารบริษัทจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อภาพลัษณ์บริษัท ซึ่งอาจพิจารณานำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและความเหมาะสมของกรรมการทั้งสองบริษัทถึงการดำรงตำแหน่งต่อไป
2.1. โครงการ “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้” เป็นการลงทุนของบริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ THG ซึ่งถือหุ้นเำกือบทั้งหมดในบริษัทย่อย ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน เป็นการลงทุนโครงการดังกล่าวได้รับจากอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ตั้งแต่ปี 2559
2.2. ธุรกิจการแพทย์ 5 โครงการ
บริษัทชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยนายแพทย์บุญ วนาสิน แต่เพียงผู้เดียว THG ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
2.3. ศูนย์มะเร็ง ย่านปินเกล้า และแผนการสร้างโรงพยาบาลในเวียดนาม เป็นโครงการที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงแรก ได้แก่
โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเบื้องต้น และการลงนามในบันทึกความเข้าใจเท่านั้น ซึ่ง THG ได้พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียดแล้ว และตัดสินใจไม่ดำเนินการลงทุนในทั้ง 2 โครงการ และบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และบริษัทได้แจ้งว่า นายแพทย์บุญ วนาสิน ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการและประธานกรรมการของบริษัท ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2565 และปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานแต่อย่างใด
THG ขอให้นักลงทุนมั่นใจกับนักลงทุนและมีส่วนได้ส่วนเสียว่า บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใดยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และมุ่งมั่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทุกฝ่าย
เรื่องราวของ นพ.บุญ วนาสิน จากผู้สร้างคุณูปการสู่ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และด้านมืดของมนุษย์ที่แม้แต่ผู้มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จก็ไม่อาจหลีกหนีพ้น วิกฤตนี้ทิ้งบาดแผลฉกรรจ์ไว้มากมาย ไม่เพียงต่อตัว นพ.บุญ เอง แต่ยังรวมถึงวงการแพทย์ไทยและความเชื่อมั่นของประชาชน
จากวิกฤตที่เกิดขึ้น เราได้เรียนรู้ว่า ความทะเยอทะยานและความปรารถนาในผลประโยชน์ อาจนำพาชีวิตไปสู่จุดจบที่ไม่คาดคิด แม้แต่ผู้ที่เคยสร้างคุณงามความดี ก็อาจพลาดพลั้งได้ หากปล่อยให้ความโลภครอบงำ ธุรกิจใด ๆ ก็ตาม ต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากสาธารณชน การปกปิดข้อมูล หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ย่อมนำไปสู่ความเสียหายในระยะยาว เช่นเดียวกับชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ตลอดไป สิ่งสำคัญ คือ การเตรียมใจรับมือกับความล้มเหลว และเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
สิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนัก คือ การไม่หลงเชื่อคำโฆษณา หรือผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความน่าเชื่อถือของโครงการ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของวงการแพทย์ไทย ประชาชนอาจเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในจริยธรรมของแพทย์ และความโปร่งใสของธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามในการฟื้นฟู
สังคมควรตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูล สื่อมวลชนและประชาชน ควรมีวิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านก่อนเผยแพร่หรือตัดสินใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการกำกับดูแลธุรกิจการแพทย์ และการลงทุนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและคุ้มครองผู้บริโภค และที่สำคัญสังคมควรปลูกฝังจิตสำนึกด้านจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับบุคลากรในทุกสาขาอาชีพ
ท้ายที่สุดแล้ว วิกฤต “หมอบุญ” คือ บทเรียนราคาแพงที่สังคมไทยต้องจดจำ เป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของความซื่อสัตย์สุจริต และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยอีก