ภายใต้สถานการณ์ที่สหรัฐฯ และจีนกำลังเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้นในสงครามการค้า นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองว่า ฝ่ายใดจะมีแต้มต่อทางการเงินมากกว่ากัน โดยเฉพาะเมื่อจีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปริมาณมหาศาล และตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์ในสื่อของทางการจีนเสนอว่ารัฐบาลควรใช้พันธบัตรเหล่านี้เป็นเครื่องมือกดดันสหรัฐฯ
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2025 จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไว้เป็นมูลค่าถึง 7.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 26.1 ล้านล้านบาท อยู่อันดับที่ 2 เป็นรองเพียงญี่ปุ่น ทำให้หากจีนตัดสินใจขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จริงย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินของสหรัฐฯ อย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงกลับเป็นสมดุลที่เปราะบาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างไม่อาจทำลายได้ง่ายๆ เพราะต่างก็มีผลประโยชน์ที่ผูกพันกันอยู่ ทำให้หากฝั่งใดฝั่งหนึ่งตัดสินใจทำลายสมดุลนี้ ก็อาจส่งผลเสียต่อทั้งสองประเทศในระดับที่รุนแรงไม่แพ้กัน
เศรษฐกิจของจีนขับเคลื่อนด้วยการผลิตและการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งทำให้จีนมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน โดยจีนขายสินค้าให้สหรัฐฯ มากกว่าที่นำเข้า และได้รับชำระเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ (USD)
อย่างไรก็ตาม ในระบบการค้าโลก หากประเทศหนึ่งส่งออกมากเกินไป ค่าเงินของประเทศนั้นควรจะแข็งค่าขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น และดุลการค้าปรับตัวกลับเข้าสู่สมดุล นี่คือกลไก “การปรับสมดุลอัตโนมัติ” ของระบบอัตราแลกเปลี่ยน
แต่จีนต้องการรักษาการเติบโตผ่านการส่งออก จึงไม่ต้องการให้ค่าเงินหยวนแข็งตัว การแทรกแซงของ PBOC จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การสะสมดอลลาร์จำนวนมากในคลังทุนสำรอง
PBOC จะสะสมดอลลาร์ให้คลังทุนสำรองด้วยการพิมพ์หยวนออกมาแลกกับดอลลาร์ แล้วนำดอลลาร์เหล่านั้นไปสะสมไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย มีสภาพคล่องสูง และให้ผลตอบแทนที่มั่นคง
แม้นอกจากนำไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ แล้ว จีนยังสามารถใช้ดอลลาร์ที่ถือครองไว้ในการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันจากตะวันออกกลาง หรือพิจารณาลงทุนในพันธบัตรของยุโรป แต่พันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบกับพันธบัตรประเทศอื่น หรือสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
ภายใต้กลไกนี้ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ U.S. Treasuries จึงถือเป็นรากฐานสำคัญของ “ความร่วมมือแบบพึ่งพากัน” ระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะการที่จีนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า U.S. Treasuries นั้น เปรียบเสมือนการให้ “เงินกู้” แก่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยแลกกับผลตอบแทนที่มั่นคงและความปลอดภัยจากตราสารหนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน เงินทุนที่สหรัฐฯ ได้จากการขายพันธบัตรจะกลายเป็นสภาพคล่องที่ถูกนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ และการบริโภคของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายมาเป็น “อุปสงค์” สำหรับสินค้าจากจีน
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จีนให้เงินสหรัฐฯ ยืม แล้วสหรัฐฯ ใช้เงินนั้นมาซื้อของจากจีน เป็นวงจรเศรษฐกิจที่ดูย้อนแย้ง แต่กลับทรงพลังและได้ผล
ดังนั้น ในระบบนี้ จีนจะสามารถ
ขณะที่สหรัฐฯ จะสามารถ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้าและมาตรการภาษีระหว่างสองประเทศ คำถามที่เกิดขึ้นคือ จีนจะใช้พันธบัตรสหรัฐฯ เป็นอาวุธตอบโต้ได้หรือไม่?
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ร้ายแรงที่สุดคือการ “เทขาย” พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปริมาณมาก หากจีนขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จะส่งผลให้ ราคาพันธบัตรตกลงอย่างรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยในตลาดพุ่งสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ความเชื่อมั่นต่อตราสารหนี้สหรัฐฯ ทรุดตัว และความผันผวนกระจายไปทั่วตลาดการเงินโลก
อเล็กซ์ จาเคซ หัวหน้านโยบายจาก Groundwork Collaborative อธิบายว่า “หากสงครามภาษีทำให้ทั้งสองประเทศไม่สามารถเข้าถึงตลาดของกันและกันได้อีก การใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การขายพันธบัตรอาจกลายเป็นทางเลือกในการตอบโต้”
แต่เขายังเตือนด้วยว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เหนือความคาดหมาย ไม่เพียงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่รวมถึงเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ
แม้ว่าการขายพันธบัตรดูเหมือนเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง แต่ในความเป็นจริงผลกระทบกลับอาจตกหนักที่จีนเสียเอง เพราะ
ในทางกลับกัน ศาสตราจารย์ เจมส์ โมห์ส จากมหาวิทยาลัยนิวเฮเวนชี้ว่า หากจีนไม่ขายพันธบัตร แต่ยังคงถือครองและซื้อพันธบัตรใหม่ต่อเนื่อง ก็อาจทำให้สหรัฐฯ ออกหนี้มากเกินควบคุม และนำไปสู่ความอ่อนแอในโครงสร้างเศรษฐกิจของตนเอง พร้อมทั้งกดค่าเงินดอลลาร์ให้ลดลงในระยะยาว
เมื่อรวมหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารกลาง และทุนสำรองของจีนแล้ว พบว่าจีนถือครองสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้แม้จะเสี่ยง แต่จีนยังคงมี “อำนาจทางการเงิน” ที่สามารถกดดันสหรัฐฯ ได้อยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี จีนก็ยังลังเล เพราะหากเทขายจริง สินทรัพย์ที่ถือในรูปดอลลาร์อาจสูญมูลค่า และจีนอาจต้องรับผลขาดทุนในพอร์ตการลงทุนของตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากจีนตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าวจริง ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ยังมีเครื่องมือสำคัญคือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ซึ่งเคยพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในช่วงวิกฤตโควิด-19
ภายใต้ QE เฟดจะเข้าซื้อพันธบัตรจำนวนมากเพื่อลดแรงกดดันในตลาดการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง และดึงอัตราดอกเบี้ยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะชะงักงัน
ดังนั้น แม้สหรัฐฯ จะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของจีน แต่ด้วยอำนาจในการออกสกุลเงินหลักของโลก และนโยบายทางการเงินที่ยืดหยุ่น จึงทำให้ความเสี่ยงที่แท้จริงตกอยู่ที่จีนมากกว่า
นอกจากนี้ ในกรณีที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งขึ้น มูลค่าหนี้ที่ต้องชำระคืนจริงในเชิง “ราคาคงที่” จะลดลง ทำให้จีนได้รับผลกระทบในฐานะเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายในช่วงนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะอัตราภาษีสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน และนโยบายจากทำเนียบขาวก็ไม่มีทิศทางแน่ชัด
จาเคซ ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องยากมากที่ Fed จะวางแผนล่วงหน้าได้ เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีก็ดูเหมือนไม่มีทิศทางที่แน่ชัดว่าเขาจะทำอะไรในแต่ละวัน”