ในเวลานี้ คงไม่มีข่าวใดที่เป็นกระแสมากไปกว่ากรณีลูกนักการเมืองขับรถ BMW ป้ายแดงปาดหน้ารถกระบะบนถนนกาญจนาภิเษก เรื่องที่เริ่มต้นจากการเฉี่ยวเบียดกันเพียงไม่กี่วินาที กลับจบลงด้วยอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และกระแสดราม่าที่กระทบชื่อเสียงของทั้งครอบครัวและปลุกกระแสในสังคมอย่างรุนแรง
เหตุการณ์นี้คือภาพสะท้อนของปรากฏการณ์ “โรดเรจ” (Road Rage) หรืออารมณ์เดือดระหว่างขับรถ ที่มักจะระเบิดออกมาอย่างฉับพลันจากความขัดแย้งเล็กๆ บนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นรถคันหน้าขับแช่เลนขวาเหมือนถนนเป็นของตัวเอง เลี้ยวโดยไม่เปิดไฟ ปาดหน้าอย่างไม่สนใจใคร มัวแต่คุยโทรศัพท์โดยไม่สนใจสภาพจราจรรอบข้าง หรือบางครั้งก็ขับเชื่องช้าจนทำให้คุณติดไฟแดงในวินาทีสุดท้าย ทั้งที่อีกนิดเดียวก็จะพ้นแยก
สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่จุดไฟความโกรธให้ปะทุขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว จนบางครั้งเราก็เผลอสบถ ด่าทอ บีบแตรเสียงดัง หรือแม้กระทั่งคิดอยาก “เอาคืน” ให้อีกฝ่ายได้รับบทเรียน กลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายจนเกินควบคุม
แม้อาการหัวร้อนบนท้องถนนจะดูเหมือนเป็นแค่ปฏิกิริยาชั่ววูบที่เกิดจากสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่แท้จริงแล้ว โรดเรจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะใครปาดหน้า หรือขับช้าในเลนขวาเท่านั้น หากยังมีเบื้องหลังที่ซับซ้อนกว่านั้น
ในแง่จิตวิทยา โรดเรจมักเชื่อมโยงกับความเครียดในชีวิตประจำวัน การจัดการอารมณ์ที่บกพร่อง และการถ่ายโอนความโกรธจากเรื่องอื่นมาใส่สถานการณ์ตรงหน้า ขณะเดียวกัน ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางสังคมก็เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ เช่น ถนนที่แออัด ความรู้สึกว่า “ใครๆ ก็เห็นแก่ตัว” วัฒนธรรมการขับขี่ที่ขาดน้ำใจ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่บีบให้เราต้องเร่งรีบตลอดเวลา
เมื่อทุกอย่างมาบรรจบกัน จากความเครียดในใจ ไปจนถึงสังคมรอบข้าง การขับรถจึงกลายเป็นสนามอารมณ์ที่พร้อมจะลุกเป็นไฟได้ในพริบตา
หนึ่งในกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เกิดโรดเรจ คือการ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่น ดร.อาวา คาเดลล์ (Ava Cadell) นักจิตวิทยาอธิบายว่า ผู้ที่มีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวบนท้องถนน มักไม่ได้มองผู้ขับคันอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีเรื่องราว มีความรู้สึก แต่กลับมองเป็นเพียงวัตถุ หรือสิ่งกีดขวางที่ต้องกำจัดพ้นทาง
รถยนต์กลายเป็นดั่งเกราะเหล็กที่ไม่เพียงปิดกั้นร่างกาย แต่ยังบดบังความเห็นอกเห็นใจ ความเชื่อมโยงแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ถูกตัดขาด ผู้ขับเริ่มไม่สนใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร หรือกำลังเผชิญอะไรอยู่
“พวกเขาลืมไปว่า รถคันข้างหน้าอาจเป็นพ่อของใครบางคน แม่ที่กำลังพาลูกไปโรงเรียน หรือใครสักคนที่เพิ่งผ่านวันที่เลวร้ายมา” ดร.คาเดลล์กล่าว “และเมื่อเราไม่เห็นอีกฝ่ายว่าเป็น ‘คน’ เราก็จะกล้าทำสิ่งที่เราไม่กล้าทำกับมนุษย์จริงๆ เช่น พูดหยาบ ตะโกน ด่าทอ หรือแม้แต่ใช้ความรุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นพ้องกันว่า "ความแออัดบนท้องถนน" คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดโรดเรจ ยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณรถหนาแน่น ความล่าช้าในการเดินทางยิ่งทวีความน่าหงุดหงิด ผู้ขับขี่หลายคนรู้สึกราวกับว่าตนเองกำลังถูก "ขโมยเวลา" หรือสูญเสียการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดสะสม
ดร.แบร์รี มาร์เคล (Barry Markell) นักจิตบำบัดจากรัฐอิลลินอยส์ อธิบายพฤติกรรมโรดเรจด้วยการเปรียบเทียบที่น่าสนใจว่า "คล้ายการทดลองทางชีววิทยา" โดยเมื่อทำการทดลองโดยเพิ่มจำนวนหนูในพื้นที่จำกัดไปเรื่อยๆ จนเกินขีดความสามารถ หนูเหล่านั้นก็จะเริ่มหันมาทำร้ายกันเอง
บนท้องถนนก็ไม่ต่างกัน เมื่อมีคนมากเกินไปในพื้นที่จำกัด ความตึงเครียด การแย่งชิงช่องทาง และพฤติกรรมแข่งขันจึงกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน
โรดเรจในหลายกรณีไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนโดยตรง หากแต่เป็นเพียง "ฟางเส้นสุดท้าย" ของความเครียดที่สะสมมาตลอดวัน การปาดหน้าเล็กน้อย หรือการชะลอรถในจังหวะสำคัญ อาจเป็นจุดกระตุ้นให้ความไม่พอใจที่กดทับมานานระเบิดออกมา
ความเครียดจากงานที่กดดัน ปัญหาครอบครัวที่ไร้ทางออก ความไม่มั่นคงทางการเงิน หรือแม้แต่ความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจที่สะสมจนเรื้อรัง ทั้งหมดนี้อาจไม่มีพื้นที่ให้ระบายอย่างเหมาะสมในชีวิตประจำวัน
และเมื่อไม่มีเวทีให้ระบายอย่างเปิดเผย การขับรถกลับกลายเป็นพื้นที่ "ปลอดภัย" ทางอารมณ์ ผู้คนอยู่ในรถของตัวเอง แยกขาดจากกันด้วยกระจกและเหล็ก ไม่มีการปะทะโดยตรง ไม่มีสายตาตำหนิ ไม่มีบทสนทนาแบบมนุษย์ต่อมนุษย์
คนเบื้องหน้าจึงไม่ใช่เพื่อนร่วมทาง แต่กลายเป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่ผิดพลาดในชีวิต และเป็นเป้าระบายที่สะดวกที่สุดในเวลานั้น
ดร.เจอร์รี เดฟเฟนบาเชอร์ (Jerry Deffenbacher) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตต ได้ศึกษาและจำแนกบุคลิกภาพของผู้ที่มีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมโรดเรจไว้ว่า มักมีลักษณะร่วมกัน 5 ประการสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวร้าวเมื่ออยู่หลังพวงมาลัย คือ
นอกจากบุคลิกภาพพื้นฐานแล้ว ปัจจัยเสริมอื่นๆ ก็มีบทบาทไม่น้อย เช่น การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการควบคุมตนเองและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
อีกหนึ่งปัจจัยร่วมสมัยที่ไม่ควรมองข้ามคือ โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเมื่อมีการโต้เถียงหรือทะเลาะทางโทรศัพท์ในขณะขับรถ ดร.อาวา คาเดลล์ ระบุว่า “อารมณ์ที่พุ่งสูงจากบทสนทนา สามารถลามเข้ามาสู่พฤติกรรมบนถนนได้อย่างไม่รู้ตัว ทั้งจากปลายสายและผู้ขับเอง”
ดร.แบร์รี มาร์เคล (Barry Markell) นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านความโกรธ บอกว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยมาปรึกษาเขาเพราะคนใกล้ตัวรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” เมื่อต้องนั่งรถไปด้วย พฤติกรรมที่เราคิดว่าแค่ “บ่นนิดๆ” หรือ “บีบแตรสักหน่อย” อาจทำให้คนข้างๆ หวาดกลัวโดยไม่รู้ตัว
หากคุณเริ่มสังเกตว่าตนเองมีแนวโน้มจะหัวร้อนเมื่อขับรถ นี่คือคำแนะนำที่อาจช่วยคุณเปลี่ยนเส้นทางอารมณ์ ก่อนที่มันจะผลักดันให้คุณทำอะไรที่ต้องมาเสียใจทีหลัง
บางครั้งเราอาจไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายเพราะเจอคนขับรถที่โกรธเกรี้ยว ใจร้อน หรือแสดงพฤติกรรมคุกคามบนถนน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกตกใจ หวาดกลัว หรืออยากตอบโต้กลับ
แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ดร.แบร์รี มาร์เคล แนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ "อย่าปล่อยให้อารมณ์ของอีกฝ่ายมากำหนดการตัดสินใจของคุณ” ผู้ที่ตกเป็นเป้าควรเป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์ด้วยความเยือกเย็น และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
ควรสบตาหรือไม่? ประเด็นนี้มีมุมมองที่แตกต่างกัน ดร.อาวา คาเดลล์ แนะนำว่า “การสบตาอย่างสุภาพ อาจช่วยย้ำเตือนความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และมีประโยชน์หากต้องจำใบหน้าในภายหลัง”
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาบางรายกลับเตือนว่า การสบตาโดยตรงอาจถูกตีความว่าเป็นการท้าทายหรือยั่วยุ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ดังนั้น ควรประเมินสถานการณ์รอบข้าง รวมไปถึงบริบททางวัฒนธรรมและสังคมในพื้นที่ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ
อ้างอิง: WebMD, MedicineNet, APA