โตโยต้า มอเตอร์ ยังคงครองตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน หลังทำยอดขายประวัติการณ์ 11.2 ล้านคันในปี 2023 แต่อย่างไรก็ตาม ประธานบริษัท ต้องออกมาขอโทษกรณีทุจริตที่เกิดขึ้นภายในบริษัท
จากรายงานของทาง reuters ระบุว่า ทางบริษัท โตโยต้า รายงานยอดขายกลุ่มทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.2% ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงยอดขาย รถยนต์ของไดฮัทสุ ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก และ ฮีโน่ มอเตอร์ส (Hino) ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดมใหญ่ โดย ยอดขายรวมทั่วโลกของกลุ่มโตโยต้า ทะลุ 11.2 ล้านคัน ตลอดระยะเวลา 9 ปีจาก 10 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปี 2020 ที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลก โฟล์คสวาเกน กลุ่มคู่แข่งจากเยอรมนี ซึ่งอยู่อันดับสอง จากรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 12% ในปีที่ผ่านมา เป็น 9.2 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวหลังโควิด-19 เนื่องจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลาย
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ยอดขายรถยนต์ของโตโยต้าเอง(ไม่รวมบริษัทลูก) ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์โตโยต้าและเลกซัส ทำสถิติใหม่ที่ 10.3 ล้านคัน ในปี 2023 ด้านรถยนต์ไฮบริด(น้ำมัน-ไฟฟ้า) คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของยอดขายทั้งหมด ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีสัดส่วนน้อยกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม โตโยต้าอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่ยอดขายของกลุ่มจะชะลอลง หลังจากไดฮัทสุต้องหยุดจำหน่ายรถยนต์ทุกรรุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากการตรวจสอบกรณีทุจริตด้านความปลอดภัย พบปัญหาในรถยนต์ 64 รุ่น ซึ่งเกือบทั้งหมดจำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า
"ผมอยากแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อลูกค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับเหตุทุจริตในครั้งนี้ จนทำให้ท่านเกิดความกังวลในความไม่เรียบร้อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ ฮีโน่ มอเตอร์ส, ไดฮัทสุ และ โตโยต้า อินดัสตรี้ส์" อากิโอะ โตโยด้า ประธานโตโยต้า กล่าว
ไดฮัทสุ เผยยอดผลิตทั่วโลกดิ่งวูบ 25% เหลือ 121,000 คัน ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ยอดขายทั่วโลกเดือนเดียวกันลดลงราว 8% ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นเพิ่งอนุมัติให้กลับมาส่งมอบรถยนต์ไดฮัทสุ 10 รุ่นได้อีกครั้งหลังจากถูกระงับไปก่อนหน้านี้ และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 67 ที่ผ่านมา โตโยต้าเพิ่งเปิดเผยสาเหตุที่ต้องระงับการส่งมอบรถยนต์บางรุ่น รวมถึง ไฮลักซ์และแลนด์ ครุยเซอร์ 300 เนื่องจากคณะกรรมการอิสระตรวจพบการทุจริตในการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลที่พัฒนาโดยซัพพลายเออร์ บริษัท โตโยต้า อินดัสทรีส์ คอร์ป นอกจากนี้ ในปี 2022 ที่ผ่านมายังมีคณะกรรมการอีกชุดทำการสอบสวนกรณีปลอมแปลงข้อมูลไอเสียของ ฮีโน่ มอเตอร์ส พบว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์หนักนี้แอบปรับแต่งข้อมูลตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา
สถานการณ์ของกลุ่มบริษัทโตโยต้าในช่วงนี้จึงค่อนข้างสั่นคลอน จากปัญหาการทุจริตภายในบริษัทลูกหลายแห่ง ซึ่งส่งผลต่อทั้งยอดขายและภาพลักษณ์ของแบรนด์ โตโยต้าเองก็ต้องออกมาตรึงการส่งมอบรถยนต์บางรุ่น และยังต้องรอติดตามผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระต่อไป ว่าปัญหานี้จะบานปลายไปมากแค่ไหน
ที่มา reuters