แม้จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ล่าสุด ‘อินโดนีเซีย’ สั่งห้ามไม่ให้ Apple จำหน่าย iPhone 16 ที่เปิดตัวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยให้สาเหตุว่า บริษัทลูกของ Apple ในอินโดนีเซีย หรือ ‘PT Apple Indonesia’ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ต้องมีเนื้อหาภายในประเทศ 40% สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลต
ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ตอนนี้มี iPhone 16 ประมาณ 9,000 เครื่องที่ถูกส่งถึงอินโดนีเซียแล้ว แต่ไม่ได้ส่งผ่านช่องทางการขายปลีกแบบดั้งเดิม ใครที่ต้องการใช้ iPhone 16 สามารถทำได้สองวิธี นั่นก็คือ ซื้อจากการรับหิ้ว (โดยลูกเรือหรือคนที่เดินทางไปต่างประเทศ) หรือ ส่งทางไปรษณีย์
ซึ่งสินค้าที่นำเข้าเหล่านี้ มีไว้สำหรับใช้ส่วนตัวเท่านั้น ไม่สามารถขายหรือแลกเปลี่ยนได้ตามกฎหมายเมื่อมาถึงอินโดนีเซีย แม้หลายคนพยายามซื้อ iPhone 16 ผ่านช่องทางเหล่านี้ แต่ก็เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากมีข้อจำกัด และอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่อาจขัดขวางการซื้อด้วยวิธีนี้
ประเด็นนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ Apple เพราะแม้บริษัทไม่ติดหกอันดับแบรนด์สมาร์ทโฟนชั้นนำในอินโดนีเซีย แต่ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีประชากรที่อายุน้อย และมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 33.79 ล้านล้านบาท ที่มีโทรศัพท์มือถือใช้งานอยู่มากกว่า 350 ล้านเครื่อง มากกว่าจำนวนประชากร 270 ล้านราย ตามข้อมูลของรัฐบาล
กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่า Apple ลงทุนเพียง 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ (95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือราว 3,224.24 ล้านล้านบาทในอินโดนีเซีย ซึ่งต่ำกว่าที่ตกลงไว้ 1.7 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 3,654.13 ล้านล้านบาท รวมถึงได้สร้างสถาบันพัฒนาซอฟต์แวร์ 4 แห่งในประเทศ แทนที่จะสร้างโรงงานผลิตในท้องถิ่น แม้ ‘ทิม คุก’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยกล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว
ในขณะที่ผู้ผลิตโทรศัพท์คู่แข่งอย่าง ‘Samsung Electronics’ ของเกาหลีใต้ และ ‘Xiaomi’ ของจีน ได้ตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย ตามกฎระเบียบด้านเนื้อหาในประเทศฉบับปี 2017 รวมถึงวิธีอื่นๆ ในการส่งเสริมเนื้อหาในท้องถิ่น เช่น การจัดหาวัสดุ หรือการจ้างแรงงานในประเทศ
อินโดนีเซียมีประวัติอันยาวนานในการใช้ข้อจำกัดทางการค้า เพื่อผลักดันให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น แม้จะประสบความสำเร็จทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย โดยตั้งแต่ปี 2020 อินโดนีเซียกำหนดให้โทรศัพท์ทุกรุ่นที่ซื้อจากต่างประเทศ ต้องลงทะเบียนกับรัฐบาล และเสียภาษีในอัตราสูง
รัฐบาลมีความเข้มงวดในกฎเกณฑ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายในปีนี้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า เช่น แล็ปท็อป และยางรถยนต์ จนเกิดสินค้าล้นท่าเรือ อย่างไรก็ตาม การห้ามส่งออกแร่ เช่น นิกเกิล เป็นเวลานาน ทำให้ภาคส่วนแบตเตอรี่ของอินเดียกลับพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์รุ่นเก่าของ Apple ยังคงสามารถจำหน่ายในอินโดนีเซียได้ตามปกติ
ที่มา Bloomberg