กรมสรรพสามิต คาดมีค่ายรถอีก 9 บริษัท เตรียมลงนามร่วมมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวี ผู้ซื้ออาจได้ส่วนลดซื้อรถอีวีสูงสุด 4 แสนบาท/คัน
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษากรมสรรพสามิต กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในปีนี้จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยจะนำมาจากงบกลาง และ ในอีก 3 ปีข้างหน้าอีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการยานต์ไฟฟ้าได้มีมติให้กระทรวงการคลังหารือกับสภาพัฒน์เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ส่วนนี้ เชื่อว่า เม็ดเงินส่วนนี้จะเพียงพอกับปริมาณการเติบโตของรถอีวี
สำหรับส่วนลดที่ประชาชนจะได้นั้น ประชาชนจะได้รับส่วนลดถึง 3 ต่อ
ส่วนแรก คือ ส่วนลดจากอากรขาเข้าที่จะมีส่วนลดสูงสุดถึง 40% แล้วแต่กรณี อาทิ รถจากค่ายญี่ปุ่นได้รับส่วนอากรขาเข้า 20% ค่ายรถเกาหลี และยุโรป 40% ส่วนค่ายจีนจะไม่ได้เลย
ส่วนที่สอง คือ ส่วนลดจากภาษีสรรพสามิตที่จะเหลือ 2% จาก 6%
ส่วนที่สาม คือ เงินอุดหนุนจากภาครัฐตั้งแต่ 7 หมื่นบาท ถึง 1.5 แสนบาท ขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ โดยถ้าต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ส่วนลดจะอยู่ที่ 7 หมื่นบาท ถ้ากำลังวัตต์มากกว่า 50 ส่วนลดจะอยู่ที่ 1.5 แสนบาท
"เบ็ดเสร็จ ถ้าเป็นรถยุโรปราคามากกว่า 2 ล้านบาท หรือประมาณ 2.2 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดถึง 4 แสนบาท ถ้าเป็นค่ายรถญี่ปุ่นราคาส่วนลดอาจได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ถ้าราคารถอยู่ที่ 1 ล้านบาท ราคาที่ลดแล้วอาจจะอยู่ที่ 7 แสนบาท เป็นต้น" นายณัฐกร กล่าว
นายณัฐกร กล่าวอีกว่าในงานมอเตอร์โชว์ 2022 วันที่ 23 มี.ค. - 3 เม.ย. นี้ ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ มีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมจำหน่าย 1,500 คัน ส่วนเอ็มจี อีก 500 คัน รวมเป็น 2,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถอื่นๆ ที่แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการอีก 8-9 ค่าย เช่น ค่ายจากยุโรป เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และค่ายจากญี่ปุ่น โตโยต้า ฮอนด้า มิซูบิชิ นิสสัน รวมถึงจากจีน ฟ็อกซ์คอนน์ และ เนต้า ที่ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัดมหาชน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ จะได้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตและ เงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ ส่งผลให้ราคาของรถอีวีถูกลง และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถอีวีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
ล่าสุด กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่พร้อมเข้าร่วมมาตรการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด กับบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่าย รถยนต์ BEV โดยในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV รุ่น ORA GOOD CAT มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น
ส่วนบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด กับบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ MG ZS EV, MG EP และ MG EP PLUS ซึ่งราคาที่แสดงในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จะเป็นราคาขายปลีกแนะนำที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว และคาดว่าจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รายอื่นๆ เข้าร่วมลงนามข้อตกลงในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
"มั่นใจว่าเงื่อนไขในการสนับสนุนรถอีวีจะเป็นที่พอใจของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งล่าสุด ทางค่าย เนต้า จากประเทศจีน ได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการแล้ว คาดว่า จะมีการลงนามความร่วมมือในเร็วๆนี้ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีค่ายรถ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่นและยุโรป เข้าร่วมมาตรการอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ กรมฯมีความพร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นทางค่ายรถยนต์สามารถเข้ามาลงนามความตกลงได้เลย ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 วัน ในการพิจารณาโครงสร้างราคา และหลังจากนั้นก็สามารถจำหน่ายรถยนต์ในราคาที่ได้รับส่วนลด เริ่มต้นตั้งแต่ 1.5 - 2 แสนบาทต่อคัน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเงินส่วนลดที่รัฐบาลให้จะถึงมือผู้บริโภคโดยตรง จากราคาขายรถยนต์ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของมาตรการส่งเสริมอีวี รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3,000 ล้านบาท หากเม็ดเงินไม่เพียงพอ เชื่อว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเพื่มวงเงินให้ แต่คาดว่าปีนี้ก็ใช้อยู่ในกรอบ 3,000 ล้านบาท ขณะที่งบที่จะสนับสนุนในปีถัดไป รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พิจารณาแล้ว
ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปีที่ 3 คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 `หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต