รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวสมฤดี จิตรจง เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการเรื่องการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเว้นการตรวจแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้าไทย เหลือเพียงการตรวจแบบ Test & Go ในวันแรกเมื่อเดินทางมาถึงและตรวจ self-ATK อีกครั้งในวันที่ 5 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในภาพรวมของไทยกลับมาคึกคักทันทีตั้งแต่วันแรกของมาตรการ สะท้อนผ่านจำนวนเที่ยวบินรวมถึงจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงหลักหมื่นคนต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
.
โดยในปี 2565 นี้ทาง ททท.ได้ตั้งเป้ายอดนักเดินทางชาวต่างชาติเอาไว้ที่ 7 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ถึง1.07 ล้านล้านบาท และกลับมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกครั้ง
"ทางภาครัฐยังเตรียมนโยบายผลักดันเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขการเข้าประเทศทั้งหมดให้เหมือนกับก่อนวิกฤตโควิด-19 (ก่อนปี 2563) ด้วยการนำเสนอ ศบค. เพื่อยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass รวมถึงการเข้าประเทศในรูปแบบต่างๆ ทั้ง Test & Go และ Sandbox ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะทยอยชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นางสาวสมฤดี กล่าว
สำหรับนโยบายการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในปี 2565 ททท.จะมุ่งขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด“อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) หรือการนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทยที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วยเรื่องราวภาพการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผ่านการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ โดยเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท.กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงโรงแรมคุณภาพจากเครือ AWC ทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ ฯลฯ ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพนำนวัตกรรม ดึงเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการให้บริการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวยุควิถีปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) เพื่อส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
“นอกจากนี้ ททท. ยังเดินหน้าโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand ที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด Working & Outing from Somewhere เปลี่ยนทุกที่เป็นสถานที่ทำงานคู่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถช่วยรองรับการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ หรือ MICE เข้าสู่ประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะสร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้อีกมาก รวมถึงเป็นการกระจายเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวออกไปสู่หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป” นางสาวสมฤดี กล่าว
ด้าน นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 บริษัทเห็นสัญญาณบวกของการเริ่มฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งสอดรับกับมาตรการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้สถานการณ์ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น โดยต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 2 ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผู้คนเดินทางกลับบ้านใช้ชีวิตกับครอบครัว ออกท่องเที่ยวและรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งทำให้การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก สร้างเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น
“ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย จึงมั่นใจอย่างมากว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายในปี 2565 ทุกกลุ่มธุรกิจของ AWC จะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับเทรนด์การเดินทางที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบ Long Stay และ Workation ซึ่งทำให้เกิดการเดินทางในวันธรรมดามากขึ้น เปิดโอกาสให้บุคลากรในหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ และกลุ่มคนวัยทำงาน สามารถเปลี่ยนสถานที่ทุกที่ให้เป็นที่ทำงาน ท่ามกลางบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม” นางวัลลภา กล่าว
ทั้งนี้ พบว่า ภาพรวมยอดจองโรงแรมของ AWC ในช่วงต้นปี 2565 เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมียอดเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทได้มีการลงทุนพัฒนาโครงการคุณภาพใหม่ๆ และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลกมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงเป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค และสร้างจุดหมายปลายทางแห่งการทำงานและพักผ่อนในระดับสากล
นอกจากนี้ AWC เดินหน้าเสริมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เปิดตัวโรงแรม มีเลียเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2565 ซึ่งถือเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 260 ห้องพัก เตรียมความพร้อมเสริมทัพรับการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด
โดยโรงแรมฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับไพร์ม โลเกชั่น ใกล้แม่น้ำปิงและไนท์บาซาร์ย่านค้าขายที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบาย รวมถึงเป็นอีกตัวเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมห้องประชุมขนาดใหญ่รองรับธุรกิจ MICE ที่ภายในโรงแรมได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “CHIANGMAI CHARM” โดยผสมผสานอัตลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมนต์เสน่ห์ ผ่านการตกแต่งภายในด้วยศิลปหัตกรรมท้องถิ่นร่วมสมัย จนไปถึงการนำเสนออาหารและผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชนที่แสดงถึงเอกลักษณ์และคุณค่าของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนจากสถานการณ์โควิด เน้นใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิด “360 Cuisine” ที่ทางโรงแรมได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรในท้องถิ่น ส่งเสริมการผลิตแบบรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อชุมชนและห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืน โดยเน้นวัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้คัดสรรมาจากฟาร์มออร์แกนิคไม่ว่าจะจากโครงการหลวง หรือ Ori9in Farm ที่สามารถสัมผัสประสบการณ์ได้ผ่านห้องอาหารของโรงแรม
และที่พลาดไม่ได้กับไฮไลท์จุดชมวิวทิวทัศน์อันงดงามจาก “ไหม เดอะ สกาย บาร์” ซึ่งถือเป็นรูฟท็อปบาร์บนยอดอาคารที่สูงที่สุดในเมืองเชียงใหม่ พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนให้ได้ร่วมภาคภูมิใจ โดยถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่และของภาคเหนือภายใต้แบรนด์มีเลีย ผู้บริหารรีสอร์ทชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปจากประเทศสเปน
ทางบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของภาคเหนือ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาบนทำเลศักยภาพกลางเมือง ตั้งเป้าเสริมพอร์ตคุณภาพของ AWC ในภาคเหนือให้ครบ 3 แห่งภายในปี 2565 โดยจับมือกับพันธมิตรระดับโลกทั้งจากเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล (เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่) เครือมีเลีย (มีเลีย เชียงใหม่) และเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป หรือ IHG กับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ เพื่อผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวระดับลักชัวรี่ของภูมิภาคและของประเทศต่อไป
ปัจจุบัน AWC มีกลุ่มโรงแรมในเครือทั้งหมด 19 แห่งที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศใน 6 เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง กรุงเทพฯ กระบี่ หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ และเกาะสมุย โดยมีจำนวนห้องพักรวมกันกว่า 5,201 ห้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
AWC กำไรปี 64 ฟื้นแรง 192% มองวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งกองทุน 16,500 ล้าน ลุยธุรกิจโรงแรม