ธุรกิจการตลาด

ไปอีกราย! "นาดาว บางกอก" ประกาศปิดฉากยุติบทบาท 12 ปี

10 พ.ค. 65
ไปอีกราย! "นาดาว บางกอก" ประกาศปิดฉากยุติบทบาท 12 ปี

เมื่อวาน "เจ๊เกียว" เพิ่งประกาศขายกิจการรถทัวร์ชนิดช็อกคนดูไปหมาดๆ ว่า ขนาดเจ๊ใหญ่ไปยังไม่รอดในยุคนี้ แต่ใครจะไปคิดว่าผ่านไปแค่วันเดียว ก็มีบริษัทชื่อดังอีกรายที่ประกาศ "ยุติบทบาท" ตามมาแล้ว

วันนี้ (10 พ.ค. 2565) บริษัท “นาดาว บางกอก” ได้ประกาศยุติบทบาทการดูแลและพัฒนาศิลปิน รวมถึงการผลิตซีรีส์ ละคร และงานเพลง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป โดย “ย้ง - ทรงยศ สุขมากอนันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด และผู้กำกับชื่อดัง ได้ระบุในแถลงการณ์ ดังนี้

ahr0chm6ly9zlmlzyw5vb2suy29tlahr0chm6ly9zlmlzyw5vb2suy29tl_1

“นาดาว บางกอก ขอแจ้งให้ทราบว่าทางบริษัทจะยุติบทบาทการเป็นบริษัทพัฒนาและดูแลศิลปิน รวมถึงการเป็นผู้ผลิตซีรีส์ ละคร หรือผลงานเพลงต่างๆตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้

ตลอดระยะเวลา 12 ปีของ นาดาว บางกอก หน้าที่หลักของพวกเราคือ การพัฒนาและดูแลศิลปิน โดยมีความตั้งใจในการค้นหา พัฒนา และดูแลให้เกิด นักแสดง หรือศิลปิน ที่มีความสามารถ มีคุณภาพในทุกด้านเพื่อที่จะเป็นทางเลือกใหม่ๆและสร้างความหลากหลายให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทย

โดยมีงานเสริมที่ตามมา คือ การผลิตซีรีส์ ละคร และผลงานเพลง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อสร้างงาน และสร้างโอกาสให้นักแสดง หรือศิลปินในสังกัดได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นพื้นที่ฝึกฝนฝีมือ และประสบการณ์ ในส่วนนี้ทำให้เราได้มีโอกาสสร้างคนทำงานเบื้องหลังรุ่นใหม่ๆ ตามมาด้วย

พวกเราชาว นาดาว บางกอก รู้สึกขอบคุณพี่ๆน้องๆในอุตสาหกรรมบันเทิง ผู้ใหญ่ที่เคารพทุกท่าน พาร์ตเนอร์ที่คอยสนับสนุน และอยู่เคียงข้างเรามาตลอด พี่ๆน้องๆสื่อมวลชนที่ให้โอกาสศิลปิน นักแสดง และผลงาน นาดาว บางกอก ได้มีพื้นที่แนะนำตัว และประชาสัมพันธ์ รวมถึงแฟนๆ ทุกคนที่ติดตาม และให้การสนับสนุนศิลปิน และผลงานนาดาวเสมอมา เราคงไม่สามารถดำเนินการมาจนถึงปีที่ 12 โดยขาดการสนับสนุนจากทุกคน

นาดาว บางกอก ขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง มาถึงวันนี้ ศิลปิน นักแสดง นาดาว บางกอก หลายคนล้วนเติบโตพอที่จะตัดสินใจเรื่องหน้าที่การงาน เลือกวิธีการดูแล และเส้นทางในอนาคตด้วยตัวเอง รวมถึงพี่ๆ ที่นาดาวหลายคนก็มีเป้าหมายในชีวิตที่จะไปต่อแตกต่างกันไป จึงถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ นาดาว บางกอก จะขอยุติบทบาทการพัฒนาและดูแลศิลปิน รวมถึงการผลิตละคร ซีรีส์ และงานเพลงภายใต้ชื่อบริษัท นาดาว บางกอก และนาดาว มิวสิค

อาจฟังดูเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทันหัน แต่ภายในเราปรึกษาเรื่องนี้มาสักระยะ และเป็นเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ ศิลปิน นาดาว บางกอก หลายๆ คนที่พร้อมไปดูแลตัวเอง ทยอยออกไปเริ่มต้นเส้นทางใหม่ของตัวเองกันแล้ว

นี่ไม่ใช่การกล่าวลาเพื่อสิ้นสุดลง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีอิสระเพื่อเติบโต และเริ่มต้นเส้นทางใหม่ของตัวเอง งานต่างๆ ที่เริ่มต้นค้างไว้ในชื่อ นาดาว บางกอก เช่น ซีรีส์ จะถูกส่งต่อไปยังโปรดิวเซอร์ หรือผู้กำกับ ให้ไปทำต่อบนการตัดสินใจของพวกเขาเอง ส่วนงานเพลงจะดำเนินต่อไปในนามของศิลปินคนนั้นๆ และน้องๆ นักแสดงแต่ละคนจะถูกพาไปแนะนำในสายงานที่เขาสนใจฝากติดตาม และให้กำลังใจในก้าวต่อๆ ไปของพวกเราทุกคนด้วยนะครับ ขอบคุณทุกคนอีกครั้งตลอด 12 ปีที่ผ่านมาครับ”

 

เปิดรายได้ย้อนหลัง 5 ปี เติบโตได้ดีจนถึงปี "2563"

nadao(1)

ทางนาดาว ไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผลด้านธุรกิจสำหรับการยุติบทบาทในครั้งนี้ แต่จากการติดตามข้อมูลผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะพบว่า บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีบางปีที่ตัวเลขกำไรลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบปีก่อน แต่ก็ยังไม่เคยประสบภาวะขาดทุนเลยในช่วง 5 ปีมานี้

บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีรายชื่อบุคคลที่มีบทบาทในการร่วมก่อตั้งบริษัทและเป็นกรรมการบริษัท ได้แก่ นางสาวบุษบา ดาวเรือง นางสาวจินา โอสถศิลป์ นางสาวรจเรข ลือโรจน์วงศ์ นางสาวจงจิตต์ อินทุ่ง และนายทรงยศ สุขมากอนันต์ โดยจุดประสงค์เริ่มแรกนั้น เป็นบริษัทดูแลศิลปินของจีทีเอช (ปัจจุบันคือ จีดีเอช ห้าห้าเก้า) จนมีการขยายธุรกิจต่างๆ ในเส้นทางบันเทิง อาทิ ผลิตซีรีส์ ละคร และเพลง

ผลงานโดดเด่นที่ทำให้นาดาวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจกล่าวได้ว่ามาจากซีรีส์ชื่อดังที่กลายเป็นกระแสไปทั่วเมืองในชุด "Hormones วัยว้าวุ่น" เมื่อปี 2556 จนถึงภาคสุดท้ายในปี 2558 และยังมีการผลิตซีรีส์ไปยังแพลตฟอร์มอย่างไลน์ทีวี รวมถึงผลิตละครดังอย่าง "เลือดข้นคนจาง" ที่ออกอากาศทางช่อง 5 และไลน์ทีวี ในปี 2561 และตอกย้ำคอนเทนต์กระแสวาย กับเรื่อง "แปลรักฉันด้วยใจเธอ" กับคู่จิ้น "พีพี-บิวกิ้น" ในปี 2563

กระแสของคอนเทนต์และการปั้นทีมนักแสดงหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2558 บริษัทมีรายได้ทะลุร้อยล้านไปอยู่ที่ 117 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.2 ล้านบาท ก่อนที่รายได้จะกระโดดขึ้นถึง 41% ในปี 2559 อยู่ที่ 165.52 ล้านบาท พร้อมกำไรที่เติบโตถึง 227% อยู่ที่กว่า 17 ล้านบาท

แม้กำไรในปีต่อมา 2560 จะขยายตัวได้ลดลง แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ทำผลประกอบการได้ดีขึ้นจนในปี 2562 สามารถทำรายได้สูงสุดที่ 392 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 60% และทำกำไรได้เกือบ 51 ล้านบาท หรือเติบโตได้เกือบ 88% ส่วนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาดโควิด-19 นั้น บริษัทยังสามารถทำรายได้ถึง 313 ล้านบาท และมีกำไร 29.25 ล้านบาท แม้จะเป็นกำไรที่ลดลงจากปีก่อนประมาณ 27% ก็ตาม

ก่อนหน้านี้บริษัทเคยมีการเปิดเผยว่า สัดส่วนรายได้นั้นมาจากการดูแลศิลปิน 60% และจากการทำโปรดักชั่นเฮาส์และคอนเทนต์ต่างๆ 40% และสัดส่วนมาจากในประเทศ 90% และจากต่างประเทศ 10% โดยเมื่อนำกำไรมาหักค่าใช้จ่ายแล้วได้ประมาณ 20-30%

ขณะที่ส่วนดูแลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า และเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วจึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทประมาณ 8-15% ต่องาน

แม้นาดาวจะมีชื่อสียงในด้านของคุณภาพของคอนเทนต์ แต่เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีฝ่ายโปรดักชั่นเฮ้าส์ขนาดเล็กทำให้ในแต่ละปีบริษัทสามารถผลิตคอนเทนต์ออกมาต่อปีได้เพียงปีละ 1-2 เรื่อง เนื่องจาการลงทุนด้านโปรดักชั่นของนาดาวซึ่งมีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตของคอนเทนต์ทั่วไป ที่จะเฉลี่ยอยู่ที่ตอนละ 1.4-1.5 ล้านบาท

ปัจจุบัน นาดาว มีศิลปินในสังกัดมากกว่า 20 คน ตั้งแต่ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่อย่าง พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร และ บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล เป็นต้น

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT