ธุรกิจการตลาด

"Self-publishing" ช่องทางทำเงินของนักเขียนรุ่นใหม่ ไม่ง้อสำนักพิมพ์

18 ส.ค. 65
"Self-publishing" ช่องทางทำเงินของนักเขียนรุ่นใหม่ ไม่ง้อสำนักพิมพ์

เชื่อว่าใครก็ตามที่มีความชอบ และมีความฝันอยากเป็นนักเขียน ย่อมอยากเห็นผลงานของตัวเองถูกตีพิมพ์เป็นรูปเล่มสวยงามอยู่ในมือนักอ่าน

 
แต่หลายคนก็ต้องพับความฝันนั้นเก็บไปเพราะโตขึ้นมาถึงได้รู้ว่าการจะได้ตีพิมพ์งานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแข่งกับคนมากมายที่มีความฝันเดียวกัน และต้องมีพรสวรรค์ เป็นนักเขียนยอดฝีมือเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์
 
นอกจากนี้ ด้วยความที่นักอ่านสมัยนี้นิยมอ่านหนังสือแปลมากกว่า นักเขียนไทยก็มีโอกาส "เกิด" ผ่านสำนักพิมพ์ยากขึ้นอีก เพราะสำนักพิมพ์จะมองว่างานของนักเขียนไทยที่ยังไม่มีชื่อเสียง "ขายยาก" กว่า และไม่คุ้มที่จะลงทุนตีพิมพ์
 
แต่ในสมัยนี้ เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ทำให้การพิมพ์หนังสือเป็นเรื่องง่ายและถูกขึ้น ความฝันนี้ก็อาจไม่ใช่สิ่งไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เมื่อนักเขียนสามารถสั่งพิมพ์งานขายเองได้ด้วยเงินทุนหลักหมื่นหลักแสน
 
ในบทความนี้ทีมข่าว Spotlight จึงอยากพาทุกคนมารู้จัก “self-publishing” หรือ การ “พิมพ์เอง ขายเอง” ที่เปิดโอกาสให้นักเขียนที่มั่นใจว่าตัวเองมี “ของ” และ “ความกล้า” มากพอได้เฉิดฉายในทางของตัวเองโดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองกับใครก่อนตีพิมพ์งาน 


การพิมพ์งานเองขายเองไม่ใช่เรื่องใหม่ 

แต่ “ง่าย” ขึ้นมากในสมัยนี้

 

การตีพิมพ์งานด้วยตัวเองไม่ใช่ของใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่นักเขียน(ที่ส่วนมากจะถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธผลงาน)ทำมาแล้วตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน และบางคนก็เป็นชื่อที่คอวรรณกรรมรู้จักดีจนไม่น่าเชื่อว่าเคยถูกปฏิเสธงานมาเสียด้วย อย่าง เจน ออสเตน (Jane Austen) นักเขียนชื่อดังแนวสัจนิยมชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ช่วงศตวรรษที่ 18, เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) นักเขียนชาวไอริชเจ้าของผลงานปฏิวัติวงการวรรณกรรมอย่าง Ulyesses และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1954

 

  443464

(เจน ออสเตน และผลงานแรก Sense and Sensibility ที่ตีพิมพ์ด้วยเงินของตัวเอง)

 

แต่ในยุคก่อน การจะพิมพ์งานตัวเองออกมาได้ นักเขียนไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองมีของอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องมี “เงิน” กับ “เส้นสาย” ในวงการพอสมควรด้วย เพราะเจน ออสเตน ที่ถึงแม้จะถูกปฏิเสธงานเพราะเป็นผู้หญิงก็ยังมีพ่อที่มีฐานะทุ่มเงินให้เธอพิมพ์งานได้ เจมส์ จอยซ์ ก็มีเพื่อนที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือและรู้จักคนในวงการหนังสือมากพอจะขอให้เพื่อนพิมพ์งานให้ด้วยเงินตัวเอง เฮมิงเวย์ก็เคยทำงานเป็นนักข่าวมาก่อนออกหนังสือเล่มแรก

 

นี่เป็นเพราะการพิมพ์หนังสือด้วยแท่นพิมพ์ในสมัยก่อนใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก และไม่คุ้มค่าหากไม่สั่งพิมพ์ในปริมาณมากๆ ในคราวเดียว แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี  offset printing ในช่วง 1950s และการเข้ามาของเทคโนโลยี desktop publishing (DTP) ในปี 1979 และ print on demand (POD) ในปี 1997 ทำให้การพิมพ์ถูกลงและนักเขียนสามารถสั่งพิมพ์งานเองในจำนวนน้อยๆ ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงทุนจมไปกับการสั่งพิมพ์หนังสือจำนวนมากที่อาจขายไม่ออก

 

istock-519913201 (offset printing)

 

ในสมัยนี้เราจึงได้เห็นนักเขียนนิยายเป็นตอนลงเองในแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมากตัดสินใจสั่งตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง และนักอ่านที่ติดตามนักเขียนเหล่านี้ในโลกออนไลน์ก็คงจะคุ้นเคยดีกับการสั่งพรีออเดอร์ร่วมเล่มนิยายเรื่องโปรดมาเก็บไว้เป็นของสะสม

 


เพราะง่ายขึ้น คู่แข่งจึงเยอะขึ้นด้วย

ต้องไม่ลืม “สำรวจตลาด” ก่อน

 

ถึงแม้การตีพิมพ์หนังสือจะทำได้ในราคาที่ถูกขึ้น และมีสิทธิประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นเพราะมีช่องทางลงผลงานชิมลาง โปรโมต และประกาศขายงานเองได้ง่ายขึ้นโดยใช้โซเชียลมีเดีย แต่ความง่ายนี้เองก็ทำให้มีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น เพราะสมัยนี้ใครๆ ก็เขียนนิยายลงแพลตฟอร์มออนไลน์และมีสิทธิดังได้ถ้ามีคนโปรโมตงานให้มากพอ

 

จากข้อมูลของ เด็กดี (Dek-D) แพลตฟอร์มลงนิยายออนไลน์ที่เป็นที่ลงผลงานของนักเขียนมือสมัครเล่นมาหลายต่อหลายรุ่น พบว่าในปี 2021 เด็กดีมีนิยายออนไลน์ในระบบกว่า 1.14 ล้านเรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 100,000 เรื่อง และมีนักเขียนในระบบมากกว่า 400,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คนจากปีก่อนหน้า และนี่เป็นเพียงแค่สถิติจากเว็บไซต์เดียวเท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูล

 

ในปัจจุบันแพลตฟอร์มอื่นที่นักเขียนนิยมไปลงงานกัน เช่น readAwrite, Joylada, Tunwalai และ fictionlog ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลตัวเอง แต่ก็เชื่อได้ว่าตัวเลขคงสูงไม่แพ้กันถ้าดูจากการที่มีนิยายเรื่องใหม่จากนักเขียนหน้าใหม่เปิดขึ้นมาแทบทุกวัน

 

webbb

 

ยิ่งไปกว่านั้นถึงเป็นนักเขียนโด่งดังในโลกออนไลน์ที่มีคนอ่านเป็นหมื่นเป็นแสนคนพิมพ์งานออกมาจริงๆ ก็อาจจะแป้กได้ เพราะนักอ่านบางคนชินกับการอ่านงานฟรีในอินเตอร์เน็ตไปแล้วจนไม่อยากเสียเงินซื้อรูปเล่ม

 

เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจพิมพ์งานออกมาเป็นรูปเล่มสิ่งที่นักเขียนควรทำก็คือ “การสำรวจตลาด” วัดความนิยมของนิยายตัวเองก่อนเช่นดูจากยอดกดอ่าน กดเข้าคลัง กดหัวใจ ฟีดแบ็คในคอมเมนต์ และฟีดแบ็คในโซเชียลมีเดียจากคนที่อ่านงานของเรา หรือไม่ก็เปิดฟอร์มพรีออเดอร์ให้ได้ยอดที่แน่นอนก่อนสั่ง เพราะการพิมพ์งานเอง และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอนเอง ก็หมายความว่าเราอาจ “เจ็บเอง” และ “เจ๊งเอง” ด้วยเช่นกันถ้างานขายไม่ออก

 

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ อาจจะลองทำหนังสือออกมาในรูปแบบอีบุ๊ก (e-book) แล้วฝากวางขายในร้านหนังสือออนไลน์ต่างๆ เช่น Meb , Ookbee, หรือ Kindle ก็ได้ถ้าไม่อยากเสียค่าพิมพ์แพงๆ โดยยอมให้แต่ละแพลตฟอร์มหักค่าคนกลางออกไปตามเปอร์เซ็นที่แต่ละแพลตฟอร์มเสนอไว้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่กำลังโตระเบิดในอุตสาหกรรมหนังสือ

 

จากข้อมูลของ Statista ระบุว่า จำนวนหนังสือ self-published ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1,863% ในระยะเวลาเพียงสิบปีจาก 85,468 เล่มในปี 2008 ไป 1,677,781 ในปี 2018

 

ในขณะที่ Meb Corporation เจ้าของร้านหนังสือ e-book ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้นๆ ของไทยอย่าง Meb และแพลตฟอร์มลงนิยายออนไลน์ยอดฮิต readAwrite พบรายได้และกำไรโตต่อเนื่อง โดยในปี 2021 ได้รายได้ไปรวม 1,419,715,048 บาท และกำไรสุทธิ 273,435,113 บาท เพิ่มจากตัวเลขในปี 2020 เป็น 51.48 % และ 64.67 % ตามลำดับ

 

ด้วยตลาดนักอ่านออนไลน์ที่กำลังโตเพราะนักอ่านรุ่นใหม่หันมาอ่านงานเขียนทางออนไลน์กันมากขึ้น จึงนับได้ว่าการออกมาทำงานเป็นนักเขียนนิยายออนไลน์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของนัก(อยาก)เขียนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากมีผลงานเป็นของตัวเอง

 

แต่ในขณะที่ “self publishing” ทำให้นักเขียนไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองกับสำนักพิมพ์ ยังไงก่อนจะตีพิมพ์งานเขียน นักเขียนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกับ “นักอ่าน” ในตลาดให้ได้ก่อน เพราะหากดันทุรังพิมพ์ไปโดยยังไม่มีฐานนักอ่านที่กว้างพอ การเงินก็อาจเสียหายหนักได้ถ้างานไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

เปิดสายพานการผลิต

ต้องผ่านใครบ้างกว่าจะมาเป็นหนังสือพิมพ์เอง

 

ในปัจจุบันมีสองทางหลักๆ ที่นักเขียนสามารถตีพิมพ์งานเขียนได้ด้วยตัวเองคือ ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม และตีพิมพ์เป็นอีบุ๊กซึ่งมีขั้นตอนการผลิตคล้ายคลึงกัน ยกเว้นอีบุ๊กจะไม่มีขั้นตอนตีพิมพ์ และมีวิธีจัดหน้าแตกต่างกันตามแพลตฟอร์มที่ลง

 

เพื่อให้งานที่ออกมามีทั้งเนื้อหาและรูปเล่มที่มีคุณภาพพอสมควร งานของนักเขียนพิมพ์เองก็ต้องผ่านกระบวนการคล้ายกับที่งานที่พิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ต้องผ่าน คือ การตรวจเรื่อง พิสูจน์อักษร จัดหน้า ออกแบบรูปเล่ม โปรโมต และวางขาย

 

แตกต่างกันที่ในขณะที่สำนักพิมพ์มีเจ้าหน้าที่ in-house ทำงานพวกนี้ให้อยู่แล้ว นักเขียนที่จะพิมพ์งานเองต้องไปหาคนมาทำขั้นตอนพวกนี้ให้เอง ซึ่งแน่นอนว่านักเขียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะตามมาเองทั้งหมด

  

  1. ปรับแก้งาน และเช็กความถูกต้องของการสะกดคำและไวยากรณ์

 

ในเมื่อไม่มีบรรณาธิการมานั่งอ่านงานให้ หลังจากเขียนงานออกมาจนจบแล้ว สิ่งแรกที่นักเขียนควรทำคือหาคนมาช่วยอ่าน แก้ไขไวยากรณ์และคำผิด และให้คำติชมมาปรับแก้การใช้ภาษาหรือเรียบเรียงเรื่องราวให้ ซึ่งอาจจะเป็นบรรณาธิการอิสระ นักพิสูจน์อักษรมืออาชีพ หรือถ้างบน้อยก็เป็นเพื่อนที่มีประสบการณ์อ่านงานและเวลาเยอะพอมาช่วยให้คำปรึกษาเราได้

 

  1. ออกแบบรูปเล่ม

 

ขั้นตอนนี้จะแบ่งได้เป็นสองขั้นตอนย่อยคือ “ออกแบบภายใน” และ “ออกแบบรูปเล่ม”

 

ออกแบบภายใน คือการจัดหน้า ดูการเว้นขอบกระดาษ การเว้นระยะห่างระหว่างบรรทัด การย่อหน้า การจัดตำแหน่งข้อความในกระดาษ การรันเลขหน้า การใส่รูปประกอบ รวมไปถึงการเลือกฟอนต์ เลือกรูปแบบและความหนาของกระดาษที่จะตีพิมพ์ นักเขียนอาจจะจ้างนักจัดหน้าหนังสือมาทำให้ก็ได้ หรือจะทำเองก็ได้ แต่ถ้าเลือกทำเองก็อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาและพลาดได้ง่ายเพราะการจัดหน้ามีรายละเอียดเล็กน้อยที่ต้องคิดถึงหลายอย่าง

 

โปรแกรมที่นักจัดหน้าหนังสือนิยมใช้ทำงานคือ Adobe InDesign, Affinity Publisher ซึ่งส่วนมากเป็นโปรแกรมที่ต้องซื้อหรือจ่ายค่า subscribe แต่ถ้าอยากใช้โปรแกรมฟรีก็สามารถใช้ Microsoft Word จัดหน้าได้เช่นกัน

 

การออกแบบรูปเล่ม คือการออกแบบปกหนังสือ ซึ่งนักเขียนที่ตีพิมพ์งานเองส่วนมากจะจ้างนักออกแบบปกหรือนักวาดมืออาชีพออกแบบให้ โดยการ “คอมมิชชั่น” งานหรือก็คือการจ้างวาดปก โดยเราสามารถเลือกลายเส้นและสไตล์ของนักวาดให้เหมาะกับงานของเราได้ตามต้องการ

 

ในด้านเรทราคาค่าวาดจะแตกต่างกันไปสำหรับนักวาดแต่ละคน แล้วแต่ตกลง และไม่มีราคากลาง ส่วนมากการนำภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (commercial use) ราคาจะสูงกว่าแบบใช้ส่วนตัว (personal use) และอาจจะมีเรทราคายิบย่อยตามระยะเวลาในการใช้ รูปแบบในการใช้อีกตามที่ตกลงกัน

 

  1. ส่งพิมพ์

 

การพิมพ์หนังสือเองมีตัวเลือก 2 แบบคือ print on demand (POD) และ offset printing

 

Print on demand เป็นการสั่งพิมพ์ที่ไม่จำกัดจำนวนเล่มที่พิมพ์ในแต่ละครั้ง ทำให้นักเขียนสามารถสั่งพิมพ์จำนวนตามใจ เล่มสองเล่มก็ได้ เหมาะสำหรับนักเขียนที่รับพรีออเดอร์มาจนรู้จำนวนที่จะขายแน่นอนแล้วและไม่อยากสต็อกของ แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายเพราะถ้าพิมพ์ครั้งละจำนวนน้อยๆ ก็จะทำให้ต้นทุนต่อเล่มราคาสูงขึ้นไปด้วย

 

Offset printing คือการพิมพ์ที่หมึกจะสัมผัสกับแผ่นเพลทแม่พิมพ์และกระดาษโดยตรงผ่านลูกกลิ้ง โดยมีหลายขนาด มีทั้งเครื่องพิมพ์ 1 สี 2 สี 4 สี 5 สี หรือมากกว่านั้น ได้งานที่มีคุณภาพสูง ละเอียด ภาพสวย คมชัด และสามารถสั่งพิมพ์ในปริมาณมาก ๆ ได้ ทำให้ค่าพิมพ์ต่อเล่มถูกลง เหมาพสำหรับนักเขียนที่อยากพิมพ์งานสต็อกไว้ และมั่นใจว่ามีตลาดรองรับงานที่เพียงพอ

 

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่จะกำหนดราคาต้นทุนต่อเล่มได้อีกนอกจากจำนวนเล่มที่พิมพ์ยังรวมไปถึง ความยาวของหนังสือ(จำนวนหน้า) ประเภทกระดาษและเทคนิคการพิมพ์ที่ต้องใช้ รูปแบบการเข้ารูปเล่ม และจำนวนหน้าที่พิมพ์สี

 

  1. กำหนดราคาหนังสือ

 

การตั้งราคาขายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้เขียน แต่โดยพื้นฐานแล้วนักเขียนต้องรวมค่าต้นทุนทั้งหมด เช่น ค่าลิขสิทธิ์การเขียนที่นักเขียนตั้งเอง ค่าจ้างบรรณาธิการและพิสูจน์อักษร ค่าจัดหน้า ค่าพิมพ์ ค่าโฆษณาทำการตลาด ค่าฝากขาย ค่าขนส่ง และค่าจิปาถะอื่นๆ มาหารจำนวนเล่มที่ขายหรือผลิตเป็นต้นทุนต่อเล่ม แล้วนำไปบวกเปอร์เซ็นกำไรที่อยากได้

 

(ต้นทุนต่อเล่ม x เปอร์เซ็นกำไร) + ต้นทุนต่อเล่ม = ราคาขาย

 

  1. วางขายหนังสือ

 

ส่วนมากนักเขียนที่พิมพ์งานขายเองจะเปิดขายและโปรโมตหนังสือตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียที่ใช้พูดคุยกับนักอ่านที่เป็นแฟนคลับอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากฝากหนังสือกระจายขายในร้านหนังสือ สมัยนี้ก็มีร้านหนังสืออิสระหรือรายเล็กจำนวนหนึ่งที่รับหนังสือพิมพ์เองไปวางขาย เช่น Bookmoby Readers’ Café ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ ร้านกลิ่นหนังสือ, Lunaspace, Aladdin Books, Goodnightlibrary ที่เปิดให้สั่งหนังสือทางออนไลน์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการวางขายและโปรโมตก็แตกต่างกันไปในแต่ละร้าน

 

สำหรับหนังสือที่อยู่ในฟอร์แมตอีบุ๊ก แพลตฟอร์มที่รับอีบุ๊กลงวางขายก็เช่น Meb และ Ookbee ซึ่งสำหรับทุกๆเล่มที่มีคนสั่งซื้อ นักเขียนจะต้องแบ่งเปอร์เซนให้กับแพลตฟอร์ม หักไปเป็นค่าฝากหนังสือวางขายในระบบ



จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จะเห็นได้ว่านักเขียนต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคน และต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายขั้นตอนมากกว่าจะคลอดหนังสือออกมาได้เล่มหนึ่ง ทำให้ถึงแม้การพิมพ์หนังสือเองจะมีข้อดีคือทำให้นักเขียนผลิตหนังสือมาวางขายได้โดยไม่ต้องส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา และรับกำไรจากการขายไปได้เต็มๆ แต่ข้อเสียใหญ่ก็คือความเสี่ยงที่จะขาดทุนถ้าหากไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอจากนักอ่าน



สรุปข้อดีและข้อเสียของการตีพิมพ์หนังสือขายเอง

 

ข้อดี

  • ควบคุมการผลิตหนังสือได้เองทุกขั้นตอน
  • ไม่ต้องเสียลิขสิทธิ์ในงานเขียนให้สำนักพิมพ์
  • ได้รับค่าลิขสิทธิ์ 100%
  • ได้รับกำไรจากการขาย 100%
  • มีอิสระในการแสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งในแง่เนื้อหาและการออกแบบรูปเล่ม

 

ข้อเสีย

 

  • ถ้าทำเองไม่ได้ต้องติดต่อหาบรรณาธิการ นักพิสูจน์อักษร นักจัดหน้า นักออกแบบปกมาช่วยงานเอง
  • ต้องคิดแผนโปรโมตงานเขียนเองโดยไม่มีทีมการตลาดมืออาชีพช่วย
  • ไม่มีเชนร้านหนังสือทั้งแบบ brick-and-mortar และ online รองรับงาน ต้องติดต่อขอวางขายงานด้วยตัวเอง ซึ่งเปลืองค่าใช้จ่ายและขั้นตอนยุ่งยาก
  • ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและรับผลกระทบจากการขาดทุนด้วยตัวเองทั้งหมด

 

ที่มา: The Conversation, Wiseinkblog, Medium, Statista, Dek-d





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT