รฟท.อวดโฉมรถไฟมือสองญี่ปุ่น "KIHA 183" หลังปรับโฉมใหม่แต่ยังคงกลิ่นไอแบบญี่ปุ่น ทดสอบฉลุยวิ่ง 100 กม./ชม. พร้อมวิ่งจริงปลายปีนี้ขณะที่ญี่ปุ่น "JR East" เสนอมอบเพิ่มอีก 20 คัน
ทดสอบวิ่งจริงเสร็จสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา สำหรับ "คิฮะ 183" (KIHA 183) ซึ่งเป็นขบวนรถไฟมือสองจากประเทศญี่ปุ่น ที่บริจาคให้กับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำมาปรับปรุงตกแต่งใหม่ เพื่อใช้รองรับเป็นขบวนรถท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีการรับมอบเมื่อปลายปีที่แล้ว
ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง 40 ที่นั่ง 8 คัน แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ 52 ที่นั่ง 1 คัน เพื่อดัดแปลงเป็นตู้รถไฟ สำหรับให้บริการประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
โมดิฟายใหม่ แต่ยังคงกลิ่นไอแบบญี่ปุ่น
การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงขบวนรถโดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของรถไฟ KIHA 183 ดังนั้นในการขัดทำสีใหม่จึงยังคงเลือกใช้สีเดิม คือ ขาว-ม่วง ตัดด้วยแถบเส้นสีเขียว แต่เพิ่มสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ไปบนพื้นหลังลายภูเขาและทะเลบริเวณหน้ารถ นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงกับชานชาลาต่ำได้
ส่วนภายในห้องโดยสารนั้น เนื่องจากได้รับมอบรถไฟจาก JR Hokkaido มาในสภาพที่ดีเป้นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้การรีโนเวทภายในขบวนรถค่อนข้างง่าย โดยซ่อมส่วนที่สึกหรอ ทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน และเพิ่มส่วนที่เป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษเข้าไป
สำหรับที่นั่งจะเป็นลักษณะแถวคู่ 2-2 หมุนได้ 360 องศา ทำให้สามารถปรับแถวเป็นกลุ่มนั่ง 4 คนได้ เบาะเป็นหนังกำมะหยี่ มีถาดวางอาหารที่ด้านหลังเบาะสำหรับผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง
พร้อมเดินรถช่วงปลายปี '65 นี้
ปัจจุบัน ทีมช่างโรงงานมักกะสัน และการรถไฟฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงรถเสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน และเริ่มนำมาทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานี มักกะสัน - ฉะเชิงเทรา - กรุงเทพ เป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งพบว่ารถสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนอีก 1 คันอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2565
จากนั้นได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุด ชุดละ 4 คัน และทยอยนำออกมาวางให้บริการในเส้นทางท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดและเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566
หลังจากนี้การรถไฟฯ จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณากำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้นแบบ "วันเดย์ทริป" ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน โดยจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร เช่น กรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-สถานีน้ำตก (จ.กาญจนบุรี), กรุงเทพฯ-สวนสนประดิพัทธ์, กรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงเส้นทางโดยสาร เช่น กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เป็นต้น