เมื่อพูดถึงมหาเศรษฐี หลายๆ คนอาจจะนึกถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ แห่งทางฝั่งตะวันตกเช่น Tesla, Microsoft หรือ Amazon จนติดภาพไปว่ามหาเศรษฐีมักจะเป็นคนที่มาจากประเทศตะวันตก
แต่แท้จริงแล้วทวีปที่มีมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปจำนวนมากที่สุด กลับเป็น ‘เอเชีย’ ที่เราอยู่นี้เอง โดยมีทั้งหมด 951 คน ในขณะที่อเมริกาเหนือมี 777 คน และยุโรปมี 536 คน และชายที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียในวันนี้ก็คือ ‘โกตัม อดานี’ ที่เคยเป็นชาวเอเชีย ‘คนแรก’ ที่เบียดขึ้นไปเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับ 2 ของโลกได้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นี่ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์สำคัญ เพราะถึงแม้มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกส่วนมากจะยังคงอยู่ในอเมริกา แต่ปัจจุบันเอเชียเป็นทวีปที่มีมหาเศรษฐีเกิดขึ้นในอัตราที่มากและเร็วที่สุดในโลก โดยเร็วกว่าจำนวนมหาเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นในยุโรปในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18-19 และ ในอเมริกาในช่วงที่มีการปฏิวัติเทคโนโลยีเสียอีก
โดยเฉพาะใน ‘จีน’ และ ‘อินเดีย’ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมหาเศรษฐีมากถึง 440 และ 161 คน โดยจากข้อมูลของ Credit Suisse ในประเทศเหล่านี้มีจำนวนมหาเศรษฐีเพิ่มมากขึ้นถึง 34 เท่า และ 11 เท่าในช่วงปี 2000-2021 ซึ่งสูงกว่าอเมริกาและญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.6 เท่า และ 1.2 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน
แต่อะไรล่ะคือสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนมหาเศรษฐีเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้
จากการรายงานของ Nikkei Asia ปัจจัยแรกที่ทำให้เอเชียมีมหาเศรษฐีจำนวนมากก็คือ ‘จำนวนประชากรที่มาก’ เพราะเอเชียเป็นที่อยู่ของประชากรถึง 60% ในโลก ในขณะที่ยุโรปมีน้อยกว่า 10% และอเมริกามีเพียง 4% ทำให้เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว อเมริกายังคงเป็นทวีปที่มีจำนวนมหาเศรษฐีต่อหัวในจำนวนสูงที่สุด
ปัจจัยที่สองก็คือ 'การก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทตะวันตกในด้านเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร' เช่น ‘จาง อิ้หมิง’ ผู้ก่อตั้ง Bytedance บริษัทแม่ของ TikTok แอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือ ‘หม่า ฮั่วเถิง’ ประธานบริษัท Tencent บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในจีน
และปัจจัยที่สามก็คือ 'ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นมากในตอนนี้' ที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของแต่ละคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนขยายธุรกิจ ถึงแม้ถ้าเทียบกันแล้วมหาเศรษฐีในเอเชียจะถือทรัพย์สินในรูปแบบหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ มากกว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ เมื่อต้นปียังมีรายงานอีกด้วยว่าในเอเชียมีจำนวนมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 20 คน เพราะ ‘การระบาดของโควิด’ ที่ทำให้ธุรกิจที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุดป้องกัน PPE ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรือชุดตรวจ ATK มีผลกำไรเพิ่มขึ้นมากในช่วงนั้น
โดยจำนวนของมหาเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสูงขึ้นจาก 803 คนในเดือนมีนาคมปี 2020 ทะยานไปถึง 1,087 คนในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 พร้อมมูลค่าทรัพย์สินรวมที่เพิ่มขึ้นถึง 74% ในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดอย่างหนักหนาที่สุด
และเมื่อเร็วๆ นี้ อีกวิกฤติหนึ่งที่ทำให้มหาเศรษฐีร่ำรวยขึ้นมากก็คือ ‘วิกฤติพลังงาน’ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ โกตัม อดานี (Gautam Adani) ที่มีธุรกิจส่วนมากอยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ เหมือง สนามบิน รวมไปถึงธุรกิจกลุ่มพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานสะอาด ที่ได้กำไรสูงมากในช่วงที่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา
แต่ถึงแม้จำนวนมหาเศรษฐีในเอเชียในตอนนี้ โดยเฉพาะใน ‘จีน’ จะมีแนวโน้มลดลงจากนโยบาย ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ หรือ Common Prosperity ของรัฐบาลที่มุ่ง ‘ลดอำนาจทางเศรษฐกิจ’ ของมหาเศรษฐี และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในประเทศด้วยการบังคับให้มหาเศรษฐีเช่น แจ็ค หม่า และ หม่า ฮั่วเถิง ลดปริมาณทรัพย์สินลงด้วยการบริจาคหรือวิธีอื่นๆ
และยังมีการรัดเข็มขัดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่ทำให้ราคาหุ้นตก และค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าจนทำให้จำนวนมหาเศรษฐีในเอเชียลดลงถึง 126 คนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
Credit Suisse ก็ยังมองว่าในอนาคตมูลค่าทรัพย์สินรวมของนักธุรกิจเอเชียยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจำนวน ‘เศรษฐี’ ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปในจีนและอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าใน 2026 จากปี 2021 เพราะในประเทศเหล่านี้มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีทั้งกำลังซื้อและอุปทานสูง และยังมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องที่จะส่งผลดีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งเมื่อมองจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมยุคนี้ถึงเรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของนักธุรกิจในเอเชีย เพราะนอกจากจะเริ่มได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกับการสร้างนวัตกรรมที่เคยทำให้ชาติตะวันตกร่ำรวยมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว สภาพการณ์แวดล้อมทั้งทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจโลกก็ยังส่งเสริมให้หลายๆ ธุรกิจเติบโตขึ้นไปอีก
จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าในฐานะที่เป็นทวีปที่มีปริมาณประชากรที่สูง ตลาดที่ใหญ่ และมันสมองจำนวนมากที่สุดในโลกนี้ เอเชียจะเติบโตไปในทิศทางไหนอีก
ที่มา: Nikkei Asia, The Guardian, Forbes