2 บิ๊ก "ซีพี-โตโยต้า" จับมือพัฒนารถบรรทุกขนส่ง FCEV (พลังงานไฮโดรเจน) และ BEV (ไฟฟ้า 100%) พร้อมศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในไทย พร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกภาคส่วน
วันนี้ (14 ธ.ค. 65) เป็นวันที่ประธานใหญ่โตโยต้าประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาประเทศไทย เนื่องในโอกาสร่วมฉลองครบรอบ 60 ปี โตโยต้า ที่ปักหมุดลงทุนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
แต่สารแรกจากนาย "อากิโอะ โตโยดะ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) กลับไม่ใช่เรื่อง 60 ปีความสำเร็จของโตโยต้า หรือไม่เหมือนกับสิบปีก่อนที่เคยมาพูดเมื่อครั้งฉลองครบรอบ 50 ปี
หากแต่เป็นเรื่อง "อนาคตของโตโยต้า" บนความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อก้าวผ่านยุคที่ท้าทาย
โตโยต้านั้นเป็น "เบอร์ 1" ในไทยมาตลอดหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องความสำเร็จหรือความยิ่งใหญ่ใดๆ กันมากนัก แต่สิ่งที่ต้องมองคือเรื่องของอนาคตที่จะถูกท้าทายจาก "รถยนต์พลังงานไฟฟ้า" (EV) โดยเฉพาะเมื่อตลาดรถยนต์ในไทยกำลังให้การตอบรับ EV อย่างคึกคักในปีนี้ ท่ามกลางข่าวว่า Tesla มาไทยวันเดียวได้ยอดจองรถกว่า 4,000 คัน และ BYD มียอดจอง ATTO 3 แล้ว 1 หมื่นคัน ทั้งที่เพิ่งเปิดจองแค่ไม่กี่เดือน
นายธนินท์ และนายโตโยดะ ประกาศความร่วมมือระหว่างกัน
ภาพข่าวแรกที่ปรากฎออกมา คือภาพที่นายโตโยดะ ผู้นำรุ่นปัจจุบันของตระกูลโตโยดะ แห่งอาณาจักรโตโยต้า จับมือกับ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) เพื่อประกาศความร่วมมือกันผลักดันเป้าหมาย "สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย"
"ซีพี และ โตโยต้า จะแสวงหาความร่วมมือทางสังคมด้วยการเชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัท เราจะช่วยกันดำเนินการในสิ่งที่สามารถทำได้ในขณะนี้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกระบวนการผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใต้กรอบความร่วมมือดังนี้"
- ศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากของเสียจากฟาร์มในประเทศไทย (การศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
- การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ ซีพี ซึ่งจะใช้ไฮโดรเจนดังกล่าว (นำเสนอแนวทางที่หลากหลาย เช่น BEV และ FCEV โดยพิจารณาจากระยะการเดินทางและน้ำหนักบรรทุก)
- ศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัย เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการจัดส่ง
โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ "ทรู ลิสซิ่ง" ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ที่ให้บริการด้านการขนส่ง จะเข้าร่วมกับโตโยต้า ที่จะเริ่มพิจารณาจากการมีส่วนร่วมของ Hino Motors, Ltd. และกลุ่มบริษัทใน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (ประกอบด้วย 4 ค่าย คือ ISUZU, SUZUKI, DAIHATSU และ TOYOTA)
หรือนี่จะเป็นอีกหนึ่งเดิมพันเรื่อง "พลังงานไฮโดรเจน" ที่โตโยต้าเป็นผู้นำปลุกปั้นอยู่ เพราะหากพิจารณากรอบความร่วมมือ 3 ข้อดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นี่คือการมุ่งไปที่ "รถพลังงานไฮโดรเจน" อย่างชัดเจน
ข้อ 2-3 นั้น คือการพิจารณาว่าจะใช้รถบรรทุกพลังงานใหม่ 2 ตัวเลือก คือ รถพลังงานไฮโดรเจน (FCEV) และรถไฟฟ้า 100% (BEV) ในกิจกรรมของซีพี รวมถึงศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง
ประเด็นคือ จะใช้ปั๊มไฮโดรเจนที่ไหน?
ปัจจุบัน ประเทศไทยเพิ่งมีการเปิดปั๊มไฮโดรเจนขึ้นเป็นแห่งแรก ณ อ.บางละมุุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเพียง "สถานีนำร่องทดลองใช้"เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท., โออาร์, บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) และโตโยต้า เพื่อใช้กับรถ โตโยต้า มิไร (Mirai) ในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
หรือเท่ากับว่า ปั๊มไฮโดรเจนและรถไฮโดรเจนในไทย อยู่ในขั้นของการนำร่องทดลองใช้เพื่อเก็บข้อมูลเอาไปต่อยอดเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ไม่เหมือนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ซึ่งเป็น 4 ประเทศที่มีปั๊มไฮโดรเจนมากที่สุดและมีการใช้ในเชิงพาณิชย์จริงๆ โดยข้อมูลของ Statista ระบุว่าทั้ง 4 ประเทศนี้มีปั๊มอยู่ 250/ 161/ 141/ และ 93 แห่ง ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส หรือ บีไอจี ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในสหรัฐ ก็ได้กำหนดโรดแมปลงทุนในไทย 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะนำร่องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในภาคการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30% ซึ่งเท่ากับว่าจะมีการเดินหน้าจริงจังกับการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถบรรทุก/ขนส่ง หลังจากนี้
หรือเท่ากับว่าพลังงานไฮโดรเจน อาจจะเข้ามาเป็นพลังงานทางเลือกที่มีโอกาสเติบโตในไทยต่อไปหลังจากนี้
ทั้งนี้ ซีพี ได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2030 และการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2050 แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ซีพี มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ
“สิ่งที่ประธานโตโยดะและผม มีร่วมกันคือ ความรู้สึกที่ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทย ผมรู้สึกยินดีที่ทั้งสองบริษัท มีโอกาสร่วมมือกันเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย และยังเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันศึกษา หาแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้” นายธนินท์ กล่าว
สำหรับโตโยต้า บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจโดยได้รับการสนันสนุนจากทุกภาคส่วน อาทิ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของโตโยต้า และได้เจริญเติบโตไปพร้อมกับพัฒนาการของสังคมไทย ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การชำระภาษี การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้ผ่านความท้าทายต่างๆ เช่น วิกฤตทางการเงินในภูมิภาคเอเชียในปี พ.ศ. 2540 และอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554
“ทั้งสองบริษัทซึ่งต่างคำนึงถึงประเทศไทยและโลกใบนี้ ได้เห็นร่วมกันที่จะดำเนินการในสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้ในขณะนี้ โดยอาศัยจุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละบริษัท ผมเชื่อว่าการริเริ่มในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยอมรับและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม” นายโตโยดะ กล่าว