เป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการที่มีห้องพัก เต็นท์ แพ เดิมทีไม่สามารถจดแจ้งใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมได้ แต่ล่าสุดครม.อนุมัติหลักการแก้ไขกฏหมาย 2 ฉบับแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป มาดูรายละเอียดกันว่า กฏเกณฑ์ใหม่จะเอื้อต่อผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กและจังหวัดเมืองรองมากแค่ไหน
ฉบับแรก เป็นกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ ฉบับปี 2551
- กำหนดให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกัน “ไม่เกิน 8 ห้อง” และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมด “ไม่เกิน 30 คน” ทั้งนี้ เมื่อได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบและนายทะเบียนได้ออกหนังสือรับแจ้งแล้ว สามารถเป็นสถานที่พัก “ที่ไม่เป็นโรงแรม” ตามพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ได้
- ให้หนังสือรับแจ้งมีอายุ 5 ปี ให้สอดคล้องกับใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมที่มีอายุ 5 ปี เช่นกัน เพื่อให้มีการตรวจมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มเติมการอนุญาตให้นำอาคารที่มีลักษณะเป็นแพ และอาคารที่มีลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ กระโจม มาประกอบธุรกิจโรงแรมได้
ฉบับที่ 2 กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ....
โดยกำหนดบทนิยาม “อาคารลักษณะพิเศษ” ที่อนุญาตให้นำมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ให้สอดคล้องกับปัจจุบันอาคารที่มีการก่อสร้างอาคารหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการอนุมัติหลักการจาก ครม. ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ก่อนหน้านี้ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการขนาดเล็กได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เกิดความคิดสร้างสรรค์นำศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรอง ขณะที่นักท่องเที่ยวมีทางเลือกหลากหลายภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
โดยกฎหมายฉบับแรก เป็นกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ ฉบับปี 2551 โดยกำหนดให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 8 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 คน เมื่อได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบและนายทะเบียนได้ออกหนังสือรับแจ้งแล้ว สามารถเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ได้ โดยส่วนนี้เป็นการขยายจากเดิมที่อนุญาตเฉพาะสถานที่ที่มีห้องพักรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน และเพิ่มเติมให้หนังสือรับแจ้งมีอายุ 5 ปี ให้สอดคล้องกับใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมที่มีอายุ 5 ปี เช่นกัน เพื่อให้มีการตรวจมาตรฐานต่างๆ ก่อนต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง
การขยายประเภทอาคารให้ใหญ่ขึ้นนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำอาคารที่มีเอกลักษณ์ทรงคุณค่าในแต่ละท้องถิ่นมาทำธุรกิจได้มากขึ้น เป็นการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ของชุมชนให้คงอยู่ เกิดความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวของท้องถิ่นกับที่พัก ซึ่งในเมืองรองหลายแห่งมีทั้งอาคารเก่าแก่และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่จำนวนมาก ที่สามารถนำมาถ่ายทอดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้
นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ได้เพิ่มเติมการอนุญาตให้นำอาคารที่มีลักษณะเป็นแพ และอาคารที่มีลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ กระโจม มาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันการให้บริการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยสำหรับผู้พัก เช่น อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรมที่มีลักษณะเป็นแพต้องจัดให้มีเครื่องลอยน้ำหรือเสื้อชูชีพ เต็นท์ กระโจม ต้องจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอในห้องพักและบริเวณทางเดิน และได้เพิ่มข้อกำหนดกรณีห้องพักที่ให้บริการแบบห้องพักรวมโดยคิดค่าบริการเป็นรายคน (Hostel) ต้องจัดให้มีเลขประจำเตียงกำกับไว้ทุกเตียงเป็นเลขอารบิก เพื่อให้สามารถกำกับดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าพักแต่ละราย
ส่วนกฎหมายฉบับที่2 คือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... โดยกำหนดบทนิยาม “อาคารลักษณะพิเศษ” ที่อนุญาตให้นำมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ให้สอดคล้องกับปัจจุบันอาคารที่มีการก่อสร้างอาคารหลากหลายรูปแบบมาเป็นโรงแรมไม่ว่าจะเป็น บังกะโลชั้นเดียวแบ่งเป็นห้อง ตู้คอนเทนเนอร์ แพที่อยู่ตามเขื่อนต่างๆ บ้านต้นไม้ เต็นท์แบบเป่าลม เป็นต้น
พร้อมกับกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ใช้อาคารลักษณะพิเศษดังกล่าวประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของโรงแรม ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย ระบบทางหนีไฟ ลักษณะภายในและภายนอกของอาคาร และการนำอาคารลักษณะพิเศษมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของอาคารและความปลอดภัย
ข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ระบุว่า ในปี 2563 จำนวนห้องพักในพื้นที่ 11 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนห้องพักทั้งหมดในประเทศไทย โดยกรุงเทพฯ มีห้องพักมากที่สุดจำนวน 165,870 ห้อง (สัดส่วน 21%) รองลงมา ได้แก่ ภูเก็ต 93,348 ห้อง (12%) ชลบุรี 71,748 ห้อง (8%) สุราษฎร์ธานี 41,067 ห้อง (5%) และเชียงใหม่ 38,741 ห้อง (5%) ซึ่งเชื่อว่าหากกฏหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบ SME สามารถมีใบอนุญาติที่พักโรงแรมได้อย่างถูกต้อง และมีการดูแลเกณฑ์มาตรฐานต่างๆให้ดีขึ้น