ปัญหาคอนโด แอชตัน อโศก เริ่มชัดเจนมากขึ้นหลังจากวันนี้กรุงเทพมหานครออกมาชี้แจงจึงถึงแนวทางปฏืบัติ ภายหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯและนายสุรัช ติระกุล ผอ.สํานักงานควบคุมอาคาร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงว่า ทางกทม.น้อมรับคำตัดสินของศาล และต้องปฏิบัติตามที่กฏหมายกฏหนดอยู่แล้ว นั่นคือ ทางกทม.จะส่งหนังสือเพิกถอนใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ให้กับสำนักงานเขตวัฒนาที่รับผิดชอบดูแลส่งแจ้งไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ตามกฏหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาตรา 41 คาดว่าจะดำเนินการในวันพรุ่งนี้ จากนั้นบริษัทอนันดา สามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างกลับเข้าใหม่ภายใน 30 วัน โดยบริษัทสามารถขยายเวลาได้เป็น 120 วัน
นายชัชชาติ ระบุว่า ต้องให้เวลาบริษัทปรับแก้ไขให้ทุกต้องตามมาตรา 41 ก่อน ยังไม่ขั้นต้องรื้อถอน(มาตรา42) ลูกบ้านยังอยู่อาศัยและใช้ทางเข้าออกได้ตามปกติ โดยแนวทางแก้ สามารถเปิดพื้นที่ทางออกของโครงการอย่างถูกต้องทางซอยสุขุมวิท 19 ซึ่งมีขนาดถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด และกทม.เตรียมเข้าวัดระยะพื้นที่ซอยสุขุมวิท 19 อีกครั้งเพื่อความถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีฝั่งทางออกฝั่งสุขุมวิท 21 ที่เชื่อมกับถนนอโศก ก็มีความกว้างที่เพียงพอตามข้อกฎหมายของกทม.เช่นกัน
ผู้ว่า กทม.ยืนยัน กทม.ได้ออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก อย่างถูกต้องตามระเบียบ และ ทางอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก มีรายละเอียดการก่อสร้างมาอย่างถูกต้องตามเงื่อน
ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆในการแก้ไข กทม.คงไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม กทม.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน และยืนยันว่า คอนโดที่มีอยู่ในกทม.ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาแบบกรณีแอชตัน อโศก ซึ่งจากนี้จะต้องนํากรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในอนาคตรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซํ้ารอยแบบนี้ขึ้นอีก
ด้าน บริษัท อนันดา ออกแถลงการณ์ ชี้แจงแนวทางในการแก้ปัญหาโครงการแอชตัน อโศก เพิ่มเติมหลังคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด มีใจความดังนี้
สืบเนื่องจากเหตุการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โครงการแอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นั้น บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้ออกแถลงการณ์แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับท่านเจ้าของร่วม และชี้แจงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้
1.1 ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม
1.2 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี
1.3 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคมไปยังคณะรัฐมนตรี
1.4 ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้
1.5 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ ได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม ดังนี้
2.1 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
2.2 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อได้รับความคืบหน้าประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว
3.1 การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข
ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่า บริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่า โครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม. ออกให้บริษัทฯ หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว
นอกจากนี้ในใบอนุญาตอื่นที่ กทม. ออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฏอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม. ต่อไป
3.2 เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์และรับทราบสถานะคดี
บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับตั้งแต่ที่ลูกค้าได้ซื้อ-ขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้
- ในช่วงแรกที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ ได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ
(1) การยกเลิกสัญญาและคืนเงิน
(2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้
(3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด
โดยสำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขอบคุณพร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย ย้ายโครงการ 4 ราย และอยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)
- ในเวลาต่อมา บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่
- สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดีตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
ดังนั้นลูกค้าของโครงการแอชตัน อโศก จึงรับทราบสถานะของคดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า บริษัทฯ จะร่วมเคียงข้างเจ้าของร่วมทุกท่าน และกำลังเร่งดำเนินการแสวงหาทางออกอย่างสุดความสามารถ โดยจะแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว