ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดทั่วโลคลี่คลายลงโดย AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจ 2 กล่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail, Wholesale and Commercial) ผลประกอบการไตรมาส 3 /2566 และ 9 เดือนของปีนี้ออกมาสดใส
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 ตามงบการเงินรวมมูลค่ายุติธรรม มีรายได้รวมกว่า 4,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ 1,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งแม้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสามารถผลักดันศักยภาพของทรัพย์สิน Ramp Up สู่ระดับดำเนินงานปกติ มูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนกระแสเงินสดสูงถึงร้อยละ 10.2 (EBITDA Yield)
ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีทรัพย์สินดำเนินงานที่สามารถสร้างรายได้อยู่ที่กว่าร้อยละ 85 รวมมูลค่า 125,758 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 โดยสะท้อนศักยภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์ GROWTH-LED Strategy โดยสามารถเปิดตัวโรงแรมและห้องอาหารหลากหลายแห่งในไตรมาส 3 รวมมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกตามงบการเงินของปี 2566 AWC มีการเติบโตต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) ที่ 7,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมอื่นๆ นอกกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ใน 9 เดือนแรกของปี สูงถึง 3,619 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail, Wholesale and Commercial) AWC ได้ปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับโครงการในพอร์ตโฟลิโออย่างต่อเนื่องพร้อมตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันเพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตของกระแสเงินสดในระยะยาว”
กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ กำไรเพิ่ใขึ้น 40.9%
ในไตรมาส 3/2566 ผลการดำเนินงานตามงบการเงินของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) อยู่ที่ 692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการเปรียบเทียบราคาห้องพักและอัตราการเข้าพัก (Revenue Generation Index หรือ RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โรงแรม Courtyard by Marriott Phuket Town มีค่า RGI เท่ากับ 254 และโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse เท่ากับ 218 เป็นต้น นอกจากนี้ AWC ยังมุ่งเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอกลุ่มโรงแรมที่ตั้งอยู่ในทําเลยุทธศาสตร์ เสริมศักยภาพด้วยการพัฒนาโครงการคุณภาพในพอร์ตโฟลิโอ พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก เพื่อสนับสนุนการเติบโตของทรัพย์สินดำเนินงานในการสร้างกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) อย่างต่อเนื่อง
AWC มุ่งพัฒนาทรัพย์สินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดตัวโรงแรมและห้องอาหารชั้นนำระดับโลกมากมาย เพื่อรองรับความต้องการของตลาด พร้อมมอบประสบการณ์การท่องเที่ยว การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มที่พิเศษให้กับลูกค้า ส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก โดยในไตรมาสที่ 3 นี้ AWC มีจำนวนห้องพักรวม 6,034 ห้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เทียบกับก่อนโควิด-19 ในปี 2562
จากการเปิดดำเนินงานหลายโครงการ อาทิ การเปิดโรงแรม INNSiDE by Meliá Bangkok Sukhumvit โรงแรม InterContinental Chiang Mai The Mae Ping ซึ่งเป็นโรงแรมระดับลักซ์ชัวรี่ภายใต้แบรนด์ InterContinental แห่งแรกของภาคเหนือ การเปิด Chiang Mai Marriott Hotel โรงแรมแบรนด์ Marriott แห่งแรกของภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังเปิดห้องอาหารใหม่ด้วยคอนเซ็ปที่มีเอกลักษณ์ ดึงดูดลูกค้าหลากหลายไลฟ์สไตล์ อาทิ การเปิดห้องอาหารจีน Yue Restaurant and Bar ที่โรงแรม Courtyard by Marriott Phuket Town และห้องอาหารญี่ปุ่นรวม 4 ร้านต้นตำรับระดับพรีเมี่ยม Kissuisen ที่โรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนโรงแรมของ AWC ที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 22 โรงแรม
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สร้างกระแสเงินสดต่อเนื่อง
สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการค้าปลีก (Retail) ในไตรมาส 3/2566 มีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) ตามงบการเงินอยู่ที่ 963 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงพัฒนาศูนย์การค้าให้เข้ากับกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์การค้าเพื่อการท่องเที่ยว อาทิ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ที่ได้ปรับกลยุทธ์การตลาดสู่การเป็นรีเทล-เทนเม้นท์ริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุด
กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน (Commercial) ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/2566 มีอัตราค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกลยุทธ์การยกระดับอาคารสำนักงานให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับองค์กรและคนทำงานรุ่นใหม่ทั่วโลก (Global Workforce Destination) อาทิ การเปิดตัว “Co-Living Collective: Empower Future” ของอาคาร ‘เอ็มไพร์’ ไลฟ์สไตล์สเปซแห่งใหม่ที่รองรับเทรนด์อนาคตในการผสมผสานการทำงานและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน รวมถึงการได้ต้อนรับ 2C2P บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลก เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่อาคาร ‘เอ็มไพร์’ พร้อมร่วมขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคซิสเต็มในอาคาร เชื่อมต่อผู้เช่าและพนักงานของบริษัทชั้นนำเข้าด้วยกัน ตอกย้ำอาคารสำนักงานรูปแบบใหม่ที่ผสานการทำงานและไลฟ์สไตล์อย่างลงตัวที่แท้จริง
โดยล่าสุด AWC ได้คะแนนการประเมินด้าน ESG ประจำปี 2566 ในระดับสูงอยู่ที่ 77 คะแนนจาก S&P Global ESG และ ได้รับการจัดอันดับ SET ESG Rating ‘A’ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย AWC เป็นหนึ่งใน 193 บริษัทฯ ทั้งหมดที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับการประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ในกลุ่มของอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
นอกจากนี้ในไตรมาสที่ผ่านมา กลุ่มโรงแรมและศูนย์การค้าในเครือ AWC กว่า 18 แห่งได้รับประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” หรือ STAR (Sustainable Tourism Acceleration Rating) จากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี
นอกจากนี้ AWC ได้แสดงความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์กรอบการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 3BETTERs ผ่านการเปิดตัวโครงการ “AWC Stay to Sustain” ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในป่าชุมชน เพิ่มความหลากลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ควบคู่การสร้างรายได้ในชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว พร้อมสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก