ธุรกิจการตลาด

กาแฟพันธุ์ไทย รุก CLMV เปิดตัว “ปันคาเฟ่” แห่งแรกใน สปป.ลาว

28 ก.พ. 67
กาแฟพันธุ์ไทย รุก CLMV เปิดตัว “ปันคาเฟ่” แห่งแรกใน สปป.ลาว

บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เดินหน้าขยายสาขาในต่างประเทศ รุกตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) โดยผนึกกำลังกับ บริษัท มัลติเพล็กซ์ จำกัด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้ได้รับสิทธิ์บริหารร้านกาแฟแบรนด์ “ปันคาเฟ่” ภายใต้การบริหารของ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เริ่มปูพรมเปิดสาขาแรกบนทำเลศักยภาพภายในสถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์ ขบวนรถไฟโดยสารข้ามประเทศระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งเป้าขยายไปยังเมืองอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 5 สาขา ภายในปี 2567 นี้

“ปันคาเฟ่” แห่งแรกของ สปป. ลาว เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.30 – 16.00 น.มีเมนูหลากหลายทั้งกาแฟและเครื่องดื่ม ร้อน เย็น ปั่น มีเมนูไฮไลท์คือ เมนูตาลโตนด และ ส้มมะปี๊ด ตอบโจทย์ทั้งสายกาแฟและคนรักชา รวมไปถึงเมนูอาหารทั้งแซนวิช วาฟเฟิล และพาย โจ๊กหมู โจ๊กไก่ และข้าวพร้อมทาน อาทิ ข้าวกะเพราไก่ ข้าวผัดแฮม ฯลฯ รวมถึงยังมีของพรีเมียมต่างๆ ที่สามารถซื้อเป็นของฝากได้  โดยทัการใช้ทั้งภาษาลาว ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า  คาดว่า ในอนาคตยังขยายการให้บริการจัดอาหารว่างหรือสแน็คบ๊อกซ์ให้กับหน่วยงานราชการและลูกค้าที่ต้องการจัดเลี้ยง จัดประชุม รวมถึงบริการงานออกบูธนอกสถานที่อีกด้วย

กาแฟพันธุ์ไทย เปิดตัว ปันคาเฟ่

เชื่อมั่นในเศรษฐกิจสปป.ลาว ฟื้นตัวได้ดี 

คุณสุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า “กาแฟพันธุ์ไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการขยายสาขาทั่วประเทศไทย ในปัจจุบันพันธุ์ไทย มีจำนวนกว่า 900 สาขา การเปิดประตูสู่ตลาดอาเซียน โดยปักหมุดที่ สปป.ลาว เป็นประเทศแรกนี้ ด้วยเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้การติดต่อสื่อสารและการเดินทางขนส่งเป็นไปได้ง่าย 

คุณสุขวสา  มองว่า สปป.ลาว ยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาวจากหลากหลายปัจจัย ทั้งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว – จีน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน - อินโดจีน ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลของ สปป. ลาวได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 4.5% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 4.2% ในปี 2566 กาแฟพันธุ์ไทยจึงเชื่อมั่นว่า จะสามารถขยายกลุ่มตลาดลูกค้าใหม่ๆ และสร้างยอดขายให้เติบโต พร้อมผลักดันให้แบรนด์กาแฟไทยก้าวไปไกลขึ้นอีกขั้น

กาแฟพันธุ์ไทย เปิดตัว ปันคาเฟ่

ด้านคุณอิงคลดา ไชเจริญทรัพย์ กรรมการ บริษัท มัลติเพล็กซ์ จำกัด (สปป.ลาว) ผู้ได้รับสิทธิ์บริหารร้านกาแฟแบรนด์ ปันคาเฟ่ กล่าวว่า “ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มองหาแบรนด์ต่างประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทั้งด้านคุณภาพ ความนิยม และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อนำมาบุกเบิกเปิดตลาดใน สปป. ลาว ซึ่งกาแฟพันธุ์ไทยตอบโจทย์ทั้งด้านรสชาติที่อร่อย ถูกปากลูกค้ากลุ่มประเทศ CLMV ราคาเป็นมิตรจับต้องได้ และระบบการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทำการตลาด แนะนำกลยุทธ์ต่างๆ เรียกได้ว่ามาแบบสำเร็จรูปพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้าอย่างสะดวกสบาย”

“สำหรับการตัดสินใจเลือกโลเคชันนี้ในการเปิดสาขาเป็นแห่งแรก เนื่องจากมองเห็นโอกาสและศักยภาพของทำเลที่มีความพร้อม ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่าจีนและลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว ถึงนครคุนหมิงของจีน ในเดือนธันวาคม 2564 – ธันวาคม 2566 มีการขนส่งผู้โดยสารมากถึง 24.2 ล้านคน และมีปริมาณการขนส่งสินค้ามากถึง 29.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน 6 ล้านตัน ดังนั้นการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างจีน ลาว และไทย จึงเป็นแรงสนับสนุนในการขยายโอกาสทางการค้า การบริการ และการลงทุน กระจายตัวภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ปันคาเฟ่ จึงเชื่อมั่นว่าทำเลดังกล่าวมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ประกอบกับชื่อเสียงของแบรนด์ที่ดีและคุณภาพของสินค้าที่เป็นที่นิยม จะสามารถผลักดันยอดขายและสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในอนาคต” คุณอิงคลดา กล่าวเสริม

กาแฟพันธุ์ไทย เปิดตัว ปันคาเฟ่

“จากวิสัยทัศน์ขององค์กรที่อยากให้ทุกภาคส่วน ‘อยู่ดี มีสุข’ มุ่งเน้นการสนับสนุนชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ คืนกำไรกลับสู่สังคม พันธุ์ไทยและปันคาเฟ่ จึงส่งเสริมรายได้ให้แก่พนักงานที่มีภูมิลำเนาในประเทศ มีเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว 100% ประกอบกับชุดแต่งกายของพนักงานที่สวมใส่ผ้าซิ่นทอมือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนชาวลาวที่สืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย” คุณสุขวสา กล่าวทิ้งท้าย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT